ทำไมนะ? ยิ่งโตขึ้น เพื่อนของเรายิ่งเหลือน้อยลง

ในวันที่คุณเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ คุณเคยสังเกตบ้างหรือไม่ว่า “เพื่อน” ที่เคยอยู่รายล้อมรอบตัวคุณนั้นค่อย ๆ หายไปทีละคนสองคน ทั้งเพื่อนที่คุณรู้สึกสนิทสนมด้วยมาก ๆ และเพื่อนที่อาจแค่เคยทำกิจกรรมบางอย่างด้วยกันมา ติดต่อกันในช่วงเวลาหนึ่งก่อนจะค่อย ๆ ห่างกันไป เมื่อลองมานึก ๆ ดู คุณจะเห็นว่ามีใครหลายคนที่หายไปจากชีวิตของคุณโดยที่คุณก็นึกไม่ออกว่าตั้งแต่เมื่อไร และเพราะอะไร ระหว่างคุณกับเขาถึงไม่สานสัมพันธ์กันต่อ มารู้ตัวอีกทีก็คือวันที่คุณรู้ตัวเองว่าเพื่อนที่คุณยังคบหาและติดต่ออยู่ด้วยนั้นเหลือแค่ไม่กี่คน ทั้งที่เมื่อก่อนเพื่อนล้อมหน้าล้อมหลัง

จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องแปลกหรอก การที่เราโตเป็นผู้ใหญ่แล้วเพื่อนเราจะค่อย ๆ ลดน้อยถอยลงไป และก็ไม่ใช่คุณเพียงคนเดียวด้วยที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ “เหลือเพื่อนน้อยลง” ในต่างประเทศ มีงานวิจัยมากมายที่พยายามศึกษาถึงเรื่องที่จำนวนเพื่อนของเราแปรผกผันกับช่วงอายุที่เพิ่มขึ้นของเรา อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าหลาย ๆ คนก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์ร้อนอะไรกับการที่เพื่อนหลายคนหายไปจากชีวิตจนเหลืออยู่เพียงหยิบมือ ทั้งที่ในสมัยเด็กเราเป็นคนที่หวาดกลัวการไม่มีเพื่อน ไม่ชอบการถูกเพื่อนแบน เพื่อนไม่ยอมรับ หรือเคยร้องไห้เพราะทะเลาะกับเพื่อน ทว่าทุกวันนี้เรากลับแคร์เรื่องนั้นน้อยลงทุกที เราไม่เป็นอะไรเลยกับการเหลือเพื่อนน้อยลง นอกจากสงสัยเท่านั้นว่า “ทำไม”

นอกจากเรื่องของเพื่อนดีเพื่อนไม่ดี ที่มิตรภาพนั้นเปิดโอกาสให้เราเลือกเพื่อนได้ และสามารถเลือกยุติมิตรภาพกับใครก็ได้แล้วนั้น มีเพื่อนดี ๆ หลายคนหายไปทั้งที่เราไม่ได้ทะเลาะกัน เพียงแต่ขาดการติดต่อไปจนสืบหาไม่เจอมากกว่า เพราะคนหลายคนไม่เล่นโซเชียลมีเดีย ก็ยิ่งตามหาตัวยากขึ้นไปอีก สิ่งนี้ทำให้เราได้รู้ว่ายิ่งโตขึ้น เรายิ่งต้องใช้ความพยายามในการรักษาความสัมพันธ์มากขึ้นตามไปด้วย เพราะเราไม่ได้มีโอกาสมากมายที่จะได้พบกับเพื่อนในทุกวันเหมือนเมื่อก่อน การที่ไม่ได้รักษามิตรภาพทำให้เราเหลือเพื่อนน้อยลงทุกที และยังพบว่ามันเป็นเรื่องยากด้วยในการพยายามรักษาสายสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม มีข้อเท็จจริงอีกข้อที่เราได้ค้นพบนอกเหนือจากการที่เพื่อนหายไป ก็คือเพื่อนที่ยังเหลืออยู่นี้ แม้ว่าจะเหลือน้อยมาก แต่เราสัมผัสได้ว่ามิตรภาพที่แท้จริงมันไม่มีวันตาย ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกันจะไม่ค่อยมี แต่มิตรภาพที่แท้จริงกลับเชื่อมโยงความสัมพันธ์กันด้วยประสบการณ์และเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของกันและกันที่มันจะยังคงอยู่ตลอดไป นั่นต่อให้เราจะขาดการติดต่อกับเพื่อนคนนั้นไปหลายปี แต่เพื่อนแท้จะวนกลับมาหาเราได้อีกครั้ง และสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวในช่วงที่ห่างหายกันไปได้อย่างรวดเร็ว

