‘การแพทย์จีโนมิกส์’ เมื่อหมอสามารถพยากรณ์โรคร้ายได้ถึงระดับ DNA
การแพทย์จีโนมิกส์ หรือ เวชศาสตร์จีโนม คือ สาขาวิชาในวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาและวิเคราะห์ DNA ที่ปรากฎในเซลล์และโครโมโซมของสิ่งมีชีวิต เพื่อเข้าใจพื้นฐาน ลักษณะต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต รวมไปถึงโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้แต่เดิมเทคโนโลยีดังกล่าวจำกัดอยู่ในประเทศใหญ่ๆ ที่มีการพัฒนาด้านนี้ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มฝั่งอเมริกาและยุโรป ..
แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการพัฒนาด้านนี้อย่างก้าวกระโดด ด้วยปัจจัยสำคัญ 2 ด้านหลักๆ นั่นก็คือการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่ทำให้การถอดรหัสพันธุกรรมในปัจจุบันมีราคาลดลง เข้าถึงง่ายมากขึ้น รวมไปถึงความสามารถขยายขีดจำกัดทางการศึกษาได้มากขึ้น และปัจจัยทางด้านบุคลากรในประเทศ ที่มีความรู้ด้านเวชศาสตร์จีโนมมากขึ้นในประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ บางประเทศในแถบเอเชีย
ทั้งนี้ ในงานสัมนาวิชาการเวชศาสตร์จีโนม ในหัวข้อ ‘หนทางสู่ชีวิตทียืนยาวอย่างมีสุขภาพดี’ จัดขึ้นโดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักวิชาการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาในประเทศไทย ได้แสดงให้เห็นถึงมุมมองของเวชศาสตร์จีโนมและเทคโนโลยีการแพทย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในด้านการป้องกันความเสี่ยงของพันธุกรรม เพื่อจัดการการสูญพันธุ์ซึ่งเกิดจากโรควัยชรา การศึกษาและวิเคราะห์พันธุกรรมในเด็กแรกเกิดเพื่อประโยชน์ทางด้านการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางพันธุกรรมในอนาคต รวมไปถึงการพัฒนาเทคนิคทางด้านพันธุศาสตร์ใหม่ๆ เช่น การสังเคราะห์ยีน การวิเคราะห์ DNA หรือโครโมโซมเพื่อตรวจสอบสาเหตุและพัฒนาวิธีการรักษาโรค ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นถึงแนวทางในการพัฒนาการแพทย์และรักษาโรคที่ละเอียด เฉพาะบุคคล และแม่นยำมากยิ่งขึ้นได้ในอนาคต
ประโยชน์ของเวชศาสตร์จีโนม เพิ่มประสิทธิภาพทางการแพทย์ได้อย่างไร?
ผศ.ดร.พลกฤต ทีฆคีรีกุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุศาสตร์โรคหัวใจและเวชพันธุศาสตร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้สัมภาษณ์ในงานสัมมนาวิชาการเวชศาสตร์จีโนมถึงประโยชน์ของเวชศาสตร์จีโนมว่ามีประโยชน์หลายด้าน และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของเวชศาสตร์ป้องกัน ซึ่งเป็นการป้องกันก่อนการเกิดโรคได้
‘ แรกเริ่มเวชศาสตร์จีโนมถูกใช้ในการให้คำวินิจฉัยในการรักษายากๆ และหาคำวินิจฉัยไม่ได้ เช่น การรักษามะเร็งเป็นตัวอย่างที่ดี ว่ามีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมอย่างไร และหายามุ่งเป้าในการรักษาอย่างตรงจุดได้ ตอนนี้เราพัฒนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งคือการประเมินความเสี่ยงในระดับเวชศาสตร์ป้องกัน .. ว่าถ้าเรารู้จักจีโนมของเราก่อนก็จะสามารถทราบข้อมูลของตัวเราก่อนได้’
