"ความเครียด" ภัยเงียบกระตุ้นโรคเบาหวาน! วงจรอันตรายที่วัยรุ่น-วัยทำงานควรระวัง
ความเครียดกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงานที่ต้องรับมือกับความเร่งรีบและแรงกดดันมากมาย หลายคนเลือกจัดการความเครียดด้วยการกินของหวาน เช่น ชานม ช็อกโกแลต โดนัท เพราะรสชาติอร่อย กินแล้วรู้สึกดี เยียวยาจิตใจ แต่การคลายเครียดด้วยของหวานบ่อย ๆ อาจเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่ "โรคเบาหวาน" ได้เช่นกัน โดยสถิติของกรมควบคุมโรคชี้ว่า ในปี 2565 มีคนไทยป่วยเบาหวานสะสมถึง 3.3 ล้านคน และมีผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 3 แสนคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง วันนี้ นพ. ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ ศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก รพ.วิมุต จะมาอธิบายลักษณะของโรคเบาหวาน ความเชื่อมโยงระหว่างความเครียดและโรคเบาหวาน พร้อมแนะนำวิธีจัดการความเครียดที่ป้องกันความเสี่ยงโรคเบาหวานในระยะยาว
อ่อนเพลีย ตาพร่ามั่ว สัญญาณเตือนโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานคือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ มีระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป หรือมีค่าน้ำตาลสะสมตั้งแต่6.5% จากการตรวจอย่างน้อย 2 ค่า ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ บางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน เช่น สายตาพร่ามัว มองไม่ชัด มีแผลที่เท้าเรื้อรัง มีอาการชาที่ปลายมือหรือปลายเท้า อ่อนเพลีย หรือผิวแห้งและคัน นพ. ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล เล่าต่อว่า “โรคเบาหวานแบ่งได้หลายแบบแต่เบื้องต้นเพื่อความเข้าใจง่ายขอแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ชนิดที่ 1 เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ตับอ่อนที่ผลิตอินซูลิน ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ชนิดที่ 2 พบในผู้ที่มีน้ำหนักเกินและไขมันในช่องท้องมาก ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ชนิดที่ 3 เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ และชนิดสุดท้ายเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือสาเหตุเฉพาะอื่น ๆ ที่ไม่จัดอยู่ใน 3 ประเภทแรก เช่น การใช้ยา เป็นต้น ส่วนในกลุ่มประวัติครอบครัวที่มีคนเป็นเบาหวาน หรือในกลุ่มผู้สูงอายุนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ทุกวันนี้คนอายุน้อยก็เป็นโรคเบาหวานกันแล้ว เพราะนิยมกินของหวานเพื่อคลายเครียดและไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย กลายเป็นพฤติกรรมอันตรายที่เพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน”
เป็นเบาหวานเสี่ยงซึมเศร้ากว่าปกติ 2 เท่า
โรคเบาหวานและความเครียดมีความเชื่อมโยงกันโดยตรง เพราะเมื่อเผชิญความเครียด หลายคนมักหันไปพึ่งของหวาน โดยไม่รู้ตัวว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน และเมื่อป่วยเป็นเบาหวานแล้ว ภาระในการดูแลตัวเองยิ่งหนักขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายตามตารางที่แพทย์แนะนำ หรือการกินยาอย่างเคร่งครัดเพื่อควบคุมโรค ซึ่งอาจทำให้เกิดความเครียดสะสม ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า และกว่า 30% ของผู้ป่วยมักประสบปัญหาสุขภาพจิตที่อาจทำส่งผลให้ละเลยการดูแลตนเอง เช่น ขาดแรงจูงใจในการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย หรือลืมกินยาบ่อยครั้ง ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนเบาหวานกำเริบ รวมถึงอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคไต หรือโรคหลอดเลือดสมอง กลายเป็นวงจรอันตรายที่ส่งผลร้ายต่อทั้งสุขภาพกายและจิตใจ
จัดการความเครียดให้เหมาะสม ป้องกันโรคเบาหวาน
การกินของหวานไม่ใช่วิธีแก้เครียดเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีอีกหลายวิธี เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง เล่นเกม หรือฟังเพลง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้ในระยะยาว นพ. ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล อธิบายต่อว่า "แต่ถ้ายังอยากกินของหวานอยู่ ก็ควรจำกัดปริมาณน้ำตาลไม่ให้เกิน 6 ช้อนชาหรือ 24 กรัมต่อวัน และควรไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีแม้จะอายุน้อยหรือยังไม่มีอาการ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น กินของหวานเป็นประจำ มีประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คนในครอบครัวเป็นเบาหวาน มีน้ำหนักเกิน หรือมีโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะถ้าตรวจพบเร็วจะได้รักษาได้ทันเวลา"
"ในยุคนี้ความเครียดเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเรียนและคนทำงาน แม้การกินของหวานจะเป็นตัวช่วยที่สะดวกที่สุด แต่ถ้ากินจนติดเป็นนิสัยก็อาจนำไปสู่โรคเบาหวานได้ จึงอยากให้ทุกคนลองผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีอื่นที่ดีกว่า อาทิ เล่นกีฬา ไปเที่ยว หรือทำกิจกรรมที่ชอบ ส่วนของหวานก็ยังกินได้ แต่ก็ควรลดและกินในปริมาณที่พอดี ที่สำคัญอย่าลืมมาตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ จะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานในอนาคต" นพ. ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล กล่าวทิ้งท้าย
- สัญญาณเตือนโรคเบาหวาน จะมีอาการอย่างไร
- 4 ผักที่ผู้ป่วยเบาหวานควรเลี่ยง ยิ่งกินยิ่งเสี่ยงน้ำตาลในเลือดพุ่ง
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.