"บ้านทองหยอด" จากโรงงานขนมไทย สู่โรงงานปั้นนักแบดฯแชมป์โลก

จุดเริ่มต้นของบ้านทองหยอด


ใครจะคิดว่าจุดเริ่มต้นของสโมสรกีฬาแบดมินตันมูลค่านับร้อยล้านบาท และปั้นนักกีฬาไปสู่ระดับโลกหลายคน จะมาจากความชอบและบ้าเล่นกีฬาแบดมินตันของคุณกมลา ทองกร ที่อยากมีคอร์ตแบดฯให้ลูกๆหลานๆของเธอได้มีพื้นที่ในการเล่นแบดมินตัน

จากโรงงานขนมหวาน  นำสูตรขนมไทยมาจากแม่ของเธอเอง ใช้พื้นที่ไม่มากนัก เพราะทำขายเฉพาะตลาดใกล้เคียง แต่เมื่อได้รับความนิยม มีพ่อค้าคนกลางต่างถิ่นมารับถึงโรงงานเพื่อนำไปขายต่อ ทั้งไปติดแบรนด์ของคนอื่น และใช้แบรนด์ "บ้านทองหยอด" ทำให้ชื่อโรงงานขนมบ้านทองหยอดขายดีในระดับประเทศ

"เราเริ่มธุรกิจจากการทำขนมหวานนี่แหละค่ะ ทุกอย่างที่เป็นขนมหวานไทยทั้งทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ซึ่งธุรกิจของเราก็ไปได้ด้วยดี เราผลิตทองหยอดขายส่งทั่วประเทศ ถ้าเป็นทองหยอดนี่เราขายส่งดีที่สุดในประเทศ" กมลา ทองกร กล่าว

"ธุรกิจก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนชอบกีฬาแบดมินตัน ตั้งแต่เป็นเด็กแล้ว แต่เราไม่มีโอกาสได้เล่นหรือซ้อม เพราะเด็กๆเราเป็นครอบครัวที่ยากจน เราเลยต้องทำงานตั้งแต่เด็กๆ พอว่างหลังเลิกงานค่อยได้เล่น "

"พอเรามีครอบครัว แล้วงานเริ่มอยู่ตัวพอมีเวลาเราก็ไปเล่นแบดกับครอบครัวและพาลูกๆไปเล่นด้วย พอเห็นคอร์ตข้างๆมีโค้ชสอนเป็นเรื่องราว เราเลยให้ลูกไปเรียนอย่างถูกต้อง นั่นคือจุดเริ่มต้นค่ะ"

จนกระทั่งปี 2534 เธอได้ก่อตั้ง “ชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด” ความตั้งใจคือเพื่อให้ลูก เพื่อน ๆ ของลูก มาเล่นแบดมินตัน โดยที่ในขณะนั้นลูก ๆ ของ "กมาลา ทองกร" ยังไม่มีสังกัดจึงไม่สามารถลงแข่งขันได้จนเป็นที่มาของการก่อตั้ง “ชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด”ขึ้น

จากนั้นก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่วนสาเหตุที่ใช้ชื่อนี้เนื่องจากเป็นธุรกิจของคุณกมลาเอง 

ระยะแรกทางชมรมได้ใช้สนามที่สร้างขึ้นเองภายในบริเวณบ้านของ กมลา  1 สนาม และมีนักกีฬาเพียง 4 คนเท่านั้น โดยมีอาจารย์พรโรจน์ บัณฑิตพิสุทธิ เป็นผู้ฝึกสอน จนกระทั่งนักกีฬาเริ่มมีผลงานสามารถเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ ในปีถัดมาอาจารย์พรโรจน์ มีความจำเป็นต้องย้ายราชการครูไปสอนที่จังหวัดกระบี่ จึงได้แนะนำให้หาโค้ชมืออาชีพที่สามารถทำงานได้เต็มเวลา

ทางชมรมฯจึงได้ติดต่อสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ และก็ได้โค้ช  Mr.Xie Zhihua (จื่อ หัว เซี่ย) มาช่วยฝึกสอน 

