คิดจะเป็นฟรีแลนซ์ ต้องวางแผนทางการเงินยังไงบ้าง

ปัจจุบัน การทำงานเป็นฟรีแลนซ์ อันหมายถึงการรับจ้างทำงานแบบไม่ประจำ ไม่ว่าจะเป็นสายคอมพิวเตอร์ สายกราฟิก สายนักเขียน สายนักแปล สายบัญชี หรืออีกหลายสายงาน ที่ยุคนี้สามารถทำงานในลักษณะของการรับจ้างแบบไม่ประจำได้ โดยมีสัญญาผูกมัดตามชิ้นงานหรือระยะเวลาในการทำงานให้เสร็จสมบูรณ์

ซึ่งการเป็นฟรีแลนซ์นั้น สิ่งสำคัญคือการเตรียมตัวทางการเงินให้พร้อม เพราะทุกสิ้นเดือนจะไม่ได้มีเงินเข้าบัญชีมารอคุณเหมือนมนุษย์เงินเดือน และมีโอกาสที่งานที่คุณรับมาทำแม้จะส่งงานไปแล้วแต่การจ่ายเงินอาจล่าช้ากว่าที่ที่ตกลงกันไว้ก็ได้

ดังนั้น การวางแผนทางการเงินจึงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ฟรีแลนซ์ ซึ่งจะประกอบไปด้วยอะไรบ้างมาดูรายละเอียดกัน

1. เตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน อย่างน้อย 6-12 เดือน

เงินสำรองฉุกเฉินถือเป็นเงินออมตัวแรกที่ควรจะมี และจะทำให้เราใช้ชีวิตฟรีแลนซ์อย่างอุ่นใจมากขึ้น โดยสูตรมาจากการคำนวณค่าใช้จ่ายคงที่ในแต่ละเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ แล้วนำมาคูณด้วย 6-12 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มากพอสำหรับการวางแผนชีวิตใหม่ในช่วงที่ความไม่แน่นอนมาทำให้รายได้ของเราเกิดสะดุด

2. สะสมเงินเข้าประกันสังคม

ฟรีแลนซ์สามารถสมัครประกันสังคมเพื่อรับสิทธิประโยชน์เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย รวมถึงค่าตอบแทนในยามชราภาพได้เช่นเดียวกัน โดยฟรีแลนซ์สามารถรับสิทธิประกันสังคมได้ตามมาตรา 40

3. สมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

การออมเงินผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ฟรีแลนซ์อย่างเรามีเงินออมสำหรับใช้จ่ายยามเกษียณ เพราะสามารถรับเงินสมทบจากรัฐบาลสูงสุด 100% และยังมีความยืดหยุ่นสูง เดือนไหนมีมาก ออมมาก เดือนไหนมีน้อย ออมน้อย

4. ลงทุนในกองทุนรวม

นอกจากการเก็บออมเงินผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ ควรแบ่งรายได้บางส่วนมาลงทุนต่อยอดเพื่อเพิ่มโอกาสในการเก็บออมเงินในจำนวนที่มากขึ้น นอกจากนี้กองทุนรวม SSF และ RMF ยังเป็นตัวช่วยที่ดีในการลดหย่อนภาษีอีกด้วย

5. ออมเงินในประกันชีวิตแบบบำนาญ

ประกันชีวิตแบบบำนาญ คือประกันชีวิตที่เน้นการออมเงิน โดยเราจะต้องชำระเบี้ยประกันเป็นระยะเวลาตามที่ระบุไว้ เช่น ออมอย่างต่อเนื่องจนถึงวัยเกษียณ แล้วรอรับเงินในรูปแบบของบำนาญ นอกจากนี้ยังนำค่าเบี้ยประกันบำนาญไปลดหย่อนภาษีได้ตามกฎหมาย จึงเหมาะกับฟรีแลนซ์เป็นอย่างมาก

6. ซื้อประกันให้ครอบคลุม ทั้งด้านสุขภาพ และอุบัติเหตุ

นอกจากประกันที่ช่วยออมเงินไว้ใช้ในระยะยาวแล้ว อย่าลืมหาเครื่องมือที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพเอาไว้ด้วย เวลาที่เราเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝัน รายได้ของเราอาจขาดมือได้ ประกันที่ช่วยดูแลสุขภาพ และคุ้มครองด้านอุบัติเหตุจึงเป็นอีกตัวเลือกที่ควรมีเผื่อไว้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.