Digital Footprint คืออะไร ระวังเป็นเงาตามติดคุณไปนานแสนนาน

“อดีต เป็นรากฐานของปัจจุบันและอนาคต” หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำกล่าวทำนองนี้มาบ้าง มันแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ “อดีต” ในการกำหนดปัจจุบันรวมไปถึงอนาคตด้วย ยิ่งในยุคสมัยที่เรามีเทคโนโลยีสุดทันสมัยในการเก็บและกู้อดีตเพื่อเป็นหลักฐานด้วยแล้ว “การขุดอดีตขึ้นมาแฉ” เพื่อทำลายปัจจุบันและอนาคตของกันและกัน ยิ่งเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างง่ายดาย

ฉะนั้น พฤติกรรมที่เราเคยทำแบบไม่คิด คิดน้อย หรือรู้เท่าไม่ถึงการ ในอดีตเมื่อนานมาแล้ว อาจทำลายชีวิตปัจจุบันของเรารวมถึงทำให้เราหมดอนาคตเลยก็ได้ โดยเฉพาะกับคนดัง คนมีชื่อเสียง ที่ภาพลักษณ์เป็นเรื่องสำคัญ หรือแม้แต่คนธรรมดา หากในอดีตเคยทำอะไรที่คิดน้อยเอาไว้ มันก็ทำลายตัวเราได้เหมือนกัน เพราะปัจจุบันเรามีสิ่งที่เรียกว่า Digital Footprint ที่เป็นหลักฐานแฉอดีตของเราได้ทุกอย่าง

ทุกวันนี้ Digital Footprint มีบทบาทสำคัญอย่างมากในชีวิตของเรา ทั้งกับสิ่งที่เราตั้งใจทำไว้เองในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และสิ่งที่เราอาจถูกขโมยไปโดยไม่รู้ตัว จากความเป็นคนเปิดเผย ชอบแสดงความเป็นส่วนตัวของตัวเองบนโลกออนไลน์
Digital Footprint คืออะไร?

Digital Footprint หรือรอยเท้าดิจิทัล เป็นพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ทุกครั้งที่เราเข้าใช้งานอะไรก็ตามบนโลกออนไลน์ มันจะมีร่องรอยเหลือเอาไว้เสมอ เช่น การอัปโหลดข้อมูลส่วนตัว โยนไฟล์งาน รูปภาพ การใช้สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ โซเชียลมีเดียทั้งหลาย การคอมเมนต์ การโพสต์ข้อความ การแชร์ การกดไลก์ เขียนบล็อก เข้าสู่เว็บไซต์ การกดดูรูปภาพ ดูวิดีโอ ฯลฯ การใช้งานทุกอย่างจะถูกบันทึกไว้ และหลงเหลือร่องรอยให้ติดตามถึงตัวเราได้ ร่องรอยเหล่านี้จึงสามารถบอกให้ผู้อื่นทราบถึงพฤติกรรมของเราได้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่สนใจ สิ่งที่เราอยากทำ หากมีผู้ประสงค์ร้ายต่อเรา ก็สามารถสืบค้นและเข้าถึงได้หมด

โดย Digital Footprint จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

Active Digital Footprint (ร่องรอยดิจิทัลที่ผู้ใช้เจตนาบันทึกเอง)

เป็นข้อมูลทางดิจิทัลที่ตัวเราตั้งใจเปิดเผยโดยเจตนา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การให้ข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ของตัวเองลงในโซเชียลมีเดีย เช่น ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด ข้อมูลการศึกษา ประวัติส่วนตัว ความชอบความสนใจส่วนตัว รวมไปถึงการโพสต์ข้อมูลส่วนตัวของตัวเองลงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อัปโหลดภาพ บันทึกความทรงจำ การเขียนคอมเมนต์ การแชร์แล้วแสดงความคิดเห็น การเขียนบล็อก สิ่งเหล่านี้สามารถสืบค้นได้ในภายหลังและมันอาจส่งผลต่อชีวิตเราได้หากถูกขุดเจอภายหลัง หรืออาจมีมิจฉาชีพที่แฝงตัวเป็นเพื่อนหรือคนรู้จัก คอยตามเก็บข้อมูลเหล่านี้อยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว

มีให้เห็นอยู่หลายกรณี กับบรรดาเหล่าคนดังคนมีชื่อเสียงในสังคม ที่เมื่อสมัยก่อนมีชุดความคิดบางอย่างที่ส่งผลต่อหน้าที่การงานของตนเองในปัจจุบัน ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ หรือแสดงให้เห็นทัศนคติในด้านลบ ส่วนใหญ่มักจะออกมาบอกว่ามันเป็นความผิดพลาดในอดีตสมัยที่ยังขาดวุฒิภาวะ ยังเด็ก คึกคะนองตามวัยเลยรู้เท่าไม่ถึงการ และถึงแม้ว่าจะลบไปแล้ว แต่ร่องรอยดิจิทัลนี้จะยังสามารถสืบค้นได้และคงอยู่ตลอดไปบนโลกออนไลน์ เพราะฉะนั้น จึงต้องเตือนตัวเองเสมอ ก่อนจะโพสต์อะไรลงไป คิดให้รอบคอบและถี่ถ้วน ใช้สติ ใช้วิจารณญาณ หากโพสต์ในเชิงสร้างสรรค์ไม่ได้ การไม่โพสต์ก็แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะและความยับยั้งชั่งใจ ทำอะไรไว้มันจะส่งผลถึงอนาคตได้

