สารให้ความหวาน เกี่ยวข้องกับความเสี่ยง “โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน” จริงหรือ?

  • สารให้ความหวานแทนน้ำตาล กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่คนรักสุขภาพ หรือผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอื่นๆ  เนื่องจากให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายเป็นร้อยเท่า ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จึงให้พลังงานต่ำหรือไม่ให้พลังงานเลย
  • สารให้ความหวาน (Artificial Sweeteners) อยู่มากมายหลายชนิด ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อทดแทนความหวานจาก น้ำตาล แต่ผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวของสารเหล่านี้ต่อร่างกายยังอยู่ระหว่างการวิจัยเชิงลึกทั่วโลก

ในปัจจุบันมี สารให้ความหวาน หรือ Artificial Sweeteners อยู่มากมายหลายชนิด ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อทดแทนความหวานจาก น้ำตาล แต่ผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวของสารเหล่านี้ต่อร่างกายยังอยู่ระหว่างการวิจัยเชิงลึกทั่วโลก ซึ่งยังมีอยู่ไม่มากในขณะนี้

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่คนรักสุขภาพ หรือผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอื่นๆ  เนื่องจากให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายเป็นร้อยเท่า ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จึงให้พลังงานต่ำหรือไม่ให้พลังงานเลย (0 แคลอรี) และนั่นก็ทำให้ สารให้ความหวาน ถูกใช้เป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่ม และมีให้เลือกมากมายหลากหลายชนิด ทั้งสารสกัดจากธรรมชาติ หรือสารสังเคราะห์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ฟรุกโตสจากผลไม้ สารสกัดจากหญ้าหวาน (Stevia) ซูคราโลส แอสพาร์เทม แอซีซัลเฟมเค แซ็กคาริน (ขัณฑสกร) มอลทิทอล ซอร์บิทอล ไซลิทอล รวมถึงอิริทริทอล (Erythritol) ที่เพิ่งเป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้

ย้อนไปวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นข่าวใหญ่ เมื่อวารสารทางการแพทย์ระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงอย่าง Nature Medicine ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่อง “สารให้ความหวานอิริทริทอล (Erythritol) กับความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน” โดยในงานวิจัยนี้ ได้ทำการวิจัยศึกษาผลกระทบของสารนี้ในกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 8 ราย ที่บริโภคสารอิริทริทอลอย่างต่อเนื่อง และพบว่า สารให้ความหวาน อิริทริทอล (Erythritol) ซึ่งจัดเป็นสารที่มีโครงสร้างคล้ายน้ำตาลและแอลกอฮอล์ จึงเรียกว่า น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar Alcohol) ชนิดหนึ่ง เป็น สารให้ความหวาน ที่นิยมใช้ในเครื่องดื่มและของหวานคีโต (เช่น แพนเค้กคีโต และไอศกรีมคีโต) มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับการเพิ่มขึ้นของปฏิกิริยาของเกล็ดเลือด (Platelet reactivity) และการเกิดลิ่มเลือด (Thrombosis) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจต่างๆ ที่สำคัญผลของงานวิจัยนี้ให้ผลไปในทิศทางเดียวกับงานวิจัยที่เกี่ยวกับสารอิริทริทอลและ สารให้ความหวาน กลุ่ม Polyol (โพลีออล) และผลกระทบทางสุขภาพที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้

จริงๆ แล้ว สารอิริทริทอล เป็นสารที่สามารถพบได้ในธรรมชาติในเห็ดบางชนิด แตงโม ลูกแพร และองุ่น นอกจากนี้ยังพบได้ในอาหารหมักดองบางอย่าง เช่นไวน์และซีอิ๊วขาวในปริมาณเล็กน้อย และร่างกายของเรายังสามารถสร้างสารชนิดนี้ได้ในปริมาณหนึ่งอีกด้วย โดยสารชนิดนี้เพิ่งถูกผลิตโดยวิธีทางเคมีสังเคราะห์ในระดับอุตสาหกรรมและนำมาใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ ค.ศ. 1990 ในญี่ปุ่นเพื่อแทนน้ำตาล ดังนั้นมนุษย์เริ่มทำการบริโภคอิริทริทอลในปริมาณมากในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง

จากข้อมูลปัจจุบันของ องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (The U.S. FDA) ระบุว่า โดยปกติสารนี้ไม่มีผลกระทบข้างเคียงต่อมนุษย์ที่มีสุขภาพแข็งแรง [Generally Recognized as Safe (GRAS)] มีการค้นพบว่าเมื่อมี การบริโภคอิริทริทอลจะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของอิริทริทอลในกระแสเลือดมากถึง 1,000 เท่า เนื่องจากสารนี้เป็นสารที่ถูกดูดซึมผ่านลำไส้ได้ง่ายและอยู่ในระบบไหลเวียนเลือดได้เป็นเวลานานหลายชั่วโมง และในขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่บอกว่า อิริทริทอลดีต่อเยื่อบุโพรงหลอดเลือด (endothelial cells) และสุขภาพหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้นผลข้างเคียงของการบริโภคสารอิริทริทอลอาจจะไม่ได้มาจากการที่สารนี้เป็นพิษโดยตรงกับร่างกาย แต่อาจจะมาจากการบริโภคสารนี้ในปริมาณที่มากเกินไปนั่นเอง เช่นเดียวกับการบริโภคสารอาหารประเภทอื่นๆ ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต (ทั้งแป้งและน้ำตาลเอง) ไขมัน และวิตามินต่างๆ สารอาหารทุกประเภทมีความจำเป็นต่อร่างกายทั้งสิ้น แต่หากบริโภคมากเกินความจำเป็นของร่างกายในแต่ละวัน อาจสะสมและก่อให้เกิดความเป็นพิษและผลเสียต่อระบบต่างๆ ของร่างกายขึ้นมาได้เช่นกัน

องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (The U.S. FDA) มีผลสำรวจว่าการบริโภคสารอิริทริทอลโดยเฉลี่ยของประชากรจะอยู่ที่ประมาณ 13 กรัมต่อวัน ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัยชิ้นนี้บริโภคสารเดียวกันนี้ในปริมาณเฉลี่ยที่ประมาณ 45 กรัมต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงกว่าคนทั่วไปอย่างมาก อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้เป็นผลจากการสังเกตพฤติกรรมการบริโภคอิริทริทอล และความเกี่ยวข้องกันของโรคหลอดเลือดหัวใจ (ยังถือเป็นข้อสังเกตเบื้องต้น เนื่องจากร่างกายเรามีการทำงานที่ซับซ้อนเป็นอย่างมาก และการเกิดโรคมักมีองค์ประกอบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมายจนแม้กระทั่งนักวิจัยเองก็ไม่สามารถรู้และเข้าใจได้หมด แต่ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาวิจัยกันอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่างานวิจัยนี้อาจจะยังไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า อิริทริทอลเป็นสาเหตุหลักหรือปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้อย่างชัดเจน แต่ผลงานวิจัยนี้ก็ทำให้เราได้ตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่อิริทริทอลอาจมีผลกระทบข้างเคียงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจหากบริโภคในปริมาณที่มากเกินไป ดังนั้นผู้เขียนแนะนำผู้ที่ต้องการทดแทนน้ำตาลด้วยสารอิริทริทอล (หรือแม้กระทั่ง สารให้ความหวาน แทนน้ำตาลอื่นๆ) เพื่อการกินแบบคีโต (keto diet) หรือลดน้ำหนัก อาจจะเลือกบริโภคอิริทริทอลในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป หรือเลือกใช้ สารให้ความหวาน ชนิดอื่นควบคู่ไปด้วย และรับประทานอาหารหลากหลายชนิดและทราบแน่ชัดว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมีสมดุลทุกๆ วัน (เดินทางสายกลาง) น่าจะมีผลการศึกษาในเรื่องนี้ที่ชัดเจนมากขึ้นในอนาคต

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาจเป็นเรื่องยาก ขณะนี้รัฐบาลกำลังมีนโยบายการเก็บภาษีความหวานในเครื่องดื่ม เพื่อขับเคลื่อนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ลดการกินหวานมากเกินไปจนอาจก่อให้เกิดโรค  ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัมต่อ100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร และที่มีปริมาณเกิน 10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษี 5 บาทต่อลิตร

อ้างอิง

  • Nature Medicine volume 29, P.710-718 (2023) https://www.nature.com/articles/s41591-023-02223-9
  • https://www.who.int/news/item/15-05-2023-who-advises-not-to-use-non-sugar-sweeteners-for-weight-control-in-newly-released-guideline
  • https://health.clevelandclinic.org/erythritol/
  • https://edition.cnn.com/2023/02/27/health/zero-calorie-sweetener-heart-attack-stroke-wellness/index.html
  • กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. รายงานสถานการณ์โรค NCDs เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2562
  • http://www.thaincd.com/document/file/download/knowledge/รายงานสถานการณ์โรคNCDs63update.pdf

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.