แจก 3 เส้นทางเที่ยวไทยฉบับ เที่ยวคาร์บอนน้อย แต่รักษ์โลกมาก
ออกเดินทางท่องเที่ยวไทยฉบับ เที่ยวคาร์บอนน้อย แต่รักษ์โลกมาก ไปยัง 3 จุดหมาย 3 บรรยากาศ ที่นำเรื่องสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ การชูความโดดเด่นของท้องถิ่น และความยั่งยืน มาเป็นหัวใจในการท่องเที่ยว บอกเลยว่าแต่ละเส้นทางสร้างคาร์บอนน้อย แต่เที่ยวได้สนุกมากจริงๆ
01 “เกาะยาวน้อย” ความลับของอันดามัน
เกาะยาวน้อย หนึ่งในจุดหมายท่องเที่ยวที่ยังจัดเป็นความลับของท้องทะเลอันดามัน เกาะเล็กๆ ของจังหวัดพังงาที่เปล่งประกายเอกลักษณ์การท่องเที่ยวที่ผสมผสานระหว่างธรรมชาติบริสุทธิ์กับวิถีชีวิตดั้งเดิม ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นเสน่ห์มัดใจผู้มาเยือนได้ไม่ยาก ความสนุกของการมาเยือนเกาะยาวน้อย มีทั้งความงามของธรรมชาติ กิจกรรมรูปแบบโฮมสเตย์ที่ยังมีวิถีชุมชนประมงและชาวนากลางเกาะดั้งเดิมให้ได้เห็น นับเป็นประสบการณ์อันน่าจดจำที่จะได้เรียนรู้วิถีท้องถิ่นควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไฮไลต์เที่ยวยาวน้อยได้แก่
โฮมสเตย์เกาะยาวน้อย : เกาะยาวน้อยนับเป็นโฮมสเตย์ระดับมาตรฐานแห่งแรกของภาคใต้ หากย้อนกลับไปราว 30 ปีก่อน ชาวประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบจากการมีเรือภายนอกเข้ามาทำประมงแบบผิดกฎหมาย ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ชาวท้องถิ่นจึงรวมตัวกันเรียกร้องหน่วยงานรัฐให้ช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหา เกิดเป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยงานต่างๆ มาดูงานด้านสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นโฮมสเตย์และการท่องเที่ยวแนวเรียนรู้วิถีชุมชน ที่ผู้มาเยือนจะได้สัมผัสวิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน เกษตรกรรมบนเกาะและอาหารถิ่นจากฝีมือแม่บ้านชาวยาวน้อย ซึ่งที่เกาะยาวน้อยมีโฮมสเตย์ให้เลือกหลายแห่งมาก
ชมการเลี้ยงปลาในกระชัง : การเลี้ยงปลาในกระชังริมทะเลนับเป็นการท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เพราะรูปแบบเสมือนธนาคารปลาของชาวประมงท้องถิ่น ช่วยให้ชาวบ้านยังมีรายได้และอาหารเพื่อบริโภคในช่วงที่ไม่สามารถออกเรือหาปลาได้อย่างในช่วงฤดูมรสุม หรือช่วงปิดอ่าวให้ปลาในธรรมชาติวางไข่ รวมทั้งเป็นการรักษาทรัพยากรน้ำให้สะอาดเหมาะสมกับการเลี้ยงปลา นักท่องเที่ยวจะได้ขึ้นไปบนกระชังกลางทะเลที่มีปลาหลากหลายชนิดราวกับพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำกลางแจ้ง เช่น ปลากะพงขาว ปลาเก๋า ปลาปักเป้า ฉลามเสือ ปลาค้างคาว ปลาสิงโต กุ้งมังกร ฯลฯ เพื่อชมและลองให้อาหารปลาได้อย่างใกล้ชิด