‘ ในอดีตเรามีความเชื่อว่าควรใช้ยาในลักษณะที่ทุกคนใช้เหมือนกันซึ่งไม่จริง ในช่วงระยะหลังๆ เราเข้าสู่การรักษาแบบแม่นยำมากขึ้น คือ ต้องถูกยา ถูกคน ถูกเวลา และถ้ามีข้อมูลพันธุกรรมเราจะมีการเฝ้าระวังมากขึ้น รู้ว่าจำนวนยาควรจะขนาดไหน หรือการแพ้ยาของผู้ป่วยเป็นอย่างไร ซึ่งกลับจะช่วยให้แต่ละคนได้รับการรักษาที่ถูกต้องมากขึ้น’
การตรวจพันธุกรรมในปัจจุบันมีราคาที่ถูกลงมาก และสามารถตรวจได้ในราคาระดับหลักพัน - หลักหมื่น ก่อนหน้านี้ยังมีข้อกังขาว่า มีความจำเป็นแค่ไหนที่ประชาชนต้องเสียเงินเพิ่มแม้ว่าจะไม่ได้แสดงภาวะเจ็บป่วย .. แต่งานวิจัยจากทั้งออสเตรเลียและอเมริกามีข้อบ่งชี้ว่า ค่าใช้จ่ายของการรักษาหลายโรคเมื่อปล่อยให้โรคเกิดขึ้นนั้นสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการป้องกันอยู่มาก
‘ ในระยะเริ่มแรกเราจะเสียเงินในการตรวจ แต่ในระยะยาวเราจะประหยัดเยอะ อย่างเช่นการใช้ยา หากใช้ไม่ถูกต้องกับตัวบุคคล ก็ต้องเจอกับความเสี่ยงหรือผลข้างเคียง เช่น ยาลดไขมัน กินแล้ว กล้ามเนื้ออักเสบ ปัญหาตับ กล้ามเนื้อเจ็บ ต้องกลับมาติดตามผม เจาะเลือด เปลี่ยนยา ต้องเสียเวลา เสียค่ายา แต่ถ้ามีการตรวจพันธุกรรมก่อน ก็จะสามารถช่วยค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้’
‘ นอกจากนี้บางโรค เช่น มะเร็ง ค่าใช้จ่ายในการรักษาจะแพงกว่าอย่างเห็นได้ชัด โรคหัวใจก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่น่าสนใจ ถ้าสมมติว่ามีคนหนึ่งที่เสียชีวิตกะทันหันและรู้ว่าเป็นโรคผิดปกติที่หัวใจที่ผนังหัวใจหนา คนในบ้านคนอื่นๆ อาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง การตรวจอัลตราซาวนด์ ไปเรื่อยๆ ค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการตรวจพันธุกรรมแค่ครั้งเดียวเพื่อคัดกรองความเสี่ยงว่าคนไหนมีหรือไม่มี ถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับการไม่ตรวจคัดกรองทางพันธุกรรมเลย’
โดยโรคทางพันธุกรรมที่เรามักจะพบได้ เช่น โรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ โรคคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งพบ 1 ใน 250 คน โรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งในกระเพาะอาหาร มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งในลำไส้ใหญ่ และโรคธาลัสซีเมียซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับคนในแถบเอเชีย
ดร.โรเบิร์ต ซี.กรีน ศาสตราจารย์ด้านการพทย์ (พันธุศาสตร์) Brigham and Woman’s Hospital และ Harvad Medical School ซึ่งเดินทางมาให้ความรู้ในการสัมนาครั้งนี้ ยังให้ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจไว้ว่า ในสหรัฐอเมริกามีเด็กเป็นล้านๆ คนที่มีปัญหาด้านพันธุกรรม ซึ่งพบว่า 98% ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองก่อน ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 8 ปี อาการของโรคจึงแสดงออกมา ... นอกจากนี้ เด็กบางคนที่เข้าโครงการลำดับจีโนมในทารกแรกเกิดกลับสามารถช่วยพ่อแม่ที่ป่วยและยังไม่รู้อาการของตนเองได้อีกด้วย เมื่อตรวจเจอยีนที่ผิดปกติ ซึ่งตกทอดจากพ่อแม่สู่ลูก