เราเห็นคุณค่าของคุณภาพมากกว่าปริมาณ

“เพื่อนดีมีหนึ่งถึงจะน้อย ดีกว่าร้อยเพื่อนคิดริษยา” คำสอนโบร่ำโบราณเรื่องเพื่อนที่เราอาจได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก ทว่ากลับเพิ่งเข้าใจความหมายอย่างลึกซึ้งเอาตอนที่โตเป็นผู้ใหญ่นี่แหละว่าคุณภาพมันสำคัญกว่าปริมาณยังไง เมื่อก่อนเราอาจจะภูมิใจที่ตัวเองมีเพื่อนเยอะ รู้จักคนนั้นคนนี้ไปทั่ว แต่พอโตมาทัศนคติต่าง ๆ เราเริ่มเปลี่ยน ใครหลายคนเริ่มเข้าใจว่าตัวเองจะมีเพื่อนแท้เหลือแค่เพียงคนเดียวก็ได้ แต่คนคนนั้นต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจที่มีเขาเป็นเพื่อน ความรู้สึกของเราจะบอกกับเราเองว่าเพื่อนคนไหนที่เราจะไม่มีวันยอมเสียเขาไป ซึ่งมันจะเหลือไม่กี่คนแล้วล่ะที่เราสนิทใจจะเรียกว่า “เพื่อน” และเราจะปล่อยให้คนอื่น ๆ ค่อย ๆ หายไปจากชีวิตโดยไม่รั้งอะไรทั้งสิ้น

ตอนเด็ก ๆ หรือตอนวัยรุ่น เรากำลังเข้าสังคม เราต้องการการยอมรับ เราจึงพยายามสะสมเพื่อน ไม่ว่าจะไปไหน ทำอะไร ก็จะมีเพื่อนอยู่รายล้อมรอบตัว รู้จักใครก็เรียกเพื่อนได้หมด เพื่อนแก๊งเดียวกันยังคุยทับกันเลยว่านอกเหนือจากที่คบกันอยู่ในแก๊งนี้ ใครมีเพื่อนแก๊งอื่นอีกบ้าง เยอะแค่ไหน เหมือนว่าเราพยายามทำความรู้จักคนมากมายเพื่อที่จะเรียกว่าพวกเขาว่า “เพื่อน” ปริมาณของเพื่อนทำให้เรารู้สึกอุ่นใจ ยิ่งมีเพื่อนเยอะ ยิ่งแปลว่าเรามีคนที่เราหวังพึ่งได้มาก แต่เรามักจะมารู้เอาตอนโตว่าคิดผิดถนัด เพราะเพื่อนเพียงคนเดียวที่รัก หวังดี และต่างก็พึ่งพากันด้วยความสบายใจต่างหากที่เพียงพอจะทำให้เราอุ่นใจได้ สักวันหนึ่ง ความรู้สึกลึก ๆ จะบอกกับเราเอง ว่าเราเป็นเพื่อนกับทุกคนไม่ได้

กระบวนการธรรมชาติคัดสรร

“เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก” อีกคำสอนเรื่องเพื่อนที่ได้ยินมาตั้งแต่สมัยละอ่อน จริง ๆ เราอาจไม่ต้องรอให้ตัวเองเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายเพื่อพิสูจน์ว่าใครเป็นเพื่อนกิน ใครเป็นเพื่อนตายก็ได้นะ เพราะสุดท้ายแล้วคนที่เขาไม่ใช่เพื่อนของเราจริง ๆ เขาก็จะจากไปโดยธรรมชาติเอง แบบเดียวกันกับคำที่ว่าอะไรที่ไม่ใช่ของเรา ยังไงมันก็ไม่ใช่ของเรา ฝืนแค่ไหนก็ไม่ใช่ของเรา! ในจำนวนคนมากมายที่อยู่รอบตัว เราสามารถที่จะทักทายและพูดคุยเพื่อสร้างมิตรภาพกับใครก็ได้ สักพักจะบอกว่านี่คือเพื่อนมันก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจะรู้ว่าการจะคบใครสักคนเป็นเพื่อนแบบเพื่อนจริง ๆ มันไม่ง่าย เพราะเราทุกคนมีเกณฑ์คัดกรองและคุณสมบัติของเพื่อนตัวจริงกันทั้งนั้น

