"โอเมก้า 3-6-9" คืออะไร ต่างกันอย่างไร แบบไหนจำเป็นที่สุด
กรดไขมันโอเมก้า 3,6,9 คงเป็นชื่อกรดไขมันที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่ทราบหรือไม่ว่ากรดไขมันโอเมก้าทั้งหมดที่ว่ามานั้นคืออะไร ต่างกันอย่างไร และแบบไหนจำเป็นที่สุด เราหาคำตอบมาให้
กรดไขมันโอเมก้า 3-6-9 คืออะไร
กรดไขมันโอเมก้า-3 จัดเป็นไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหลายพันธะซึ่งร่างกายของเราไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างกรดไขมันโอเมก้า-3 ได้เอง จึงจัดเป็น "ไขมันจำเป็น" ที่เราต้องได้รับจากอาหาร
สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association: AHA) แนะนำให้รับประทานปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึกซึ่งอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า-3
กรดไขมันโอเมก้า-3 แบ่งออกเป็นหลายชนิด โดยแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันในด้านโครงสร้างและขนาด โดยชนิดที่พบมากมี 3 ชนิด ดังนี้
- กรดไอคอสเพนทาอีโนอิก (Eicosapentaenoic acid: EPA): กรดไขมันชนิดนี้มี 20 อะตอมคาร์บอน มีหน้าที่สำคัญในการสร้างสารเคมีที่ชื่อว่า อีโคซานอยด์ (eicosanoids) ซึ่งช่วยลดการอักเสบ นอกจากนี้ EPA ยังอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคซึมเศร้า
- กรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิก (Docosahexaenoic acid: DHA): กรดไขมันชนิดนี้มี 22 อะตอมคาร์บอน เป็นส่วนประกอบประมาณ 8% ของน้ำหนักสมอง มีความสำคัญต่อพัฒนาการและการทำงานของสมอง
- กรดอัลฟา-ไลโนเลนิก (Alpha-linolenic acid: ALA): กรดไขมันชนิดนี้มี 18 อะตอมคาร์บอน สามารถเปลี่ยนเป็น EPA และ DHA ได้ แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างต่ำ ALA มีประโยชน์ต่อระบบหัวใจ ภูมิคุ้มกัน และระบบประสาท
ประโยชน์ของกรดไขมันโอเมก้า 3
กรดไขมันโอเมก้า-3 ไม่เพียงแค่เป็นส่วนสำคัญของผนังเซลล์ในร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมากมาย ดังนี้
- เสริมสร้างสุขภาพหัวใจ: กรดไขมันโอเมก้า-3 ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และความดันโลหิต
- ส่งเสริมสุขภาพจิต: อาหารเสริมโอเมก้า-3 อาจช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการโรคซึมเศร้า พาร์กินสัน และโรคจิตเภทในกลุ่มเสี่ยง แต่ยังคงต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม
- ควบคุมน้ำหนักและรอบเอว: กรดไขมันโอเมก้า-3 อาจช่วยควบคุมน้ำหนักและรอบเอวได้ แต่ยังต้องการการศึกษามากขึ้น
- ลดไขมันในตับ: ผลการวิจัยเบื้องต้นชี้ว่า การบริโภคโอเมก้า-3 อาจช่วยลดปริมาณไขมันในตับ
- ส่งเสริมพัฒนาการสมองของทารก: กรดไขมันโอเมก้า-3 มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์
- ลดการอักเสบ: กรดไขมันโอเมก้า-3 อาจช่วยควบคุมการอักเสบที่เกิดขึ้นร่วมกับโรคเรื้อรังบางชนิด
การได้รับกรดไขมันโอเมก้า-3 ในปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับโอเมก้า-6 อาจส่งผลต่อการเกิดการอักเสบและโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรครูมาตอยด์ เบาหวาน เส้นเลือดแดงแข็ง และหัวใจล้มเหลว
