“ความดันโลหิตต่ำ” ดีกว่า “ความดันโลหิตสูง” จริงหรือ?
-
ค่าความดันโลหิตที่สูงกว่า 180/110 มิลลิเมตรปรอท เป็นสัญญาณของความเสียหายของอวัยวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ปวดหลัง ชา/อ่อนแรง การมองเห็นเปลี่ยนไปหรือพูดลำบาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หากปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่ในระดับเดิมนานๆ มีโอกาสเป็นโรคหัวใจตีบตันเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า และโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน 7 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่มีค่าความดันปกติ
-
ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนท่า Orthostatic Hypotension อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและเป็นลม เนื่องจากสมองได้รับเลือดไม่เพียงพอ และบ่งบอกถึงปัญหาและอาการร้ายแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้
ผู้ที่มีค่า “ความดันโลหิตต่ำ” มักจะคิดว่ามีสุขภาพดี ไม่มีปัญหา แต่ในความจริงแล้วทั้งความดันโลหิตสูงและความดันโลหิตต่ำ ต่างมีความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน ที่สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่อันตรายได้ในที่สุด
ความดันโลหิตคืออะไร
พญ. กานต์ชนา อัศวธิตานนท์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุว่า ความดันโลหิต คือ ค่าความดันของกระแสเลือดที่ส่งแรงกระทบกับผนังหลอดเลือดแดง เกิดจากกระบวนการของหัวใจในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย โดยความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากค่าความดันโลหิต คือ ความดันโลหิตสูง และความดันโลหิตต่ำ ค่าความดันโลหิต เป็นหน่วยมิลลิเมตรปรอท (mmHg) โดยวัดได้ 2 ค่า ได้แก่
- ความดันโลหิตค่าบน คือ แรงดันโลหิตที่เกิดจากการบีบตัวของหัวใจเต็มที่
- ความดันโลหิตค่าล่าง คือ แรงดันโลหิตที่เกิดจากการคลายตัวของหัวใจ
การเตรียมตัวเพื่อวัดความดันโลหิต
- ก่อนวัดความดันโลหิต 30 นาที ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือออกกำลังกายอย่างหนัก รวมถึงไม่อยู่ในภาวะโกรธ วิตกกังวล หรือเครียด
- ควรนั่งพักก่อนทำการตรวจวัดความดันประมาณ 5-15 นาที นั่งหลังพิงพนักเก้าอี้ เท้า 2 ข้าง วางราบกับพื้น ห้ามนั่งไขว่ห้าง
- ไม่ควรพูดคุย ขณะที่กำลังวัดความดัน
- วัดความดันโลหิต วันละ 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้าและช่วงเย็น โดยแต่ละช่วงเวลาให้วัดอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 นาที ควรวัดติดต่อกัน 7 วัน หรืออย่างน้อย 3 วัน
ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
ค่าปกติของความดันโลหิต โดยเฉลี่ยคือประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท โดยวัดจากการบีบตัวและคลายตัวของหัวใจ ความดันโลหิตสูง หมายถึง ภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันในหลอดเลือดที่สูงขึ้น โดยหากวัดได้ค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไปถือว่ามีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตาม ความดันโลหิตมีความแตกต่างกันในแต่ละในช่วงวัย
ปัจจุบัน ค่าความดันโลหิตที่ยอมรับได้ในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ควรตํ่ากว่า 150/90 มิลลิเมตรปรอท ขณะที่อายุน้อยกว่า 60 ปี หรือผู้ป่วยเบาหวาน และผู้มีภาวะไตเสื่อม ค่าความดันโลหิต ควรตํ่ากว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท
การเทียบค่าความดันโลหิต ดังนี้
ระดับความดันโลหิต |
ค่าความดันโลหิตตัวบน |
และ / หรือ |
ความดันโลหิตตัวล่าง |
ความดันโลหิตที่ดี |
ต่ำกว่า 120 |
และ |
ต่ำกว่า 80 |
ความดันโลหิตปกติ |
120 – 129 |
และ / หรือ |
80 - 84 |
ความดันโลหิตค่อนข้างสูง |
130 – 139 |
และ / หรือ |
85 – 89 |
ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย |
140 – 159 |
และ / หรือ |
90 – 99 |
ความดันโลหิตสูงปานกลาง |
160 – 179 |
และ / หรือ |
100 – 109 |
ความดันโลหิตสูงมาก |
ตั้งแต่ 180 ขึ้นไป |
และ / หรือ |
ตั้งแต่ 110 ขึ้นไป |
ทั้งนี้ ค่าความดันโลหิตสูงอาจไม่ได้หมายถึงการเป็นความดันโลหิตสูงเสมอไป เพราะสามารถเกิดได้จากปัจจัยอื่น ๆ เช่น มีความเครียด ความตื่นเต้น หรือการดื่มชา/กาแฟ เป็นต้น
สาเหตุของความดันโลหิตสูง
