ตำนานตุ๊กตาไล่ฝน กับความสยองที่มองไม่เห็น

ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงหน้าฝน ทำให้ฝนตกเป็นระยะ ๆ จนการตากผ้าหรือการเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก ในช่วงเวลาแบบนี้หลาย ๆ คน ก็คงจะนึกถึงเครื่องรางของประเทศญี่ปุ่นอย่าง “ตุ๊กตาไล่ฝน” ตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ สีขาวสุดน่ารัก ที่ปรากฏในการ์ตูนชื่อดังอย่าง “อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา”

แต่รู้หรือไม่ ว่าถึงแม้รูปลักษณ์ภายนอกจะดูน่ารักสดใส แต่ตุ๊กตาไล่ฝนของประเทศญี่ปุ่นกลับมีตำนานอันน่าสะพรึงกลัวซ่อนอยู่ ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับตำนานตุ๊กตาไล่ฝน รวมถึงความเชื่อต่าง ๆ กัน

ตุ๊กตาไล่ฝน คืออะไร?

ก่อนจะพูดถึงตำนานตุ๊กตาไล่ฝน เราคงจะต้องทำความรู้จักตุ๊กตาตัวนี้กันก่อน ตุ๊กตาไล่ฝน หรือในภาษาญี่ปุ่นคือ เทะรุ เทะรุ โบสุ มีความหมายตรงตัวว่า หัวล้านแดดออก เป็นตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ ทำจากผ้าสีขาว หัวกลมโต วาดหน้าตาไว้อย่างง่าย ๆ นิยมแขวนไว้นอกหน้าต่างหรือหน้าประตูบ้าน

เด็ก ๆ ในประเทศญี่ปุ่นมักจะนิยมแขวนไว้ในวันก่อนที่จะมีวันสำคัญ ๆ เช่น วันทัศนศึกษา วันงานกีฬาสี และถ้าหากว่าวันต่อมาฝนไม่ตก ก็จะต้องแขวนกระดิ่งหรือเทสาเกให้กับตุ๊กตาไล่ฝน เพื่อเป็นการขอบคุณ ในทางกลับกัน ถ้าเกิดอยากให้ฝนตก คนญี่ปุ่นจะแขวนตุ๊กตาไล่ฝนกลับหัว วิธีนี้ชาวนาญี่ปุ่นมักจะทำกันเพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล

สำหรับวิธีการทำตุ๊กตาไล่ฝนก็ง่ายนิดเดียว เพียงแค่ใช้กระดาษ หรือกระดาษทิชชู่ 2 แผ่น มาทำเป็นส่วนหัวให้กลม ๆ แล้วนำเชือกมาผูกไว้ ก่อนจะนำไปแขวนไว้ที่หน้าต่าง จะเห็นได้ว่าในขั้นตอนของวิธีการทำนั้นไม่ได้มีการวาดหน้าลงไป นั่นก็เพราะการทำตุ๊กตาไล่ฝนที่ถูกต้องไม่จำเป็นจะต้องวาดหน้าลงไป แต่จะวาดเมื่อคำขอเป็นจริงต่างหาก

ส่วนทิศทางของการแขวนตุ๊กตาไล่ฝน คนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าทิศทางที่สำหรับการแขวนตุ๊กตาไล่ฝนคือทิศใต้ ที่สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ได้ ในทางตรงกันข้ามกล่าวกันว่าถ้าแขวนไว้ทางทิศเหนือจะทำให้เกิดฝนตก

เมื่อสังเกตดี ๆ จะเห็นว่ารูปร่างของตุ๊กตาไล่ฝนดูคล้ายกับคนถูกแขวนคอ ซึ่งนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของตำนานที่จะเล่าต่อไปนี้ หลังจากรู้จักตุ๊กตาไล่ฝนกันพอสมควรแล้ว หลังจากนี้เราจะเข้าสู่ตำนานหลอน ๆ ของตุ๊กตาไล่ฝนกันบ้าง

Teruteru Bozu เพลงตุ๊กตาไล่ฝนกับเนื้อเพลงที่น่ากลัว

ในประเทศญี่ปุ่น มีการให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องหน้าฝน ถึงขั้นมีการแต่งเพลงจากตุ๊กตาไล่ฝนให้เด็ก ๆ ในประเทศญี่ปุ่นร้อง แต่ถึงแม้จะบอกว่าเป็นเพลงที่เด็ก ๆ ใช้ร้องกัน แต่เนื้อเพลงกลับมีความน่ากลัว ซึ่งยิ่งตอกย้ำให้ตำนานเรื่องนี้ดูสยองขึ้นกว่าเดิมมากขึ้น

โดยเนื้อเพลง เมื่อแปลเป็นไทย จะจับใจความได้ดังนี้

เทะรุเทะรุโบซุ เทะรุโบซุ ช่วยทำให้อากาศวันพรุ่งนี้แจ่มใสด้วยเถิด

เหมือนกับท้องฟ้าในความฝันหนึ่ง หากอากาศแจ่มใสฉันจะให้กระดิ่งทอง

เทะรุเทะรุโบซุ เทะรุโบซุ ช่วยทำให้อากาศวันพรุ่งนี้แจ่มใสด้วยเถิด

หากฟังคำขอของฉันละก็ จะให้ดื่มสาเกแสนหวาน

เทะรุเทะรุโบซุ เทะรุโบซุ ช่วยทำให้อากาศวันพรุ่งนี้แจ่มใสด้วยเถิด

หากยังมีฝนตกละก็ ฉันจะตัดหัวของเธอซะ

ซึ่งในเพลงท่อนสุดท้ายที่ร้องว่า “ฉันจะตัดหัวของเธอซะ” ก็มีความหมายในทางที่ไม่ดี และเมื่อรวมกับตำนานที่จะเล่าดังต่อไปนี้ จะยิ่งทำให้ตุ๊กตาไล่ฝนในความทรงจำของทุกคนเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