สำหรับการตรวจนั้น ทางนายแพทย์พลกฤต ได้แนะนำว่าอาจจะเริ่มจากบุคคลในครอบครัวที่สงสัยว่าได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ผิดปกติ แล้วจึงค่อยๆ ขยายไปที่คนอื่นในครอบครัว โดยไม่จำเป็นต้องตรวจทุกคนในเบื้องต้น หากเจอความผิดปกติ ก็สามารถตรวจท่านอื่นโดยจะมีค่าใช้จ่ายที่ประหยัดลงและง่ายขึ้น เพราะสามารถมุ่งเป้าไปยังตัวการได้เลย อย่างไรก็ตามการตรวจในเชิงคัดกรองในปัจจุบันจะเน้นไปที่ผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปที่สามารถเข้าใจข้อมูลได้แล้ว อย่างไรก็ตามหากพบเด็กที่เจอการกลายพันธุ์ และพบว่าการกลายพันธุ์นั้นเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาให้แก่เด็กตั้งแต่อายุยังน้อย ก็จะสามารถให้บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเข้าตรวจได้ โดยแนะนำให้ตรวจกับสถานพยาบาลซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัย
‘ การแพทย์แบบจีโนมิกส์เป็น High Value Medical คือการแพทย์มูลค่าสูง หมายถึง ด้วยตัวเทคโนโลยีเองมีอิมแพคกับหลายสาขาวิชาชีพของทางการแพทย์ ไม่ใช่แค่เฉพาะมะเร็งและโรคหัวใจอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นโรคทางระบบประสาท โรคกล้ามเนื้อ หรือไขข้อ รวมไปถึงเทคโนโลยีทางการทำหลอดแก้ว เราสามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อที่จะคัดเลือกตัวอ่อนที่จะมีความจำเป็นที่จะปราศจากการกลายพันธุ์เหล่านั้นได้ ซึ่งนับเป็นเทรนด์การแพทย์ที่จะมีความสำคัญอย่างมากในอนาคต’
เกี่ยวกับงานสัมนา
งานสัมนาวิชาการเวชศาสตร์จีโนม ในหัวข้อ ‘หนทางสู่ชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีสุขภาพดี’ จัดขึ้นโดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นับเป็นอีกเวทีสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนวงการแพทย์ไทย ต่อยอดองค์ความรู้ด้านจีโนมิกส์ สู่การพัฒนาด้านเวชศาสตร์การป้องกัน รวมถึงการวินิจฉัยและการรักษาที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้เชิญแพทย์ผู้ชำนาญการและศาสตรจารย์ระดับโลกมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยน
ไม่ว่าจะเป็น ดร.จอร์จ เชิร์ช ศาสตราจารย์ด้านพันธุศาสตร์ Harvad และ MIT ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการหรือการใช้เทคโนโลยีทางจีโนมิกส์โดยปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขพันธุกรรมในสิ่งที่มีชีวิต เพื่อสร้างสายพันธุ์ใหม่ที่คล้ายคลึงกับสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้ว
ดร.โรเบิร์ต ซี.กรีน ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ (พันธุศาสตร์) Brigham and Woman’s Hospital และ Harvad Medical School บรรยายในหัวข้อการทำ Newborn Whole Genome Sequencing ซึ่งทำให้สามารถศึกษาและวิเคราะห์พันธุกรรมทั้งหมดในเด็กแรกเกิดได้อย่างละเอียดอ่อน
ดร.คริสโตเฟอร์ อี.เมสัน ศาสตราจารย์ด้านจิโนเมิกส์ สรีรวิทยา และชีวฟิสิกส์ที่ Weill Cornell Medicine บรรยายในหัวข้อการใช้เทคนิคแมตาเจโนมิกส์เพื่อช่วยในการพัฒนาและใช้ทางการรักษาในทางที่เกี่ยวกับระบบลำไส้หรือระบบทางเดินอาหาร
และ ดร.จีวุน ปาร์ค นักวิจัยปริญญาเอกสาขาสรีรวิทยา ชีวฟิสิกส์และชีววิทยาระบบที่ Weill Cornell Graduate School มหาวิทยาลัยคอร์เนล มาบรรยายในหัวข้อกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมของเซลล์และเนื้อเยื่อในมิติที่แตกต่างกัน.
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.