ทุ่งนาเกาะยาวน้อย : ชาวเกาะยาวน้อยปลูกข้าวทำนากันมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษ จนถึงทุกวันนี้ยังมีเกษตรกรกว่า 200 ราย ปลูกข้าวไว้บริโภคเอง เหลือไว้จำหน่ายบ้างเล็กน้อย การทำนาบนเกาะจึงเป็นรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี โดยมีตัวช่วยอย่างการเลี้ยงควายที่คอยกำจัดหญ้าหรือวัชพืชในทุ่งนา พร้อมถ่ายมูลให้เป็นปุ๋ยธรรมชาติ ถ้าเดินทางไปในช่วงฤดูทำนา เช่น ฤดูฝนที่เริ่มปักดำต้นข้าว หรือปลายปีในช่วงเก็บเกี่ยว ก็อาจมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมทำนากับชาวนายาวน้อย พบควายนอนแช่สปาโคลนอย่างสบายใจ
ปั่นจักรยานรอบเกาะ : สำหรับสายปั่น (จักรยาน) เกาะยาวน้อยถือเป็นจุดหมายที่เหมาะแก่การนำยานพาหนะคู่ใจลงเรือมาพร้อมกัน เพราะถนนคอนกรีตสายหลักบนเกาะยาวน้อยเชื่อมต่อกันเป็นวงกลม มีทางแยกทางย่อยบ้าง แต่ก็ไม่ซับซ้อนชวนงง มีช่วงปั่นขึ้นเนินบ้างนิดหน่อยในบางจุด แต่ก็ไม่ยากสําหรับมือใหม่ และมีสัญญาณโทรศัพท์ครอบคลุมทุกเครือข่าย เปิด GPS ได้ไม่ต้องกลัวหลง ลองใช้เวลาออกกำลังด้วยการปั่นจักรยานเที่ยวเกาะประมาณ 1 ชั่วโมงก็ครบรอบ เพื่อสัมผัสทัศนียภาพทุ่งนา ถนนเลียบชายหาด พื้นที่การเกษตร ชุมชนบ้านเรือนที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยรอยยิ้ม
แหล่งอนุรักษ์นกเงือก : นักท่องเที่ยวสายอนุรักษ์เป็นที่รู้กันว่า “นกเงือก” ถือเป็นสัตว์ป่าซึ่งเปรียบเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ บนเกาะยาวมีทั้งนกเงือกตามธรรมชาติ รวมทั้งนกเงือกที่ชาวบ้านทำโพรงรังเทียมเอาไว้ เนื่องจากนกเงือกต้องอาศัยโพรงขนาดใหญ่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งมักเป็นต้นไม้ใหญ่อายุมาก แต่ปัจจุบันต้นไม้ใหญ่เหล่านั้นมีน้อยลง การอนุรักษ์นกเงือกบนเกาะยาวน้อยจึงต้องสร้างโพรงรังเทียมขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว (ชมรมอนุรักษ์นกเงือก โทร. 084-744-7284)
หนํานาทอน : ที่นี่เป็นหนึ่งในโฮมสเตย์น่ารักของเกาะ เจ้าของเป็นเกษตรกรผู้ทํานาข้าวอินทรีย์ ปลูกไว้เป็นแปลงเขียวขจีเคียงคู่กับบ้านพักเล็กๆ สำหรับผู้มาเยือน และยังรักษ์โลกด้วยพลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์ แต่ใครไม่ได้เข้าพักก็สามารถแวะมาพักรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ไอเดียการทำที่พัก-ร้านอาหารในเชิงอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมได้ (โทร. 090-217-1729)