กรดไขมันโอเมก้า-6 พลังงาน แต่ก็มาพร้อมกับการอักเสบ เช่นเดียวกับโอเมก้า-3 กรดไขมันโอเมก้า-6 จัดเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหลายพันธะ แต่ตำแหน่งของพันธะคู่สุดท้ายนั้น ห่างไป 6 อะตอมคาร์บอน จากปลายหางของโมเลกุลไขมัน ร่างกายไม่สามารถผลิตกรดไขมันโอเมก้า-6 เองได้ จึงจัดเป็น "ไขมันจำเป็น" ที่เราต้องได้รับจากอาหาร
หน้าที่หลักของกรดไขมันโอเมก้า-6 คือการให้พลังงานแก่ร่างกาย ชนิดที่พบมากที่สุดคือ กรดไลโนเลอิค ซึ่งร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นกรดไขมันโอเมก้า-6 ชนิดสายยาวขึ้น เช่น กรดอาราคิโดนิก กรดอาราคิโดนิก ทำหน้าที่คล้ายกับ EPA ในการสร้างสารเคมีที่ชื่อว่า อีโคซานอยด์ แต่ทว่าอีโคซานอยด์ที่ผลิตจากกรดอาราคิโดนิกนั้นส่งเสริมการอักเสบมากกว่า
อีโคซานอยด์ชนิดกระตุ้นการอักเสบมีบทบาทสำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตามหากร่างกายผลิตมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการอักเสบและโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ สัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างกรดไขมันโอเมก้า-6 กับ โอเมก้า-3 ควรอยู่ระหว่าง 1 ต่อ 1 ถึง 4 ต่อ 1แต่ผลการศึกษาชี้ว่าผู้ที่รับประทานอาหารแบบตะวันตกโดยทั่วไป อาจได้รับสัดส่วนของกรดไขมันทั้งสองชนิดนี้อยู่ระหว่าง 15 ต่อ 1 ไปจนถึงเกือบ 17 ต่อ 1
กรดไขมันโอเมก้า-9 เป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวชนิดเดียวซึ่งหมายความว่ามีเพียงพันธะคู่เพียงตำแหน่งเดียว โดยอยู่ห่างไป 9 อะตอมคาร์บอน จากปลายหางของโมเลกุลไขมัน กรดโอเลอิค เป็นกรดไขมันโอเมก้า-9 ที่พบมากที่สุด และเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดเดียวที่พบมากที่สุดในอาหาร
ร่างกายสามารถสังเคราะห์กรดไขมันโอเมก้า-9 เองได้ ดังนั้นจึงจัดว่าไม่ใช่ "ไขมันจำเป็น"อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า-9 แทนไขมันชนิดอื่น อาจส่งผลดีต่อสุขภาพ ผลการศึกษาในปี 2015 ชี้ว่า การให้อาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวชนิดเดียวสูงแก่หนูทดลอง ส่งผลต่อการปรับปรุงความไวของอินซูลินและลดการอักเสบ
ผลการศึกษานี้ยังพบอีกว่า มนุษย์ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวชนิดเดียวสูง มีภาวะการอักเสบที่น้อยกว่าและมีความไวของอินซูลินที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง
สรุป
อาหารเสริมผสมโอเมก้า 3-6-9 ได้รับความนิยม แต่โดยทั่วไปแล้วไม่ได้ให้ประโยชน์เพิ่มเติมเหนือการรับประทานโอเมก้า 3 เพียงอย่างเดียว ร่างกายต้องการกรดไขมันโอเมก้า 6 ในปริมาณที่เหมาะสม แต่กรดไขมันชนิดนี้พบได้ทั่วไปในอาหาร ผู้คนในสังคมตะวันตกส่วนใหญ่ อาจได้รับกรดไขมันโอเมก้า 6 มากเกินไป
นอกจากนี้ร่างกายสามารถผลิตกรดไขมันโอเมก้า 9 เองได้ และยังสามารถหาได้ง่ายจากอาหาร ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรับประทานในรูปแบบอาหารเสริม ดังนั้นแม้ว่าอาหารเสริมผสมโอเมก้า 3-6-9 จะมีสัดส่วนของกรดไขมันโอเมก้า 3-6-9 ที่เหมาะสม แต่การรับประทานโอเมก้า 3 เพียงอย่างเดียว น่าจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.