มันคือกระบวนการ “คัดกรอง” ถึงเราจะเป็นคน friendly แค่ไหน แต่เราไม่สามารถที่จะเข้าได้กับทุกคน หากรู้สึกถึงความไม่เข้ากัน ธรรมชาติจะเว้นระยะห่างในความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขาออกไปเรื่อย ๆ โดยอัตโนมัติ ต่างคนต่างไม่มีใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กันต่อ มันจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่อยู่ดี ๆ ก็มีคนหายไปจากชีวิตเราโดยที่เราไม่รู้ว่ามันเริ่มที่ตรงไหน ช่วงเวลาหนึ่งอาจเป็นเพื่อนกันอยู่ดี ๆ แต่หลังจากนั้นสถานะกลับถอยหลังเหลือแค่คนรู้จักหรืออาจจะลืมกันไปเลย ซึ่งกระบวนการนี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่าเรื่อง “ศีลเสมอกัน” ไม่ใช่เรื่องคนดีคนไม่ดีด้วย เราแค่ไม่คลิกที่จะเป็นเพื่อนกัน ศีลที่เสมอกันและเคมีที่เข้ากัน มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่เราอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้เหมือนกันว่าทำไม

ทุกคนต่างก็แยกย้ายกันไปมีชีวิตของตัวเอง

ช่วงวัยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราเหลือเพื่อนน้อยลง เพราะช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น (ส่วนใหญ่) ชีวิตมันมีอะไรไม่กี่อย่างที่ต้องรับผิดชอบ ไปโรงเรียน เรียนหนังสือ ทำการบ้าน ใช้ชีวิตให้สนุกสนาน เติบโตอย่างสมบูรณ์ แต่พอเราโตขึ้น เราจะค้นพบว่าเรามีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบมหาศาลถาโถมเข้าหาตัวเรา ตอนเรียนมีเสาร์อาทิตย์ มีปิดเทอม แต่วัยทำงานคือทำงานลากยาว วันหยุดก็มีอย่างอื่นต้องทำ ทั้งงานบ้านหรืองานเสริม หากใครเคยงอแงตอนเด็ก ๆ ว่าพ่อแม่ไม่เคยมีเวลาพาไปเที่ยว ก็จะได้รู้เองในตอนโตนี่แหละว่าการหาเวลาว่างมันไม่ง่าย การลางานเป็นเรื่องวุ่นวาย นั่นทำให้เราขาดการติดต่อกับเพื่อน ต่างคนต่างมีอะไรต้องทำ ทั้งเราและเพื่อนเลยไม่มีใครได้ติดต่อกัน จนห่างกันไป

การนัดเจอเพื่อนแล้วทริปล่มตลอด หากมองผิวเผินอาจเป็นเรื่องตลกในวงเหล้า แต่เบื้องหลังมันมีอะไรมากกว่านั้น บางคนเลือกที่จะเททริปเพื่อนเพราะเหนื่อยจนฝืนสังขารลุกไปตามนัดไม่ไหว นาน ๆ ทีจะมีเวลาก็ขอพักหน่อยเถอะ บางคนพ่อ/แม่ป่วย สามี/ภรรยาป่วย หรือลูกป่วยกะทันหัน บางคนอยู่ในช่วงพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง/ขึ้นเงินเดือน จึงยังไม่อยากลางาน เป็นต้น มันมีเหตุผลที่เราเลือกที่จะปฏิเสธคำชวนหรือเททริปเพื่อนกะทันหัน แต่เราแค่ไม่ได้บอกให้เพื่อนรู้ การที่เราต่างแยกย้ายกันไปมีชีวิตของตัวเอง ทำให้เรามีอะไรที่ต้องโฟกัสมากกว่าเพื่อนและความสนุกสนาน เพื่อนสำคัญ แต่เรื่องอื่นอาจสำคัญและเร่งด่วนกว่า ทำให้พื้นที่สบาย ๆ ของการเจอเพื่อนห่างเหินไปเรื่อย ๆ