ผ้าบาติก : กลุ่มแม่บ้านท่าเขา ถือเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากชุมชนเกาะยาว นอกจากช็อปปิงผ้าบาติกผลงานศิลปินท้องถิ่นแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อเข้าร่วมเวิร์กช็อปทำผ้าบาติกผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาที่สร้างรายได้ของชุมชนบ้านท่าเขา ที่รวมตัวเป็นกลุ่มท่องเที่ยวอาชีพเกษตรขึ้นกลุ่มแรกของจังหวัดพังงา ส่วนขั้นตอนทำผ้าบาติกก็ไม่ยาก นักท่องเที่ยวติดต่อไว้ล่วงหน้า ก็แค่มาเขียนภาพ ลงเทียนกั้นตามเส้นที่ร่างไว้ แล้วจึงลงสี ก็ได้ผลงานชิ้นเดียวในโลกฝีมือตัวเองกลับไปเป็นที่ระลึก
Travel Tips
ติดต่อขอข้อมูลและคำแนะนำโปรแกรมการท่องเที่ยวบนเกาะยาวน้อยได้ที่ ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนเกาะยาวน้อย อ. เกาะยาว จ. พังงา โทร. 076-597-244, 086-942-7999
ประชากรส่วนใหญ่บนเกาะยาวน้อยเป็นชาวมุสลิม จึงไม่ควรนำอาหารประเภทเนื้อหมูและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดตัวไป หากเลือกที่พักประเภทโฮมสเตย์
02 “สุโขทัย” เมืองนี้มีแต่ความคราฟท์
แม้สุโขทัยจะเป็นเมืองมรดกโลกที่โดดเด่นด้วยเมืองเก่า โบราณสถาน พื้นที่ UNESCO ทั้งในฐานะแหล่งมรดกโลก พื้นที่สร้างสรรค์ และเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่สุโขทัยก็ยังจัดว่าเป็นจุดหมายที่ต้องตั้งใจไป เพื่อที่จะค้นพบว่าสุโขทัยไม่ได้มีไฮไลต์อยู่แค่ตัวโบราณสถานหรือประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟเท่านั้น เช่นเดียวกับพิกัดเที่ยวสุโขทัยที่เราขอพาไปเปิดแผนที่นำสำรวจฉบับใหม่กัน
โฮมสเตย์บ้านแม่ทุเลา : โฮมสเตย์ในหมู่บ้านเล็กๆ เชิงดอยตีนกาที่จะทำให้นาฬิกาหมุนช้าลง แนะนำให้ปิดสวิตช์โทรศัพท์มือถือแล้วรีชาร์จพลังไปกับวิถีชุมชนที่ผู้สูงอายุมารวมตัวกัน ฟื้นวิถีดั้งเดิมที่เกือบจะถูกลืมให้กลับมาและสร้างมูลค่าใหม่ ไม่ว่าการสานกล่องข้าวเหนียวจากใบลาน งานด้นผ้า การทอผ้า ทำผ้านวม หรือการเดินทัวร์ป่าชุมชนเพื่อตามหาพืชท้องถิ่น ช่วงเวลาแห่งความสุขของการมาโฮมสเตย์ที่นี่นั้นไม่มีอะไรมาก แค่ล้อมวงกินอาหารท้องถิ่นที่นักท่องเที่ยวจะได้เดินไปเก็บวัตถุดิบสดใหม่ตามฤดูกาลรอบๆ บ้าน ฟังเรื่องเล่าของวัตถุดิบแต่ละชนิด ก่อนจะนำมาปรุงโดยมีแม่ๆ ผู้สูงอายุในชุมชนเป็นเชฟใหญ่ส่งต่อความรู้ด้านวัฒนธรรมการกินของชุมชนให้กับแขกที่มาเยือน (โทร. 091-839-1904)
พิมพ์พระเครื่องโบราณ : เรียนรู้และสนุกกับเวิร์กช็อปเกี่ยวกับพระพิมพ์โบราณที่ค้นพบในสุโขทัยที่ บ้านพิมพ์พระลักษมณศิลป์ ซึ่งจะพาย้อนประวัติศาสตร์พระพิมพ์สุโขทัยกว่า 1,200 แบบที่ขุดค้นพบในบริเวณเมืองเก่าสุโขทัยและศรีสัชนาลัย โดยภายในสตูดิโอจัดแสดงรูปภาพของพระพิมพ์แบบต่างๆ ตลอดจนคติความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างเมืองและการสร้างพระพิมพ์ จากนั้นผู้มาเยือนจะได้ลองกิจกรรม DIY พิมพ์พระที่เริ่มต้นจากดินสุโขทัย โดยแม่พิมพ์พระที่ใช้มี 2 แบบ ได้แก่ พระนางพญาเสน่ห์จันทร์ และพระร่วงประทานพร กรุหม้อแกงทอง เรียกว่าได้ของที่ระลึกสุโขทัยฉบับไม่เหมือนใครกลับบ้านอย่างแน่นอน (โทร. 089-643-6219)
