“ทวารวดี” ที่ “ศรีเทพ” แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของชาวไทยและชาวโลก
ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา เชื่อว่าคนไทยหลายท่าน ภูมิใจ และคงได้ไปสัมผัสความสวยงามเรียนรู้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโก ไม่ว่าจะเป็นเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และ ณ วันนี้ เรามีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ที่พร้อมให้คนไทยและคนทั่วโลกได้มาสัมผัสความยิ่งใหญ่ นั่นคือ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” จังหวัดเพชรบูณ์ ที่มีความเป็น เอกลักษณ์และโดดเด่นทางด้านงานศิลปะ สถาปัตยกรรมมานานนับพันปี โดยเฉพาะวัฒนธรรม “สมัยทวา” หรือ “ทวารวดี” นั่นเอง
“ทวา” คําเรียกสั้นๆ ของนักโบราณคดีไทยที่เรียกยุคประวัติศาสตร์เริ่มแรกของไทย ชื่อเต็ม คือ “ทวารวดี” มีอายุเมื่อ ราว 1,200 ปีที่แล้ว ศูนย์กลางนั้นนักโบราณคดีส่วนใหญ่สันนิษฐานว่า น่าจะอยู่บริเวณด้านตะวันตกของลุ่มนํ้าเจ้าพระยา แถวเมืองอู่ทองและนครปฐม เนื่องด้วยพบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นจํานวนมากและขนาดของเมืองที่มีขนาดใหญ่ โดยเมืองเหล่านี้ทําหน้าที่เป็นเมืองท่าทางทะเลด้วย แต่นั่นมิได้หมายความว่าทวารวดีจะมีอยู่แค่สองเมืองหลักนี้เท่านั้น เรายังพบกลุ่ม เมืองวัฒนธรรมทวารวดีทั้งทางภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก และภาคใต้ โดยเฉพาะ”กลุ่มเมืองทวา” ลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี อาทิ ลพบุรี จันเสน และศรีเทพ
ซึ่งครั้งนี้เราจะเน้นมาที่เมืองศรีเทพนะครับ เพราะในปีนี้อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก คนไทยหลายคนจึงให้ความสนใจกับเมืองนี้เป็นพิเศษมากขึ้น
“ศรีเทพ” เมืองนี้ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าป่าสัก อันเป็นลุ่มน้ำที่พบแหล่งชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มากมาย ตั้งแต่จังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี นอกจากนี้ ป่าสักยังถูกใช้เป็นเส้นทางในการติดต่อระหว่างพื้นที่ทางเหนือ อีสาน และภาคกลาง โดยมีทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวเชื่อมโยงคือ แร่ทองแดง อันเป็นแร่ตั้งต้นของการผลิตสําริด ในยุคสําริดลงมาถึงยุคเหล็ก เมื่อราว 1,800 ปีก่อน ดังพบหลักฐานจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่ หลุมช้างและหลุมหมา บ่งบอกถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์โบราณมานานแล้ว
หลังจากนั้น “ชุมชนศรีเทพ” ก็มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากการติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกโดยเฉพาะจากอินเดีย และเริ่มเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ของไทยเมื่อประมาณ 1,200 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการสร้างเมืองเป็นรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของ ทวา คือ “คูน้ําคันดิน” มีสองเมือง คือ เมืองในและเมืองนอก ภายในเมืองในปรากฏโบราณสถานที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดี หลายแห่ง อาทิ
เขาคลังใน เป็นพุทธสถานในศาสนาพุทธหินยาน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 และเปลี่ยนการใช้งานมาเป็นพุทธศาสนามหายาน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14 ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลายแต่ยังคงหลงเหลือหลักฐานที่สมบูรณ์ คือ ฐานอาคารแบบทวารวดีที่เรา เรียกว่า “ฐานบัววลัย” และ “ฐานยกเก็จ” สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลรูปแบบการก่อสร้างจากศิลปะอินเดียใต้ มีประติมากรรมปูนปั้นคนแคระแบก มีทั้งศีรษะที่เป็นสิงห์ช้าง ลิง สื่อความหมายถึงผู้ปกป้องดูแลซึ่งแบกโบราณสถานไว้ อันนี้เป็นลักษณะเด่นของคนแคระแบกที่แตกต่างไปจากคนแคระแบกในวัฒนธรรมทวารวดีภาคกลาง มีลายปูนปั้นเรียกว่า “ลายกกระหนกผักกูด” ซึ่งเป็นอิทธิพลของงานศิลปะอินเดียสมัยคุปตะและสมัยหลังคุปตะ ลายดอกกลมสลับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีการขุดค้นพบ พระพุทธรูปซึ่งมีอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะอันเป็นยุคทองของศิลปะอินเดียและพบพระโพธิสัตว์อีกหลายองค์