ความหวือหวาในชีวิตมันลดลง

ด้วยช่วงวัยที่โตขึ้น ทำให้ความหวือหวาในชีวิตเรามันลดลง นอกจากเราจะหมดเวลาไปกับการโฟกัสชีวิตของตัวเองและครอบครัว มัวแต่ยุ่ง ๆ อยู่กับความรับผิดชอบมากมายในชีวิตจนเราไม่ค่อยจะมีพื้นที่ให้กับเพื่อนซักเท่าไรแล้ว เราอาจจะไม่ได้ต้องการความสนุกสนานหรือความตื่นเต้นแบบสมัยเด็ก ๆ หรือตอนเป็นวัยรุ่นอีกต่อไปแล้วด้วยก็ได้ เราจะให้ความสำคัญกับความหวือหวาน้อยลง แต่มองหาความเรียบง่าย ความธรรมดา และความสุขสงบมากกว่า กิจกรรมที่เราจะนัดเจอกับเพื่อนยิ่งจำกัดลงทุกที ต่างคนต่างมีเงื่อนไขว่าอันนั้นไม่ได้ อันนี้ไม่เอา ดังนั้น การจะได้ทำอะไรที่มันสนุกสนานกับเพื่อนจะยิ่งน้อยลงตามไปด้วย เป็นเหตุให้เราไม่ค่อยได้เจอกันบ่อย ๆ อย่างเมื่อวันวาน

ความหวือหวาของเรามันลดน้อยลงหรือยัง? เราสามารถลองสังเกตตัวเองดูได้ง่าย ๆ ว่าการที่เราได้รู้จักกับคนใหม่ ๆ ในสังคมต่าง ๆ เราเริ่มไม่ได้อยากที่จะผูกมิตรภาพกับใครไปซะหมดเหมือนตอนวัยรุ่น วัยที่ตื่นเต้นกับการมีเพื่อนเยอะ ๆ ได้รู้จักคนมาก ๆ แต่ติดต่อสื่อสารกันเพราะหน้าที่อะไรบางอย่าง เพื่อนร่วมงานที่เจอหน้ากันทุกวันมาหลายปีก็ไม่ได้สนิทใจพอจะให้เป็นเพื่อน ส่วนเพื่อนบางคนที่ยังเหลืออยู่ซึ่งก็อาจจะมีไม่มาก ก็อาจมีแชตหาไปคุยเล่น ยกหูถามไถ่สารทุกข์สุกดิบบ้าง เต็มที่ก็นัดเจอกันที่ร้านอาหารเพื่อกินข้าว พูดคุย และเจอหน้าเพื่อไม่ให้ลืมหน้ากัน การนัดกันออกไปเฮฮาสังสรรค์ หลายคนมองว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว

เราเริ่มไม่อดทนในสิ่งที่ไม่จำเป็น

ในช่วงหนึ่งเราอาจเคยเป็นเพื่อนกับคนคนหนึ่ง แต่ทุกวันนี้เราไม่ได้รู้สึกว่าเขาคนนั้นเป็นเพื่อนของเราอีกต่อไปแล้ว นอกจากกระบวนการธรรมชาติคัดสรร บางทีก็อาจเป็นตัวเราเองนี่แหละที่ค่อย ๆ คัดและตัดเพื่อนบางคนออกไปจากชีวิต เพื่อนที่เรารู้สึกว่าไม่อาจจะทนคบกันต่อไปได้อีกแล้ว เอือมเต็มทน สิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าใจก็คือ มิตรภาพมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้คงอยู่ตลอดไป สักวันมันก็ย่อมจืดจางลงได้เป็นธรรมดา คนสองคนที่เป็น “เพื่อน” สามารถเกิดปัญหาที่ไม่เข้าใจกันได้ ตกลงกันไม่ได้ คุยกันไม่รู้เรื่อง (หรืออาจไม่คุย) และสานสัมพันธ์กันต่อไม่ได้ ท้ายที่สุดก็อาจลงเอยด้วยการแยกทางกันเดิน เลิกคบกันไปก็ได้เหมือนกัน โดยที่เรารู้สึกเหนื่อยใจที่จะต้องไปต่อกับเพื่อนคนนี้