ตำนานสุดสยองของตุ๊กตาไล่ฝน

สำหรับเรื่องราวของตุ๊กตาไล่ฝน มีรายละเอียดที่ถูกเล่าขานแตกต่างกันออกไป แต่ที่คล้ายคลึงกันที่สุดคือมีอยู่ว่าในอดีตเมืองแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นเจอกับเหตุการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่อง จนเกิดน้ำท่วมใหญ่ ส่งผลให้พืชสวนไร่นาของชาวบ้านเสียหายอย่างหนัก ชาวบ้านจึงเริ่มภาวนาต่อเทพเจ้าขอให้ฝนหยุดตก แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าฝนจะหยุด จนเจ้าเมืองต้องประกาศหาผู้ที่สามารถทำให้ฝนหยุดตกได้ และจะมอบรางวัลให้

พระรูปหนึ่งที่ลือกันว่าสามารถทำพิธีปัดเป่าทำให้ฝนหยุดได้ จึงเดินทางมาเสนอตัวว่ามีความสามารถทำให้ฝนหยุดตกได้ เมื่อมาถึงพระรูปนั้นได้เริ่มสวดมนต์ แต่สวดสักเท่าไหร่ฝนก็ไม่มีแนวโน้มว่าจะหยุด เจ้าเมืองโกรธมากจึงสั่งลงโทษด้วยการตัดศีรษะ แล้วนำศีรษะคลุมด้วยผ้าขาว แขวนประจานงโทษ ในข้อหาหลอกลวง

ทว่าในวันถัดมาเรื่องมหัศจรรย์กลับเกิดขึ้น เมื่อวันถัดมาฝนกลับหยุดตกในที่สุด จากนั้นชาวบ้านจึงเชื่อกันว่า ถ้าทำตุ๊กตาไล่ฝนหัวกลมเหมือนดั่งพระภิกษุ แล้วนำไปแขวนไว้ จะทำให้ฟ้าของวันรุ่งขึ้นนั้นสดใสปลอดโปร่ง

ซึ่งเนื้อหาของตำนานเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับเนื้อเพลง ที่บอกว่าถ้าทำไม่ได้จะตัดหัวของเธอซะ นับว่าเรื่องราวที่เมื่อรับรู้แล้วจะทำให้เรามองตุ๊กตาไล่ฝนต่างไปจากเดิมอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ประเทศจีนก็มีตำนานคล้าย ๆ กัน โดยประเทศจีนมีตุ๊กตาขอพรที่เป็นตุ๊กตาเด็กผู้หญิงถือไม้กวาดอยู่ เรียกว่า ตุ๊กตาเซ่าฉิงเหนียง (หญิงสาวผู้ขจัดเมฆฝน) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าตำนานทั้งสองมีความคล้ายคลึงกัน นั่นเพราะญี่ปุ่นได้รับธรรมเนียมเกี่ยวกับการไล่ฝนมาจากประเทศจีนเมื่อราวสมัยเฮอัง (ค.ศ. 794 – ค.ศ. 1185) และหลอมรวมเข้ากับความเชื่อพื้นบ้านในที่สุด

ตำนานสาวฟ้าใส เรื่องราวน่าเศร้าของประเทศจีน

สำหรับเรื่องราวของประเทศจีน มีอยู่ว่า ณ เมืองแห่งหนึ่งของประเทศจีนในอดีต หญิงสาวงามคนหนึ่งทำงานตัดกระดาษ ในปีหนึ่งมีพญามังกรทะเลตะวันออก ได้บันดาลให้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักจนเกิดเป็นอุทกภัย

หญิงสาวได้ยินเสียงจากสวรรค์ว่า “หากเสียสละชีวิตของเจ้า ฝนจะหยุดตก หากไม่ทำเช่นนั้นจะเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่” นางจึงตัดสินใจ สละชีพตนเองเพื่อวิงวอนต่อพญามังกรให้ฝนหยุดตก ก่อนเดินทางขึ้นสู่สวรรค์นางได้กำชับชาวบ้านว่า หากวันใดมีฝนตกหนัก ให้ตัดกระดาษเป็นรูปตัวของนางแขวนไว้กับหลังคาบ้าน จะช่วยทำให้ท้องฟ้าปลอดโปร่งแจ่มใส

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาถ้าวันใดมีฝนตก ผู้คนก็จะอธิษฐานขอให้อากาศแจ่มใสโดยแขวนกระดาษที่ตัดเป็นรูปหญิงสาวถือไม้กวาดมาแขวนไว้ที่หน้าประตู เพื่อเป็นการระลึกถึง “เซ่าฉิงเหนียง” ที่เก่งในด้านการตัดกระดาษ และที่เป็นหญิงสาวถือไม้กวาดเพื่อเป็นการแสดงว่าเป็นหญิงสาวที่ช่วยขจัดเมฆฝนออกไปได้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.