เขาคลังนอก เป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองศรีเทพและเป็นอาคารที่ใหญ่ที่สุดในวัฒนธรรมทวารวดี ณ ขณะนี้ ตั้งอยู่เมืองนอกศรีเทพ จากการขุดแต่งโดยกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2551 พบหลักฐานเป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรม 1 องค์ ตัวโบราณสถานมีขนาด 64*64 เมตร สูง 20 เมตร ฐานอาคารมีการประดับปราสาทหรืออาคารจำลองไว้ทุกมุมทุกด้าน
อิทธิพลศิลปะอินเดียภาคใต้และศิลปะชวาภาคกลาง ด้านบนมีลานประทักษิณ และมีเจดีย์ประธานสันนิษฐานว่า เป็นเจดีย์ทรงโอคว่ำ อิทธิพลจากศิลปะอินเดีย ทางขึ้นหันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งมีเขาศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่ คือ "เขาถมอรัตน์" มีถ้ำซึ่งมีประติมากรรมพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และสถูป โดยวัฒนธรรมการดัดแปลงถ้ำเป็นพุทธสถานนั้น ทวารวดีก็ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 3-6 เช่น ถ้ำเอลโลล่า ถ้ำอชันตา ซึ่งเรียกว่า “เจติยสถานและวิหาร” เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมและเป็นที่จำพรรษาของพระภิกษุ จากหลักฐานที่ปรากฏที่เขาคลังนอก สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 14 เนื่องในศาสนาพุทธมหายาน
ต่อมาเมื่ออาณาจักรเมืองพระนครเจริญรุ่งเรือง ราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 ได้แผ่อิทธิพลมายังดินแดนลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี มีเมืองละโว้เป็นศูนย์กลางดังที่เราพบโบราณสถานปรางค์แขกซึ่งเป็นปราสาทเขมรเก่าที่สุดของภาคกลางของไทย
และที่ศรีเทพเองก็พบตัวปราสาทเขมรเช่นเดียวกัน คือ “ปรางค์ศรีเทพ” สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในศิลปะเขมรแบบบาปวนและมีการสร้างเพิ่มเติมในสมัยบายน ตัวปราสาทสร้างอยู่บนฐานอาคารสมัยทวารวดี ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐศิลาแลง มีอาคารประกอบทั้งมณฑป บรรณาลัย โคปุระ สะพานนาค
ปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์องค์พี่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 17 ในสมัยนครวัด สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับพระศิวะ ส่วนปรางค์องค์น้องมีการปรับเปลี่ยนหน้าที่การใช้งานเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนามหายานในสมัยบายนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีทับหลังที่สวยงามติดอยู่คือ อุมามเหศวร ศิลปะแบบบาปวน
จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ให้เห็นว่า เมืองศรีเทพมีจุดเด่นคือความหลากหลายของการนับถือศาสนามีการนับถือทั้งพุทธศาสนาหินยาน มหายาน และพราหมณ์-ฮินดูมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-18 (วัฒนธรรมทวารวดี - วัฒนธรรมเขมร) มีการติดต่อค้าขายกับชุมชนทั้งภายในและภายนอกโดยเฉพาะจากอินเดีย เนื่องด้วยศรีเทพเมื่อ 1,200 ปีก่อนนั้นเป็นดินแดนที่ไม่ไกลจากทะเลสักเท่าไหร่ ได้รับอิทธิพลทางด้านงานศิลปะ สถาปัตยกรรมมาจากอินเดียและที่อื่นๆ ผสมผสานกับแนวความเชื่อ งานศิลปะของช่างท้องถิ่น จึงกลายมาเป็นความลงตัวและเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมทวารวดีที่ศรีเทพที่ไม่เหมือนใคร
ถ้าใครสนใจมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์และชื่นชมความงดงามของศรีเทพก็สามารถเดินทางมาได้ทั้งทางรถยนต์ หรือรถโดยสารประจำทาง เปิดมุมมองเมืองมรดกโลกแห่งใหม่ของไทยที่ทุกคนมาแล้ว ต้องประทับใจและได้ความรู้กลับบ้านอย่างแน่นอน
ผู้เขียน: วีรพงษ์ คำด้วง
นักเขียน / มัคคุเทศก์ด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ / อาจารย์พิเศษทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.