ทาสแมวอย่าเล่นเพลิน! "โรคเชื้อราแมว" อันตรายที่มากับการสัมผัสเจ้าเหมียว
ขึ้นชื่อว่า “ทาสแมว” แล้ว เวลาไปเจอแมวที่ไหนก็คงอดไปเล่นด้วยไม่ได้ โดยเฉพาะเจ้าตัวที่เลี้ยงอยู่ที่บ้านยิ่งแล้วใหญ่ เราทั้งลูบ อุ้ม หรือซุกขนนุ่ม ๆ ตลอดทั้งวัน บางคนถึงขั้นเอามานอนกอดทั้งคืน จนบางทีอาจสังเกตว่าตัวเองเริ่มมีผื่นแดงคันผิดปกติตามร่างกาย แถมยิ่งเกาก็ยิ่งลามเป็นวงกว้าง ซึ่งอาจเป็นอาการของ "โรคเชื้อราแมว" ที่ติดต่อจากการสัมผัสเชื้อราบนผิวหนังแมว และหากไม่รักษาและทิ้งไว้นาน ๆ อาจทำให้ติดเชื้อขั้นรุนแรง วันนี้ พญ.สุธาสินี
ไพฑูรย์วัฒนกิจ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านผิวหนัง ศูนย์ผิวหนังและความงาม รพ.วิมุต จะมาเล่าถึงสาเหตุและอาการของโรคเชื้อราแมว พร้อมบอกวิธีป้องกันและรักษา เพื่อให้ทาสแมวทุกคนรับมือได้อย่างถูกต้อง จะได้เล่นกับ
น้อง ๆ เวลาเค้าอ้อนได้อย่างสบายใจ
ยิ่งสัมผัสยิ่งเสี่ยง "โรคเชื้อราแมว"
โรคเชื้อราแมว เกิดจากการสัมผัสเชื้อรา Microsporum canis ที่อยู่ตามผิวหนังของแมว ซึ่งมนุษย์สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับแมวที่มีเชื้อหรือสัมผัสกับสปอร์ของเชื้อราที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม คนส่วนใหญ่จะมีผื่นวงแดงที่มีอาการคัน มีขอบผื่นชัด มีขุยบริเวณขอบของผื่น ตำแหน่งที่มักเป็นบ่อย ได้แก่ ใบหน้า หนังศีรษะ แขน คอ และสามารถติดจากคนสู่คนได้ พญ.สุธาสินี ไพฑูรย์วัฒนกิจ กล่าวเสริมว่า "การกระจายตัวของเชื้อราหรือรอยผื่นนั้นจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่สัมผัสและรับเชื้อมา เช่น ถ้าอุ้มแมวก็จะติดตรงแขน ถ้าแมวเลียหน้าก็อาจมีผื่นขึ้นที่หน้า นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน โดยหากเป็นกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มผู้ป่วย HIV ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ การกระจายตัวของผื่นก็จะมากเป็นพิเศษ รวมถึงการเกาก็จะทำให้ผื่นลามไปตามตำแหน่งต่างๆได้"
"เชื้อราแมว" รักษาให้ไวก่อนติดเชื้อในกระแสเลือด
โดยปกติเราจะสังเกตการติดเชื้อราเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองจากลักษณะผื่นที่เกิดขึ้น หากมีผื่นเป็นวงแดง มีขุยบริเวณขอบผื่น ก็อาจเข้าข่ายเป็นโรคเชื้อราแมว เมื่อพบก็ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษาอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง และในบางครั้งอาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ซึ่งก่อนการรักษา แพทย์จะขูดบริเวณขุยไปตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ และอาจส่งเพาะเชื้อเพื่อหาลักษณะหรือสายพันธุ์ของเชื้อราเพื่อหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง พญ.สุธาสินี ไพฑูรย์วัฒนกิจ เล่าถึงวิธีการรักษาว่า "แพทย์จะรักษาตามอาการ หากเป็นการติดเชื้อไม่กี่ตำแหน่ง จะจ่ายยาทาต้านเชื้อราร่วมกับยาลดอาการคัน หากมีผื่นที่บริเวณศีรษะหรือมีผื่นเป็นบริเวณกว้าง แพทย์จะให้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน โดยเมื่อรักษาอย่างต่อเนื่องประมาณ 3 สัปดาห์ ผื่นที่เกิดตามร่างกายขึ้นจะดีขึ้น ส่วนผื่นบริเวณหนังศีรษะอาจจะใช้เวลานานกว่านั้น โดยจะใช้เวลารักษาประมาณ 6-8 สัปดาห์"
รวมวิธีป้องกัน “โรคเชื้อราแมว” ไม่ให้มากวนใจ
ทาสแมวทุกคนสามารถป้องกันเชื้อราแมวได้หลายวิธี เช่น ล้างมือและทำความสะอาดร่างกายเมื่อสัมผัสแมวทุกครั้ง อาบน้ำทำความสะอาดให้แมวที่บ้านของเราอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นสังเกตว่าหากน้อง ๆ ของเรามีผื่นแดง ขนร่วง หรืออาการผิดปกติ ก็ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษาเชื้อรา อีกวิธีที่สำคัญคือต้องหมั่นทําความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่น้อง ๆ ไปสัมผัส เช่น โซฟา โต๊ะ สิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน เพราะขนและเศษผิวหนังของสัตว์สามารถร่วงมาติดบริเวณเหล่านี้ได้เสมอ พญ.สุธาสินี ไพฑูรย์วัฒนกิจ เสริมเรื่องวิธีป้องกันว่า "จริง ๆ ไม่ใช่แค่แมวเท่านั้น สัตว์หลาย ๆ ชนิด เช่น สุนัข กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ ก็สามารถเป็นตัวแพร่เชื้อราของสัตว์มาให้เราได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อสัมผัสสัตว์ไม่ว่าจะชนิดไหน ก็ควรทำความสะอาดให้ดีทุกรอบ"
"เข้าใจว่าทาสแมวทุกคนชอบคลุกคลีอยู่กับน้อง ๆ ดังนั้นควรพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดมาก ๆ เช่น การให้แมวเลียปาก เลียหน้า หรือว่านอนด้วยกันตลอดทั้งวัน เพราะจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อรา นอกจากนี้ควรหมั่นสํารวจแมวที่บ้านของเราว่ามีผื่น มีขนร่วงผิดปกติไหม และพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพผิวหนังเป็นประจำ อย่าลืมทําความสะอาดร่างกายทุกครั้งหลังจากสัมผัสใกล้ชิดแมว รวมถึงดูดฝุ่น เช็ดทําความสะอาดในจุด
ที่แมวของเราไปสัมผัสด้วย เพื่อให้เรามีสุขภาพที่ดี จะได้อยู่ดูแลน้อง ๆ ของเราไปได้นาน ๆ" พญ.สุธาสินี
ไพฑูรย์วัฒนกิจ กล่าวทิ้งท้าย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.