พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ปรับโฉมใหม่ตระการตา เปิดให้เข้าชมแบบ soft opening แล้ว

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ทั้งด้านข้อมูลการจัดนิทรรศการ เทคนิคและรูปแบบการนำเสนอเพื่อให้มีความน่าสนใจและดึงดูดผู้ชมให้เข้ามาศึกษาเรียนรู้มรดกทางศิลปวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้ส่วนจัดแสดงนิทรรศการชั้นล่างแล้วเสร็จ โดยมีไฮไลท์อยู่ที่การจัดแสดงทับหลังจากปราสาทพิมายและประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อบริการผู้เข้าชมตามแนวทางการจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อปี 2536 จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และความเป็นมาของเมืองพิมาย ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน กรมศิลปากรจึงได้พัฒนาและเพิ่มศักยภาพพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ซึ่งมีการศึกษาทางโบราณคดีและพบหลักฐานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาและสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ในฐานะแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญในระดับภูมิภาคอีสานตอนล่าง โดยดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565

นิทรรศการถาวรในอาคารจัดแสดงที่ 1 (ชั้นล่าง) ที่ปรับปรุงแล้วเสร็จ และเปิดให้เข้าชมแบบ soft opening ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 ประกอบด้วย

“ก่อร่างสร้างปราสาท พิมาย” บอกเล่าเรื่องราวปราสาทพิมาย ตั้งแต่ที่มาของชื่อ "พิมาย" และการก่อสร้างปราสาทพิมาย ไม่ว่าจะเป็นวัสดุ เครื่องมือ วิธีการ รวมถึงความเชื่อและพิธีกรรมในการก่อสร้าง

“หลักฐานคนพิมาย” จัดแสดงหลักฐานที่บอกเล่าวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ภาชนะดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องไทยธรรม และพาหนะในการเดินทาง

“ศาสนาในเมืองพิมาย” เมืองพิมาย เป็นศูนย์กลางสําคัญของศาสนาพุทธลัทธิมหายานนิกายวัชรยาน ที่สําคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา (ประมาณ 900 ปีมาแล้ว) นอกจากปราสาทพิมาย ยังปรากฏวัตถุเนื่องในพุทธศาสนาที่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เมืองพิมายยังพบการเคารพนับถือศาสนาฮินดูควบคู่กันไปด้วย

“เมืองพิมาย สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7” พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ผู้ทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์มหิธรปุระ ในรัชสมัยของพระองค์ เมืองพิมายมีนามว่า วิมายปุระ เป็นเมืองสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งและเจริญรุ่งเรืองมากในขณะนั้น มีการสร้างประตูเมืองพิมายขึ้นทั้ง 4 ด้าน และโปรดให้สร้าง สถานพยาบาล (อาโรคยศาลา) ขึ้นที่เมืองพิมาย และสร้างที่พักคนเดินทาง (วหนิคฤหะ - บ้านมีไฟ) ตามถนนสายหลัก ที่ตัดจากเมืองพระนครหลวงมายังพิมายด้วย

“เมืองพิมาย หลังพุทธศตวรรษที่ 18” เมื่อสิ้นสุดรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อิทธิพลทางการเมืองของอาณาจักรเขมรโบราณเริ่มเสื่อมลง เป็นผลให้อาณาจักรอยุธยาขยายอํานาจเข้าสู่บ้านเมืองในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน ดังพบหลักฐานรูปเคารพสมัยอยุธยาที่ถูกนําเข้าไปประดิษฐานภายในปราสาทเขมรโบราณ เช่น ปราสาทพนมวัน ปราสาทพิมาย รวมถึงการพบโบราณสถานสมัยอยุธยาในเมืองพิมาย เช่น อุโบสถวัดเจ้าพิมาย และเมรุพรหมทัต

“ลวดลายจําหลัก : ศิลปะแห่งเมืองพิมาย” ห้องจัดแสดงไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงทับหลังจากปราสาทพิมายและประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และประติมากรรมรูปสตรีที่สันนิษฐานว่าเป็นพระนางศรีชัยราชเทวี มเหสีองค์แรกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

สำหรับอาคารจัดแสดงชั้นบน ปิดให้บริการ เนื่องจากอยู่ในระหว่างการจัดเตรียมพื้นที่เพื่อปรับปรุงนิทรรศการ โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย มีแผนการดำเนินงานปรับปรุงต่อไปในปีงบประมาณ 2568

ขอเชิญร่วมชมและสัมผัสประสบการณ์ใหม่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ตําบลในเมืองอําเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เฉพาะส่วนจัดแสดงชั้นล่างที่ปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว และส่วนอาคารศิลาจำหลัก จัดแสดงโบราณวัตถุซึ่งเป็นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทรายที่พบจากโบราณสถานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม วันพุธ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00 - 16.00 น.

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.