"ผักไฮโดรโปนิกส์" อันตรายกว่า "ผักทั่วไป" จริงหรือไม่
ต้องยอมรับว่ากระแสการรักสุขภาพนั้นเป็นกลายเป็นกระแสหลักที่ยาวนานต่อเนื่องไปเสียแล้ว ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารให้มีประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุดจึงเป็นเรื่องจำเป็น "ผัก" ก็เป็นอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งในปัจจุบันผักที่วางจำหน่ายก็มีการปลูกด้วยหลากหลายวิธี "ผักไฮโดรโปนิกส์" ก็เป็นผักอีกประเภทหนึ่งที่กลายเป็นทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีการพูดกันว่าผักไฮโดรโปนิกส์นั้นปลูกในน้ำที่มีสารเคมี จึงจะมีสารเคมีตกค้าง เรื่องนี้ความจริงเป็นอย่างไร เพจอ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ได้มีการโพสต์รายละเอียดไว้ดังนี้
ภาพอินโฟกราฟฟิคที่กล่าวหาว่า "พืชผักไฮโดรโปนิกส์อันตราย" นั้นกลับมาแชร์กันใหม่อีกแล้ว ซึ่งผมก็เคยพูดหลายทีแล้วว่า ผักไฮโดรโปนิกส์มันไม่ได้อันตรายอย่างที่ว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นการปลูกที่ได้มาตรฐานตามหลักการที่ยอมรับกันโดยสากล ก็มั่นใจได้ว่าไม่ได้มีสารอันตรายตกค้างอะไรที่ว่านั้นเพื่อเสริมความมั่นใจมากขึ้น ขอเอาบทความจาก สสส. มาแชร์ให้อ่านด้วยแล้วกันครับ
กระแสการกินผักไฮโดรโปนิกส์ หรือผักที่ปลูกในน้ำ กินแล้วอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เป็นมะเร็ง เพราะมีสารไนเตรทตกค้าง ข่าวนี้สร้างกระแสตื่นกลัวกับนักนิยมกินผักโดยเฉพาะกินสลัดผัก ทำให้สับสน ไม่แน่ใจที่จะกินผักต่อไปดีหรือไม่
แต่ที่สำคัญข่าวนี้มีผลกระทบต่อผู้ปลูกผักไฮโดรฯอยู่ทั่วประเทศ จึงเกิดคำถามตามมาว่า ผักไฮโดรฯที่ปลูกในน้ำ กับผักที่ปลูกดินอันไหนปลอดภัยกว่ากัน? สารไนไตรทที่ตกค้างในผักไฮโดรฯก่อมะเร็งได้จริงหรือ? แล้วผักปลูกดินมีไนเตรทไหม? สุดท้ายจะปลูกและบริโภคผักไฮโดรฯอย่างไรให้ปลอดภัยได้ประโยชน์มากที่สุด?
ณ วันนี้ ยังไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หรืองานวิจัยสำนักใดในโลกออกมายืนยันว่า กินผักไฮโดรโปนิกส์แล้วทำให้เป็นมะเร็ง หรือสารไนเตรทที่ตกค้างในผักไฮโดรฯเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในคน การนำงานวิจัยสารไนเตรทถ้ากินมากจะนำไปสู่มะเร็ง มาผูกโยงกับการพบไนเตรทในผัก ไฮโดรฯ แล้วรีบด่วนสรุปบอกสาธารณะนั้น เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความสับสน และเร็วเกินไปที่จะสรุป
ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับคือ ทั้งผักที่ปลูกในน้ำและผักปลูกดินล้วนมีสารไนเตรทตกค้างอยู่ทั้งนั้น แต่โดยทั่วๆ ไปจากงานวิจัยหลายชิ้นค้นพบว่า ผักไฮโดรฯจะพบสารไนเตรทมากกว่าผักปลูกดินเพียงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับได้มาตรฐานและปลอดภัยของยุโรปและอเมริกาที่จะบริโภค เวลาปลูกผักไม่ว่าจะปลูกในน้ำหรือบนดิน ล้วนต้องใช้ปุ๋ยด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ใช้ปลูกเมล็ดในผักปลูกดิน ส่วนผักปลูกน้ำใช้สารละลายแร่ธาตุ ซึ่งปุ๋ยทั้งสองชนิดย่อมมีองค์ประกอบที่เหมือนกันคือ มีแร่ธาตุหลัก ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เพราะเป็นสารอาหารที่พืชต้องการนำไปสร้างความเจริญเติบโต เช่นเดียวกับคนที่ต้องกินอาหารเพื่อให้ได้สารอาหารสารพัดชนิดไปหล่อเลี้ยงร่างกายให้เจริญเติบโตความเข้มข้นของสารไนเตรทที่อยู่ในผักไฮโดรฯขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ถ้าปลูกในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของแสงแดดมาก จะมีการสะสมไนเตรทได้น้อยกว่าปลูกในพื้นที่ที่มี
ความเข้มข้นของแสงแดดน้อย ดังนั้นโดยทั่วไปผักไฮโดรฯที่ปลูกในประเทศไทยซึ่งมีแดดออกตลอดทั้งปีมักจะพบสารไนเตรทน้อยกว่าที่ปลูกแถบตะวันตกที่มีแสงแดดน้อยกว่า อีกปัจจัยหนึ่งคือการใช้สารละลายแร่ธาตุใส่ลงไปในน้ำที่ปลูกผักไฮโดรฯ ถ้าเข้มข้นมากก็ย่อมจะพบสารไนเตรทได้สูงตามไปด้วย แต่แม้จะเข้มข้นอย่างไร ธรรมชาติของผักก็ย่อมจะดูดสารอาหารไปใช้เท่าที่พอกับความต้องการ นอกจากนี้ช่วงเวลาการเก็บตอนสายๆ และเก็บแล้วทิ้งผักไว้ในระยะเวลานานจะสะสมไนเตรทน้อยกว่าเก็บตอนเช้ามืดและผักที่เก็บไว้ในระยะสั้นๆ การเปลี่ยนสารไนเตรทเป็นไนไตรท์ในพืชผักนั้น เป็นไปได้ค่อนข้างน้อย
ดังนั้นเราควรไประมัดระวังสารไนไตรทและไนเตรท์จากอาหารประเภทเนื้อสัตว์หมักที่ชอบเติมสารไนไตรทลงไปเพื่อใช้เป็นสารกันบูดมากกว่า เช่น ไส้กรอก แหนม หมูยอ กุนเชียง แฮม เบคอน ปลาส้ม ปลาร้า เป็นต้นสรุปผักไฮโดรฯกินได้ แต่ถ้าจะกินผักทั้งปลูกดินและในน้ำให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์สูงสุด ควรจะกินผักหลายชนิด เพื่อให้ได้สารอาหารที่หลากหลาย ล้างผักให้สะอาดทุกครั้ง ควรหาโอกาสกินผักพื้นบ้านเป็นประจำ และเดินทางสายกลางแห่งการกินผัก เราจะได้ชื่อว่าเป็นคนฉลาดกินผักครับ
ข้อมูลจาก http://www.thaihealth.or.th/Content/41025-ผักไฮโดรโปนิกส์กับคุณค่าทางโภชนาการ.html
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.