Passive Digital Footprint (ร่องรอยดิจิทัลที่ผู้ใช้ไม่ได้เจตนาบันทึก)

เป็นข้อมูลทางดิจิทัลที่เราทิ้งไว้โดยไม่มีเจตนา ไม่ได้ตั้งใจ โดยอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการบันทึกไว้ หรือไม่รู้ว่าทุก ๆ การคลิกล้วนทิ้งร่องรอยอะไรบ้างไว้บนอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ IP Address ที่หลาย ๆ คนไม่รู้จักว่ามันคืออะไร หลายคนรู้จักว่าคืออะไร แต่ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า IP Address ของคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนของตัวเองคือเลขอะไรบ้าง ซึ่ง IP Address นี้เป็นหมายเลขประจำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แต่ละเครื่องในระบบเครือข่ายที่ใช้โปรโตคอลแบบ TCP/IP มันสามารถบอกได้ว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หมายเลขนี้อยู่ที่ไหน เมื่อเราไม่รู้ว่าการออนไลน์ทุกครั้ง IP Address ของเราถูกบันทึกไว้เสมอ เราก็อาจทำเรื่องผิดกฎหมาย โดยไม่คาดคิดว่าจะถูกตามเจอ

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ต ประวัติการค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตหรือเว็บไซต์ต่าง ๆ แม้กระทั่งรหัสผ่านของเว็บไซต์บางเว็บไซต์ที่ถูกบันทึกไว้อัตโนมัติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เราเวลาที่ใช้งาน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมากรอกใหม่ทุกครั้ง หรือ cookie ของเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่บันทึกไว้ทั้งหมด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเราถูกบันทึกอะไรไปบ้าง และแน่นอนว่าเราก็ไม่รู้ด้วยว่าถ้าข้อมูลพวกนี้หลุดออกไป มันจะสร้างความเสียหายให้เราได้อย่างไร เสียหายมากน้อยแค่ไหน

Digital Footprint ในอดีตส่งผลต่ออนาคตอย่างไร

มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีบ่วงรัดคอจากพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของตนเองในอดีต จากสิ่งที่เรียกว่า Digital Footprint หรือร่องรอยดิจิทัล อาจด้วยในอดีตมีคนแค่ไม่กี่คนที่รู้จักว่า Digital Footprint คืออะไร และอดีตที่เคยทำไว้บนออนไลน์ตอนนั้นมันจะยังติดตามเป็นเงาตามตัวเราไปตลอดชีวิต หรือบางคนอาจจะรู้แต่ไม่สนใจก็ได้ เพราะไม่คิดว่าในอนาคตตัวเองจะกลายเป็นคนดัง เป็นคนมีชื่อเสียงขึ้นมา จึงไม่ได้คาดการณ์ว่าสิ่งที่เคยโพสต์หรือคอมเมนต์ไว้ในอดีตจะถูก “ขุด” และถูก “แฉ” จนหมดอนาคต ในวันที่ตัวเองไม่ควรจะถูกสกัดด้วยเรื่องฉาวโฉ่

ทุกวันนี้ Digital Footprint จึงกำลังมีบทบาทมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งไม่เพียงแต่คนมีชื่อเสียงหรือคนดังเท่านั้นที่อาจถูกขุด ถูกแฉ และถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่เคยโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ แต่อดีตบนโลกออนไลน์ยังส่งผลกระทบต่อบุคคลธรรมดา ๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสมัครงาน ที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเริ่มที่จะนำเอาร่องรอยบนโลกดิจิทัลของผู้สมัครมาเป็นส่วนหนึ่งในการสรรหา ตรวจสอบ และคัดเลือกบุคคลเข้าสู่องค์กร เพราะฉะนั้น สิ่งที่หลายคนเคยสงสัยว่าในใบสมัครงาน ว่าจะมีช่องที่ถามถึง Facebook, Twitter (X) หรือ Instagram ไปทำไมกัน คำตอบก็คือ เอาไปส่องอดีตของเรานั่นแหละว่าเราเป็นคนอย่างไร เหมาะสมที่จะคัดเลือกเข้ามาหรือไม่