ปั่นจักรยานเที่ยวเมืองเก่า : ในบรรดาเมืองเก่าของไทย สุโขทัย ที่มีอายุตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 18-19 ถือว่าเป็นเมืองโบราณที่มีการวางผังเมืองได้ดีที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องการวางผังเมืองเพื่อจัดการปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแล้งหรือน้ำหลาก ดังนั้นการมาเที่ยวเมืองเก่าสุโขทัยจึงมีเรื่องการจัดการน้ำให้เรียนรู้ไปพร้อมกับชมความงามของโบราณสถาน โดยรอบตัวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจะมีจักรยานเป็นอีกทางเลือกคาร์บอนต่ำให้ได้เช่าปั่นชมโบราณสถาน แต่ถ้าใครต้องการไกด์จักรยานมืออาชีพที่จะพาปั่นชมเมืองเก่าและซอกแซกชุมชนรอบเมืองเก่าและชุมชนบ้านกล้วยก็มีไกด์มืออาชีพ Sukhothai Bicycle Tours ที่ทั้งโปรจักรยานและโปรด้านประวัติศาสตร์พลัสด้วยชุมชนสุโขทัย (Sukhothai Bicycle Tours โทร. 08-6931-6242)
Taste from root : ชวนไปลิ้มรสให้รู้ถึงรากของวัตถุดิบและชุมชนกับ Taste from root คนสุโขทัยรุ่นใหม่ไฟแรงที่ตัดสินใจกลับบ้าน พร้อมกลับไปตามหารากของสุโขทัยจนค้นพบว่า น้ำตาลโตนดผูกพันกับคนสุโขทัยมากว่า 700 ปี ทั้งยังปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่ปัจจุบันกลับเหลือปราชญ์ทำตาลโตนดในสุโขทัยไม่ถึง 10 คน นั่นจึงเป็นเหตุผลทำให้ Taste from root เข้าไปยังสวนตาลเก็บข้อมูลการทำตาลแบบดั้งเดิม และสร้างผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนจนออกมาเป็นน้ำตาลเคี่ยวสำหรับทำอาหาร น้ำเชื่อมโตนดสำหรับผสมเครื่องดื่ม และน้ำตาลสดที่ยังคงหอมหวานด้วยวิถีการทำโตนดดั้งเดิม
โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น : โฮมสเตย์ในอำเภอศรีสัชนาลัยที่เป็นต้นแบบของความสำเร็จในการทำโฮมสเตย์ เพราะการเข้าพักที่บ้านนาต้นจั่นไม่ได้มีแค่เรื่องวิวนาข้าวสีเขียว กับเส้นทางปั่นจักรยานลัดเลาะชุมชน แต่ที่นี่ยังอัดแน่นด้วยเรื่องภูมิปัญญาที่ซ่อนอยู่ในบ้านแต่ละหลังของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้า ทำผ้าหมักโคลนธรรมชาติ ตุ๊กตาบาร์โหน การทำเมนูท้องถิ่นข้าวเปิ๊บ รวมทั้งเส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาตินั่งรถอีแต๊กชุมชนเพื่อไปชมแสงอาทิตย์แรกบนยอดภู (โทร. 088-495-7738)
นาอินทรีย์สุโขทัย : ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ที่สุโขทัยยังมี โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย เป็นอีกหนึ่งที่เที่ยวไฮไลต์ของสายกรีน ครบตั้งแต่การเรียนรู้เกี่ยวกับการทำนาอินทรีย์ที่มีการพัฒนาข้าวพันธุ์พื้นเมืองโดยเฉพาะ “ข้าวหอมสุโขทัย” และนอกจากนาข้าวแปลงใหญ่ในทุ่งสุโขแล้ว ที่นี่ยังมีครบทั้งร้านอาหารครัวสุโขและตลาดกลางที่นำเสนอพืชผักอินทรีย์ตามฤดูกาล มาแล้วต้องได้ชิมน้ำใบข้าวเป็นเวลคัมดริงก์ของครัวสุโข ตามด้วยสังขยาใบข้าวกินคู่หมั่นโถวร้อนๆ หรือใบข้าวทอดก็เป็นเมนูเซอร์ไพรส์ที่อร่อยและได้เรียนรู้ว่าข้าวหนึ่งต้นต้องไม่ถูกทิ้งให้สูญเปล่า