พบว่าผู้มีอาการความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการและตรวจไม่พบสาเหตุ แต่หากมีการตรวจพบมักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องอาจนำไปสู่ความพิการหรืออันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้แล้ว ยังเกิดจากพฤติกรรมหรือปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- อายุ - ความเสี่ยงของความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
- เพศ - ความดันโลหิตสูงพบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่า ทั้งนี้ ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงหลังอายุ 65 ปี
- พันธุกรรม
- การรับประทานอาหารรสเค็มจัด
- การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
- ขาดออกกำลังกาย
อาการของผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติ แม้ว่าค่าความดันโลหิตที่อ่านได้จะสูงถึงระดับที่อันตรายก็ตาม บางกรณีอาจพบอาการเวียนศีรษะ ตึงต้นคอ ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงเช้าหลังตื่นนอน นอกจากนี้อาจพบอาการใจสั่น อ่อนเพลีย ตาพร่ามัว หรือมีเลือดกำเดาไหล แต่อาการเหล่านี้มักไม่เกิดขึ้นจนกว่าความดันโลหิตสูงจะถึงขั้นรุนแรงหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นความดันโลหิตสูง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด โดยเฉพาะรสเค็ม เช่น อาหารสำเร็จรูป และอาหารหมักดอง
- งดการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายเป็นประจำ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ทำจิตใจให้แจ่มใส ลดความวิตกกังวลและความเครียดลง
- ปรึกษาแพทย์เรื่องการรับประทานยา และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ความดันสูง เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
โดยปกติแล้ว หากวัดค่าความดันโลหิตได้ 130-139/85-89 มิลลิเมตรปรอท ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจประเมินความผิดปกติที่เกิดขึ้นต่ออวัยวะภายในร่างกายจากโรคความดันโลหิตสูง และตรวจความเสี่ยงโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เพื่อให้แพทย์พิจารณาควบคุมความดันโลหิตสูงด้วยวิธีต่างๆ เช่น การปรับพฤติกรรม หรือการรับประทานยา และมักต้องนัดหมายแพทย์เป็นประจำ เพื่อปรึกษาแพทย์และอ่านค่าความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
หากมีความดันโลหิตสูง แต่ปล่อยทิ้งไว้ให้ความดันโลหิตสูงอยู่ในระดับเดิมนานๆ อาจทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสื่อมสภาพ และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น มีโอกาสเป็นโรคหัวใจตีบตัน 3-4 เท่า และโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน 7 เท่าของผู้ที่มีความดันปกติ
วิกฤตความดันโลหิตสูง คือ ค่าความดันโลหิตที่วัดได้นั้นสูงกว่า 180/110 มิลลิเมตรปรอท เมื่อวัดความดันโลหิตแล้วได้ค่านี้ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวัดความดันอย่างถูกต้องและรับการรักษา เนื่องจากภาวะนี้เป็นสัญญาณของความเสียหายของอวัยวะภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ปวดหลัง ชา/อ่อนแรง การมองเห็นเปลี่ยนไปหรือพูดลำบาก
ทั้งนี้ แม้ความดันโลหิตสูงจะพบได้บ่อยในผู้ใหญ่ แต่ในเด็กก็มีความเสี่ยงเช่นกัน สำหรับเด็กบางกลุ่ม ภาวะความดันโลหิตสูงเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับไตหรือหัวใจ แต่ก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดี เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และขาดการออกกำลังกาย
ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
โดยทั่วไปในทางการแพทย์ ความดันโลหิตของผู้ใหญ่ที่ต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท (MmHg) และความดันโลหิตของผู้สูงอายุที่ต่ำกว่า 100/70 มิลลิเมตรปรอท (MmHg) จะถูกจัดว่าเข้าข่ายความดันโลหิตต่ำ หากมีค่าความดันโลหิตต่ำอย่างสม่ำเสมอ แต่รู้สึกสบายดี แพทย์อาจตรวจติดตามผลในระหว่างการตรวจประจำปีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความดันโลหิตต่ำอาจดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ ไม่ถือเป็นปัญหาสุขภาพ แต่สำหรับคนจำนวนมาก ภาวะความดันโลหิตต่ำอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและเป็นลมได้ และกรณีที่รุนแรง ความดันโลหิตต่ำอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ด้วย
สาเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำ
สาเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำนั้น มีได้ตั้งแต่ภาวะขาดน้ำ จนถึงความผิดปกติทางการแพทย์ที่ร้ายแรง สิ่งสำคัญคือ ต้องค้นหาว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ เพื่อให้การรักษาอย่างถูกต้องแต่เนิ่นๆ
- ความดันโลหิตลดลงเมื่อยืนหรือหลังรับประทานอาหาร
- การตั้งครรภ์ เนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิตขยายตัวอย่างรวดเร็วในระหว่างตั้งครรภ์ ความดันโลหิตจึงมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม ความดันโลหิตจะกลับสู่ระดับก่อนตั้งครรภ์หลังจากคลอด
- โรคในหัวใจ เช่น โรคทางลิ้นหัวใจ หัวใจวาย และภาวะหัวใจล้มเหลว
- ผลกระทบจากโรคอื่นๆ เช่น ปัญหาต่อมไร้ท่อ โรคพาราไทรอยด์ ภาวะต่อมหมวกไตไม่เพียงพอ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากโรคเบาหวาน
- ภาวะขาดน้ำ อาจทำให้เกิดอาการอ่อนแรง วิงเวียนศีรษะ และเหนื่อยล้า
- เสียเลือดมาก การสูญเสียเลือดจำนวนมาก เช่น จากการบาดเจ็บสาหัสหรือเลือดออกภายในร่างกาย ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงอย่างรุนแรง
- การติดเชื้อรุนแรง
- การขาดสารอาหาร ได้แก่ วิตามิน B-12 โฟเลตและธาตุเหล็ก อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง ได้เพียงพอ
การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาสำหรับโรคพาร์กินสัน และยากล่อมประสาทบางชนิด
อาการความดันต่ำ
สำหรับบางคน ความดันโลหิตต่ำเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความดันโลหิตลดลงอย่างกะทันหัน หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น
- วิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืดเป็นลม
- ตาพร่ามัว
- คลื่นไส้
- อ่อนเพลีย
- ขาดสมาธิ
- ช็อก
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นความดันโลหิตต่ำ
- เพิ่มสารอาหาร และรับประทานอาหารมื้อเล็กๆ ที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการนอนดึก และเวลานอนไม่ควรนอนหนุนหมอนที่ต่ำเกินไป
- ไม่ควรยืนนานๆ หรือเปลี่ยนอิริยาบทอย่างรวดเร็วเกินไป
- ใช้ยาอย่างระมัดระวัง โดยแจ้งให้แพทย์ทราบถึงปัญหาความดันโลหิตต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลง
ความดันต่ำ เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
แม้บางคนมองว่าอาการวิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืดเป็นครั้งคราวอาจเป็นปัญหาเล็กน้อย เช่น เป็นผลมาจากภาวะขาดน้ำเล็กน้อย หรือน้ำในอ่างอาบน้ำร้อนเกินไป แต่จะเห็นได้ว่าอาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ร่างกายอาจกำลังบอกอะไรกับเราก็ได้ ดังนั้น จึงไม่ควรชะล่าใจ แต่ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ทั้งนี้ หากมีอาการวิงเวียนหรือหน้ามืดเวลาลุกขึ้นยืน ควรวัดความดันในท่ายืนด้วย โดยเริ่มต้นวัดความดันในท่านอนก่อน หลังจากนั้นลุกขึ้นยืน วัดความดันภายในเวลา 1 และ 3 นาทีหลังจากลุกขึ้นยืน หากความดันโลหิตตัวบนในท่ายืนต่ำกว่าท่านอน ≥ 20 mmHg แสดงถึงภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนท่า (Orthostatic Hypotension) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและเป็นลมได้ เนื่องจากสมองไม่ได้รับเลือดเพียงพอ และบ่งบอกถึงปัญหาและอาการที่ร้ายแรงอาจถึงแก่ชีวิตที่ตามมาได้ ได้แก่
- เกิดความสับสนโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
- ตัวซีด เย็น
- หายใจเร็วและตื้น
- ชีพจรเต้นอ่อน หรือเต้นเร็วผิดปกติ
- มีอาการช็อก
เราต่างทราบกันว่าโรคความดันโลหิตสูงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ใส่ใจและให้ความสำคัญกับภาวะความดันโลหิตสูง แต่ภัยของโรคความดันโลหิตต่ำกลับถูกมองว่าไม่มีปัญหา ด้วยเหตุนี้ จึงมักจะพบผู้ที่มีอาการวิงเวียนหน้ามืด อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น แม้แต่ความดันโลหิตต่ำในระดับปานกลางก็สามารถทำให้วิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง หน้ามืด และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการหกล้ม รวมถึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
ความดันโลหิตเป็นภาวะที่สามารถเป็นได้กับทุกเพศทุกวัย ดังนั้น ควรหมั่นวัดระดับความดันโลหิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และใส่ใจกับการเปลี่ยนแปลงของระดับความดันโลหิตในร่างกาย แต่หากเกิดอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.