"ออกกำลังกาย" ตอนป่วย ทำได้หรือไม่?
การออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งยังลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ แต่ในบางสถานการณ์ เช่น เมื่อป่วยไข้ คนส่วนใหญ่มักไม่แน่ใจว่าออกกำลังกายได้หรือไม่ หาก ออกกำลังกายตอนป่วย จะทำให้อาการแย่ลงหรือเปล่า อย่างนั้นเราไปหาคำตอบกันเลย
ออกกำลังกายตอนป่วย ทำได้หรือไม่
ประโยชน์ข้อหนึ่งของการออกกำลังกายก็คือ ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นปราการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บของร่างกายแข็งแรงขึ้น แต่หากคุณกำลังป่วย หรือไม่สบาย การออกกำลังกายอาจไม่ได้ส่งผลดีกับสุขภาพเสมอไป อาการเจ็บป่วยบางประการสามารถออกกำลังกายได้ ในขณะที่บางอาการควรงดออกกำลังกาย และควรพักผ่อนจนกว่าจะหายดี ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ใช้ “คอ” เป็นเกณฑ์ในการให้คำแนะนำว่า อาการป่วยไข้ที่คุณเป็นนั้นสามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ หากอาการเจ็บป่วยของคุณเกิดขึ้นที่อวัยวะซึ่งอยู่เหนือลำคอขึ้นไป แบบไม่รุนแรง คุณสามารถออกกำลังกายเบาๆ ได้ และคุณควรงดออกกำลังกายตอนป่วยเด็ดขาด หากอาการป่วยเกิดขึ้นที่อวัยวะต่ำกว่าลำคอลงมา
อาการป่วยที่ยังออกกำลังกายได้
- เป็นไข้หวัดธรรมดา
- ไอจามเบาๆ
- คัดจมูก หรือน้ำมูกไหล
- เจ็บคอ
- ปวดหู
อาการป่วยที่อย่าฝืนออกกำลังกาย
- เป็นไข้หวัดใหญ่
- มีไข้
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ไอมีเสมหะ
- ไอแบบมีเสียงฟืดฟาดหรือเสียงหวีด (Wheezing cough)
- เจ็บแน่นหน้าอก
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ท้องเสีย
ป่วยอยู่ ออกกำลังกายอย่างไรดี
ในระหว่างเจ็บป่วย คุณควรลดระดับความเข้มข้นในการออกกำลังกายลง หันมาออกกำลังกายเบาๆ ไม่ควรหักโหม เช่น เดินแทนวิ่ง เล่นโยคะแทนการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วยการยกน้ำหนัก เพื่อให้ร่างกายสามารถหายใจได้สะดวกขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ต้องทำงานหนักเกินไป หากคุณรู้สึกว่าออกกำลังกายแล้วอาการแย่ลง อย่าฝืนออกกำลังกายต่อ ควรหยุดพักทันที รอจนหายดีแล้วจึงค่อยกลับมาออกกำลังกายอีกครั้ง
หากอยากไปออกกำลังกายที่ฟิตเนสตอนป่วย?
หากคุณป่วย เช่น เป็นไข้หวัด ทางที่ดีควรงดไปออกกำลังกายที่ฟิตเนส เพราะฟิตเนสถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และเชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย แต่หากจำเป็นต้องออกกำลังกายตอนป่วยที่ฟิตเนสจริงๆ ควรล้างมือให้สะอาด เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ทั้งก่อนและหลังใช้ รวมไปถึงเช็ดมือด้วยเจลล้างมือระหว่างออกกำลังกาย หรือหลังไอจามทุกครั้ง เพื่อป้องกันตัวเองติดเชื้อหรือแพร่เชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น
เมื่อไหร่จึงจะกลับไปออกกำลังกายได้ตามปกติ
สำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นไข้หวัด หากไม่มีอาการแทรกซ้อน ไข้หวัดของคุณจะหายดีภายในเวลา 7 วัน แต่หากเป็นไข้หวัดใหญ่อาจต้องใช้เวลารักษาตั้งแต่ 10 วันถึง 2 สัปดาห์ หรือถ้าเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดลมอักเสบ โรคไซนัสอักเสบหรือที่เรียกว่า โพรงจมูกอักเสบ อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป กว่าอาการป่วยจะหายสนิท แม้แต่อาการไอรุนแรงหรือไอแบบมีเสมหะก็สามารถเป็นติดต่อกันได้นานหลายสัปดาห์หากไม่รักษาให้หายสนิท ดังนั้น หากมีอาการป่วยไข้ดังกล่าว คุณควรพักรักษาตัว กินยาตามที่คุณหมอสั่ง และพักผ่อนให้มากๆ เมื่ออาการป่วยหายดี ร่างกายฟื้นฟูเต็มที่แล้วจึงค่อยกลับไปออกกำลังกายตามรูปแบบปกติ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.