นั่งรถคอกหมูเที่ยวตัวเมือง : ที่สุโขทัยมีรถพื้นเมืองเป็นรถสองแถวใช้ไม้มาต่อเป็นเอกลักษณ์เรียก “รถคอกหมู” ให้บริการระหว่างตัวเมืองเก่าและตัวเมืองสุโขทัย ซึ่งปัจจุบันเหลือผู้ประกอบการรถคอกหมูน้อยเต็มที ใครมีโอกาสมาเที่ยวสุโขทัย หากเจอรถคอกหมู แนะนำให้ลองนั่งทัวร์เมืองเก็บโมเมนต์ความประทับใจนี้ไว้ หรือถ้าอยากเก็บความประทับใจกลับบ้าน ยังมีรถคอกหมูฉบับโมเดลต่อจากเศษไม้โดย “สถานีรถคอกหมู” สามารถสั่งจองล่วงหน้าแล้วแวะรับกลับเป็นของที่ระลึกสุโขทัยได้เลย (FB: สถานีรถคอกหมู โมเดล)
“ป้าแอ๊ด” ร้านลับที่เชี่ยวชาญเรื่องปลา : สุโขทัยนั้นโดดเด่นวัตถุดิบปลาแม่น้ำ และร้านลับที่รู้เรื่องปลาสุโขทัยดีที่สุดร้านหนึ่งก็คือ “ร้านป้าแอ๊ด” ร้านเล็กๆ ที่ไม่มีเมนูและเล่าลือกันว่า “ปลาที่ดีที่สุดของวันจะต้องมาส่งที่ร้านป้าแอ๊ดก่อนร้านแรก” วิธีการสั่งอาหารคือการพูดคุยว่า “วันนี้มีปลาอะไร” และป้าแอ๊ดเจ้าของร้านก็จะค่อยๆ อธิบายพร้อมแนะนำว่าปลาชนิดนั้นๆ นำไปปรุงแบบไหนถึงจะอร่อยที่สุด โดยปลาจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ไม่มีสต๊อก และปลาแต่ละชนิดก็มีเท่าที่ชาวประมงพื้นถิ่นลูกแม่น้ำยมจะจับได้เท่านั้น (โทร.055-620-139)
โมทนา เซรามิก : สตูดิโอเซรามิกกลางสวนที่นำลวดลายเฉพาะของถิ่นสุโขทัย ทั้งผ้าทอ ทอง และสังคโลกสุโขทัยมาต่อยอดเป็นงานเซรามิกร่วมสมัย ทั้งยังต่อยอดสิ่งที่มีอยู่เดิมในสุโขทัยอย่าง “ถุงตาล” (ถุงที่ใช้ทำขนมตาล) นำมาใช้ในกระบวนการเตรียมดิน ที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงสตูดิโอทำงาน แต่ยังครบทั้งเปิดสอนเวิร์กช็อปมือสมัครเล่นและผู้ที่คิดจะทำเป็นอาชีพ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่ถ่ายทอดเสน่ห์ของงานเซรามิก (โทร. 094-714-6145)
03 “สุรินทร์” ชีวิตเนิบช้าในถิ่นอีสานที่พิสูจน์แล้วว่าอีสานสีเขียว
สุรินทร์ เมืองที่อาจไม่ใช่ตัวเลือกเบอร์แรกๆ ของนักท่องเที่ยว แต่เราอยากบอกว่าสุรินทร์นี่แหละคือเพชรเม็ดงามของแดนอีสานใต้ เป็นเมืองที่เงียบสงบ ทว่ามีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมที่ผสมผสานเขมรโบราณจนกลายมาเป็นอัตลักษณ์เฉพาะสุรินทร์ เที่ยวสุรินทร์มีความสโลว์ไลฟ์ให้ค่อยๆ เที่ยวอย่างเนิบช้า เรียนรู้วิถีช้าง ผ้าไหม เส้นทางปราสาทหิน ไปพร้อมกับเกษตรอินทรีย์ที่กำลังมาแรงในสุรินทร์