แม้ว่าหลายคนจะรู้สึกว่าการที่องค์กรต่าง ๆ ถามถึง Facebook, Twitter (X) หรือ Instagram ในใบสมัครงานมันเป็นเรื่องที่ส่วนตัวมาก ๆ แต่ทำไมถึงไม่คิดบ้างว่าเรื่องส่วนตัวที่เคยโพสต์ลงบนพื้นที่ส่วนตัว (เสมือน) นั้นมันไม่จริงตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะทุกอย่างที่เรากระทำบนโลกออนไลน์ในอดีต เราก็ตั้งใจให้มันถูกสื่อสารออกไปอย่างเป็นสาธารณะอยู่แล้ว การที่ใบสมัครละลาบละล้วงขอพื้นที่ส่วนตัวของเราบนออนไลน์ ก็เพื่อที่จะตรวจสอบสิ่งที่เราเคยเผยแพร่เป็นสาธารณะเมื่อในอดีตนั่นเองว่าเราเหมาะสมกับองค์กรหรือไม่ เพราะองค์กรก็มีสิทธิ์เลือกบุคลากรที่เหมาะสมที่สุดที่จะเข้ามาทำงานให้ มันอาจจะดูเหมือนเลือกปฏิบัติ แต่เขาก็มีสิทธิ์เลือกจริง ๆ นี่คือข้อเท็จจริง

เพราะองค์กรต่าง ๆ ต่างก็ต้องการบุคลากรที่ “เข้ากันได้ดี” กับวัฒนธรรมองค์กร กฎระเบียบต่าง ๆ ขององค์กร หรือเกณฑ์ความเหมาะสมที่องค์กรสามารถกำหนดได้เพื่อสรรหาบุคลากร เป็นการป้องกันเบื้องต้นไม่ให้เกิดปัญหาในตอนหลัง ทำให้ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจจำนวนมากมักใช้ข้อมูลจากโซเชียลมีเดียของผู้สมัครมาประกอบการพิจารณารับบุคคลเข้าทำงานด้วย นอกเหนือไปจากการสัมภาษณ์และการทดสอบความสามารถ นั่นหมายความว่า คนทำงานหรือคนหางานในตลาดแรงงาน “จำเป็น” ระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวและความคิดเห็นในโลกออนไลน์ เพราะมันอาจส่งผลกระทบต่อการสมัครงาน หรือหน้าที่การงานที่กำลังไปได้สวย แบบที่ดารานักแสดงหลายคนเคยโดน

เนื่องจาก Digital Footprint มันแสดงให้เห็นถึง “พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเรา” โดยทั่วไปคนเรามีทัศนคติส่วนตัวประมาณไหน มันก็จะเป็นตัวตนของเราทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงานด้วย ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการคลิกเข้าสู่เว็บไซต์ ชอบเข้าเว็บไซต์ประมาณไหน กดไลก์เพจหรือกดไลก์ข้อความอะไร ก็แสดงให้เห็นถึงทัศนคติว่าเห็นด้วยกับสิ่งนั้น สิ่งเหล่านี้จึงปรากฏเป็นร่องรอยประวัติดิจิทัลที่ผู้อื่นสามารถติดตามหรือนำไปใช้งานต่อได้ ดังนั้น ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงนำไปใช้ในการสรรหาบุคลากรเข้าสู่องค์กรได้เช่นกัน สำหรับประกอบการพิจารณารับคนเข้าทำงาน เพื่อให้ที่จะได้เข้าถึงและรู้จักตัวตนของผู้สมัครมากยิ่งขึ้น ว่ามีความเหมาะสมกับองค์กรหรือไม่

นั่นหมายความว่าต่อให้เราจะเป็นคนที่เก่งและมีความสามารถแค่ไหน รอบสัมภาษณ์ตอบได้ดี แสดงทัศนคติได้ดีแค่ไหนก็ตาม แต่มันเป็นสิ่งที่เตรียมความพร้อมกันได้ ต่างจาก “ร่องรอยดิจิทัลในอดีต” (หรืออาจจะในปัจจุบันด้วย) ที่มันโกหกกันไม่ได้มากนัก ต่อให้ลบทิ้งไปแล้วหรือทัศนคติในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว แต่มันก็สร้างอคติบางอย่างในความรู้สึกของคนที่มีหน้าที่คัดเลือกเราเข้าทำงาน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่องค์กรจะปฏิเสธที่จะรับผู้สมัครเข้าทำงานหากพบว่า (เคย) โพสต์ภาพ วิดีโอ หรือข้อมูลในทางไม่เหมาะสม

ฉะนั้น ในยุคสมัยที่ “การขุด” และ “การแฉ” เป็นเรื่องราวที่น่าสนุกสนานสำหรับคนในสังคม รวมถึงอดีตที่ลบไปแล้วก็ยังคงตามติดเป็นเงาตามตัวของคนทุกคนที่มีอีกตัวตนอยู่บนออนไลน์ การที่จะโพสต์ ไลก์ แชร์ หรือคอมเมนต์ใด ๆ คงต้องคิดกันให้ถี่ถ้วนให้มากขึ้นกว่าเดิม หากคิดจะโพสต์จริง ๆ ก็ต้องคงความเป็นมืออาชีพและโพสต์ไปในทางที่สร้างสรรค์เข้าไว้ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องระงับใจไม่ปล่อยให้มือลั่นจะดีกว่า อย่างที่มีคำกล่าวบอกว่า “การไม่โพสต์ทุกอย่างที่คิด แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะ (ในการยับยั้งชั่งใจ)” อย่าทำลายตัวเองในอนาคตด้วยตัวเองในอดีต

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.