ต่อมาเริ่มมีนักกีฬามาเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทางชมรมฯ ได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี และสอนได้อีกประมาณ 4 ปี จำนวนสนามเริ่มไม่พอกับจำนวนนักกีฬา


จากชมรมเล็กๆสู่ “โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด” 


จนกระทั่งปี 2546 กมลา ทองกร ได้สร้าง “โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด” ด้วยเงินลงทุนรวมทุกอย่างที่ 100 ล้านบาท 

ตอนนั้นสถานการณ์ของโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ก็ยังทรงๆ แม้จะเปิดรับนักเรียนทุนโดยมีสปอนเซอร์เข้ามาดูแลบ้าง แต่การส่งนักแบดมินตันไปแข่งในเวทีระดับนานาชาติ (ต่างประเทศ) ยังเป็นแบบจำกัด 

แต่หลังจาก "เมย์" รัชนก อินทนนท์ ได้แชมป์โลกแบดมินตันหญิงเดี่ยวเมื่อปี 2013 ตอนนั้นทำให้เกิดกระแสฟีเวอร์การเล่นแบดมินตันขึ้นมาทันที

ชื่อของบ้านทองหยอด คือหมุดหมายของนักแบดมินตันทุกคนที่อยากมาเรียนที่นี่ เพราะคำว่าอยากเป็นแชมป์โลกเหมือน"พี่เมย์"

"ก่อนหน้าเมย์จะได้แชมป์โลก แม่ (ปุก) ควักเงินตัวเอง ให้เด็กๆได้ไปแข่งทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ซื้ออุปกรณ์ จ้างโค้ช ปีละเป็นล้านบาท" กมลา ทองกรเสริม

"หลังจากเมย์ได้แชมป์โลกแล้ว ผู้สนับสนุนหลั่งไหลเข้ามา กิจการของบ้านทองหยอดดีขึ้นผิดหูผิดตา เพราะมีคนเดินทางมาเรียนกับเราเยอะขึ้นมาก เงินสนับสนุนเข้ามามากกว่าเดิมเป็น 10 เท่า" 

จากปีละหลักล้าน เม็ดเงินเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 10 ล้าน เข้ามาช่วยสนับสนุนนักกีฬา และอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้นักกีฬาในสังกัดบ้านทองหยอด


 เฉพาะค่าเรียนรายได้ปีละเกือบ 40 ล้านบาท


ปัจจุบันโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด มีเด็กๆที่เข้ามาเรียนในสังกัดประมาณ 300 คน มีทั้งแบบเสียเงิน กับนักกีฬาทุน (ได้เรียนฟรี+ที่พัก) 

สำหรับคนที่ไม่ใช่นักกีฬาทุนจะมีค่าใช้จ่าย เดือนละ 8,000 บาท แต่หากใครเรียนแบบพักที่อะคาเดมี่ด้วยเลยก็จะเป็นเดือนละ 12,000 บาท 

คิดเป็นตัวเลขกลมๆ เดือนละ 300 คน เฉลี่ยคนละ 10,000 บาท ต่อเดือน ทางบ้านทองหยอดจะมีรายได้ตรงนี้เข้ามาเดือนละ 3 ล้านบาท หรือตกปีละ 36 ล้านบาท

ซึ่งคุณกมลา ทองกร เสริมว่า หากย้อนไปช่วงหลังจากเมย์ได้แชมป์โลก ตอนนั้นพีคกว่านี้ รายได้ตกปีละ เกือบ 60 ล้านบาท

"แต่เงินจำนวนเหล่านั้น แทบจะเทียบไม่ได้เลยกับการปั้นนักกีฬา 1 คนเพื่อให้โตไปบนเส้นทางอาชีพ หรือก้าวไปในระดับโลก เพราะต้องมีโค้ช มีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาส่วนตัว มีนักกายภาพ ตามติดไปด้วยเวลาไปแข่งต่างประเทศ เฉลี่ยแล้วนักกีฬา 1 คนจะมีค่าใช้จ่ายเดือนละเกือบ 1 ล้านบาทเลยทีเดียว" กมลา ทองกร อธิบายถึงนักกีฬาและค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไป

อย่างไรก็ตามเธอย้ำว่า เงินเหล่านี้ที่จ่ายไป ทองบ้านทองหยอดเต็มใจส่งต่อให้นักกีฬา ต่อนักกีฬาพวกนี้ไม่มีเงินเดือนอยู่แล้ว ส่วนเงินรางวัลที่พวกเขาได้มาจากการแข่งขัน ก็เก็บไว้ใช้จ่ายส่วนตัวไป ทางบ้านทองหยอดไม่ได้หักเข้ากระเป๋า จะมีเพียงนักฬาจะแบ่งเงินเข้ากองทุนบ้านทองหยอดเป็นเงิน 10% เพื่อเอาเงินจากกองทุนเหล่านี้ ไปส่งต่อให้นักกีฬาเด็กๆเบยาวชนรุ่นต่อไปให้ได้มีโอกาสเรียน แข่งแบดมินตัน ทั้งระดับประเทศ และระดับนานาชาติ เหมือนรุ่นพี่ของพวกเขาเคยได้ประสบการณ์เหล่านี้มาแล้ว

"ถ้าคุ้มทุนที่ลงไปนี่ยังหรอกค่ะ แต่เราได้สถานที่ตรงนี้ขึ้นมา อย่าลืมว่าสิ่งที่ได้มาเราเอาไปส่งเสริมเด็กขึ้นมา เงินรายได้ก็หมุนเวียนเป็นวัฏจักร ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น หากถามว่าเราได้ทุนที่ลงไปคืนมาหรือยัง มันคงไม่ได้หรอก เราเน้นไปที่การลงทุนเพื่อการกีฬาและสร้างเด็กขึ้นมา เราส่งเด็กไปแข่ง 20-30 คน ใช่ว่าเราจะได้ผู้เล่นที่โดดเด่นเป็นเพชรเม็ดงามขึ้นมาเลย แต่ถ้าเราไม่ลงทุน เราก็จะไม่เจอเด็กที่เก่งขึ้นมาเลย"


ปัจจุบันโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด สร้างนักแบดมินตันชาวไทยก้าวไปเป็นแชมป์โลกได้ถึง 2 คน นั่นคือ 

"เมย์" รัชนก อินทนนท์ ที่เป็นแชมป์โลกแบดมินตันหญิงเดี่ยวเมื่อปี 2013

และคนที่ 2 คือ "วิว" กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักแบดมินตันชายเดี่ยวที่ได้แชมป์โลกเมื่อต้นเดือน กันยายนของปีนี้ (2023) 


ความฝันของแม่ปุก กับวงการแบดมินตัน

"ก็อยากจะสร้างนักกีฬาให้เหมือน"น้องเมย์" "น้องวิว" ให้มีนักกีฬาขึ้นมาในระดับโลกไปเรื่อยๆ เราสร้างโครงการนี้ให้ยาวต่อเนื่อง ไม่ได้จบแค่ 2 คนนี้ค่ะ แต่กว่าจะเห็นผลกับเด็กเล็กๆแบบนี้ มันต้องใช้เวลาเป็นสิบๆปี เหมือนน้องวิวแบบนี้ค่ะ ไม่แน่อีกสัก 5 ปีก็อาจจะมีขึ้นมาอีก ตอนนี้เราอยู่ในช่วงฟูมฟักพวกเขา เมื่อเรามีอะคาเดมี่ มีเด็กหลายคนเราสามารถเลือก คัด และประเมินได้ว่าเด็กแต่ละคนอยู่กลุ่มไหน คนไหนผลักดันไประดับโลกได้" แม่ปุกของเหล่าลูกศิษย์แห่งบ้านทองหยอดกล่าวปิดท้าย


 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.