ทะเลสาบทุ่งกุลา : หากพูดถึง “ทุ่งกุลา” ภาพจำในอดีตคือทุ่งอันแห้งแล้งทุรกันดารชนิดที่ว่า “ชาวกุลาร้องไห้” โดยทุ่งกุลาร้องไห้ หมายถึงเมื่อชาวกุลาเดินทางผ่านมาเจอแต่ความแห้งแล้งและได้รับความยากลำบากในการทำมาหากินจนต้องร้องไห้ แต่ปัจจุบันทุ่งกุลาเปลี่ยนความแห้งแล้งให้เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก และยังมี “ทะเลสาบทุ่งกุลา” เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำที่น่าตื่นตาตื่นใจและฮอตฮิตที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ โดยทะเลสาบทุ่งกุลาแห่งนี้ตั้งอยู่ที่บ้านโพนม่วง อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ มีต้นกำเนิดมาจากโครงการอ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ทางกรมชลประทานได้มาขุดเป็นแก้มลิงเพื่อใช้ในการเกษตรจำนวน 15 ไร่ และรอบบริเวณอ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ทั้งสิ้น 75 ไร่ ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ทะเลน้ำจืดแห่งอีสานใต้” ไม่เหลือเค้าของ “ทุ่งกุลาร้องไห้” แบบเดิมอีกต่อไป
แซตอม ออร์แกนิกฟาร์ม : ที่นี่มีทั้งนาออร์แกนิก โฮมสเตย์ และโรงบ่มสาโทจากข้าวออร์แกนิกอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยจุดเริ่มมาจาก “สุแทน สุขจิตร” ลูกชาวนาจังหวัดสุรินทร์ ที่เลือกจะกลับบ้านพร้อมพลิกฟื้นผืนนาที่เต็มไปด้วยเคมีให้เป็นอินทรีย์พร้อมเลือกที่จะปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง เพราะเขาเชื่อว่าข้าวเหล่านี้รู้จักดิน น้ำ และสภาพฟ้าฝนของสุรินทร์ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นข้าวผกาอำปึล ข้าวมะลินิลสุรินทร์ ข้าวมะลิโกเมนสุรินทร์ จากนั้นเพิ่มมูลค่าด้วยการนำมาหมักบ่มเป็นสาโทที่รักษาภูมิปัญญาการทำสาโทโบราณและการพัฒนาสาโทให้ร่วมสมัยไม่ต่างจากไวน์ ซึ่งวัตถุดิบทั้งหมดใช้ข้าวอินทรีย์จากท้องถิ่นทั้งสิ้น
ตลาดนัดสีเขียวสุรินทร์ : คนสุรินทร์เขาจริงจังเรื่องผักปลอดสารเคมี ถึงขั้นที่มีการก่อตั้ง “ตลาดนัดสีเขียว” เป็นตลาดนัดขายผัก ผลไม้ วัตถุดิบท้องถิ่นทั้งอินทรีย์และออร์แกนิก มาตลาดนี้รับรองว่าได้ของปลอดสารเคมี 100 %กลับบ้านอย่างแน่นอน เพราะที่นี่เขามีใบรับรองมาตรฐานการตรวจแปลงที่ลงไปดูถึงแหล่งผลิตกันเลยทีเดียว ตลาดสีเขียวก่อตั้งมาตั้งแต่พ.ศ.2546 ปัจจุบันได้ย้ายไปอยู่โลเคชันใหม่ใช้ชื่อ ตลาดนัดสีเขียวสุรินทร์ (สวนใหม่) ปักหมุดสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เปิดทุกวันพุธและวันเสาร์ ตั้งแต่ 5.00-12.00 น. และนอกจากผักพื้นบ้านตามฤดูกาล ผักอินทรีย์ราคาถูกแล้ว ยังมีขนมพื้นเมืองอย่างขนมโช้ค ขนมโกร๊จ ขนมต้ม ให้ได้ชิมและลองทำกันด้วย