ความอดทนของเราเริ่มน้อยลง เราเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงจะต้องอดทนกับพฤติกรรมนี้ของเพื่อนคนนี้ต่อไปด้วย นับวันยิ่งกลายเป็นเพื่อนที่ toxic ขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้เราจึงเริ่มกลับมาทบทวนกับตัวเองว่าจะต้องทำอย่างไรกับเพื่อนคนนี้ดี หากไม่มีเขาในลิสต์เพื่อนอีกต่อไปเราจะเป็นอะไรไหม นัดเจอกันครั้งหน้าจะไม่มีเพื่อนคนนี้อีกแล้วนะ ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับสถานการณ์ที่ต่างคนต่างก็มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบ เราอาจจะเริ่มคิดว่าเพื่อนคนนี้ไม่ได้สำคัญกับชีวิตของเราอีกต่อไป เราเริ่มไม่แคร์ที่จะต้องอยู่คนเดียวโดดเดี่ยวแบบคนไม่มีเพื่อน เริ่มไม่อยากอดทนในสิ่งที่เกินความจำเป็น เรื่องอื่นก็วุ่นพออยู่แล้ว จึงเกิดปรากฏการณ์ “อยากอยู่ก็อยู่ อยากไปก็ไปแล้วกัน ไม่รั้ง ไม่ง้อ” กับเพื่อนบางคน

เราแข็งแกร่งพอที่จะอยู่คนเดียวและรักสันโดษ

เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนบางคนยังคงติดต่ออยู่กับเพื่อนฝูงก็เพราะรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวเป็นหลัก ทั้งที่ในความเป็นจริง เพื่อนที่ดีมีคุณค่ามากกว่านั้น แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ตราบใดที่ยังคบกันได้มันก็ไม่ใช่ปัญหา เพื่อนคือคนที่สามารถเยียวยาความเหงาและบรรเทาความโดดเดี่ยวได้ในทุกสถานการณ์ นั่นเป็นเหตุให้ในช่วงวัยหนึ่งที่เราอาจจะรู้สึกแบบนี้ได้บ่อยมาก เมื่อเพื่อนให้ความสำคัญกับเราไม่มากพอ บางทีอาจมีอาการหวงเพื่อนหรือน้อยอกน้อยใจเพื่อนด้วยซ้ำเวลาที่เห็นเพื่อนสนิทของเราไปทำความรู้จักกับคนอื่น และเห็นว่าพวกเขาดูเข้ากันได้ดี เรามีความกลัวที่จะเสียเพื่อนคนนี้ไป อาจดูเหมือนว่าเราพึ่งพิงและพึ่งพาเพื่อนมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อโตขึ้นอะไร ๆ ก็เปลี่ยนไป บางคนไม่ค่อยติดต่อกับเพื่อนฝูง และเลือกที่จะปฏิเสธการไปเจอกลุ่มเพื่อน เพียงเพราะรำคาญความวุ่นวายก็มี คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับตัวเพื่อน เพื่อนยังมีความสำคัญ แต่แค่รู้สึกไม่ชอบพิธีรีตองและสถานการณ์ในการนัดพบกันมากกว่า ส่วนใหญ่คนเหล่านี้มักอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว ชื่นชอบการอยู่คนเดียว ชาร์จพลังและฮีลใจตัวเองได้ ไม่ชอบความวุ่นวาย สร้างและมีความสุขได้ด้วยตัวเอง จึงแยกตัวออกไปอยู่อย่างสันโดษ ไม่ค่อยที่จะติดต่อกลุ่มเพื่อน และใช้เวลาในการไตร่ตรองและพัฒนาตัวเอง ดังนั้น จึงเป็นตัวเราเองที่เฟดออกจากเพื่อน เพราะการพบเจอเพื่อนไม่ใช่เรื่องสำคัญ แค่ยังติดต่อพูดคุยกันเท่าที่สถานการณ์จะอำนวยก็พอแล้ว

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.