หมู่บ้านช้างหนึ่งเดียวในโลก : สโลว์ไลฟ์แบบสุดใจกับการเที่ยวหมู่บ้านช้างหนึ่งเดียวในโลกที่แทบทุกบ้านล้วนมีช้างเลี้ยงอยู่ใต้ถุน เป็นช้างที่ตกทอดเป็นมรดกของครอบครัวที่มีเรื่องภูมิปัญญา พิธีกรรม และประเพณีเกี่ยวกับช้างถ่ายทอดมาด้วย อันที่จริงนักท่องเที่ยวสามารถแวะหมู่บ้านช้างที่ “บ้านตากลาง” ท่องเที่ยวได้เอง เพราะแต่ละบ้านก็เปิดรั้วต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่สำหรับใครที่ต้องการความรู้เรื่องช้างบ้านของไทยแบบแน่นๆ แนะนำให้ติดต่อไปที่ โครงการคชอาณาจักร ซึ่งมีโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และช้างในการดูแลร่วม 200 เชือก สามารถเลือกได้หลายโปรแกรม เช่น นั่งรถอีแต๊กท้องถิ่นเที่ยวหมู่บ้านช้าง เรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้ช้าง เวิร์กช็อปทำกระดาษสาจากมูลช้าง นั่งช้างชมไพร ไปจนถึงอาบน้ำช้างบริเวณลำน้ำชี (โทร. 0-4455-8501)
ซแรย์ อทิตยา : “ซแรย์ อทิตยา” เป็นภาษาท้องถิ่นแปลว่า “นาของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ” สถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรและศูนย์เรียนรู้ในพระดำริภายใต้การดูแลของโครงการเกษตรอทิตยาทร เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้แนวคิดและนวัตกรรมการเกษตรแบบอินทรีย์ปลอดสารเคมี เน้นความรู้ครบทุกมิติตั้งแต่การผลิต การตลาด และเทคโนโลยี เพื่อให้เกษตรกรได้นำไปปรับใช้ให้เกิดความยั่งยืนได้จริงผ่านกิจกรรมฐานการเรียนรู้ เช่น เรื่องข้าว ดิน แมลง โรคพืช ปุ๋ยอินทรีย์ การแปรรูปข้าว เป็นต้น นอกจากความรู้แน่นๆ ด้านเกษตรอินทรีย์แล้ว ก็ยังแวะมาพักผ่อนท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นของไร่นาและทุ่งดอกไม้ตามฤดูกาลได้อีกด้วย (โทร. 09-0265-6253)
ตามรอยเส้นทางปราสาทขอมโบราณ : สุรินทร์ดินแดนร่ำรวยปราสาท เพราะมีปราสาทขอมโบราณอยู่ถึง 39 แห่ง สันนิษฐานว่าสมัยขอมเรืองอำนาจ สุรินทร์คงเป็นดินแดนหนึ่งที่อยู่ในเส้นทางการไปมาของขอมโบราณ จึงได้สร้างปราสาทขึ้นตามเส้นทางสัญจร ปราสาทในจังหวัดสุรินทร์เป็นปราสาทขนาดเล็ก ที่โดดเด่นคือปราสาทศีขรภูมิ ที่อำเภอศีขรภูมิ ซึ่งมีความสมบูรณ์ สวยงาม ปราสาทภูมิโปนที่อำเภอสังขะ เป็นปราสาทหินที่เก่าแก่สุดในประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มปราสาทตาเมือน ปราสาทริมชายแดนที่เป็นจุดร่วมของคนเดินทางระหว่างคนเขมรต่ำ-เขมรสูงในอดีต ใครเป็นนักล่าปราสาท แนะนำให้กางลายแทงเลือกเส้นทางปราสาทที่สนใจ โดยแต่ละปราสาทก็จะมีไกด์ท้องถิ่นจากแต่ละชุมชนนำชมอย่างสนุกมาก
ผ้าไหมยกทองโบราณท่าสว่าง : ผ้าไหมคือภูมิปัญญาพื้นบ้านคู่ถิ่นอีสาน แต่โบราณแทบทุกบ้านล้วนมีกี่ทอผ้าอยู่ใต้ถุน โดยแต่ละบ้านแต่ละชุมชนก็จะมีลวดลายผ้าที่แตกต่างไปตามสิ่งแวดล้อม ความเชื่อ และวัฒนธรรม ผ้าไหมสุรินทร์ที่โด่งดังไปทั่วโลกได้แก่ผ้าไหมบ้านท่าสว่าง โดดเด่นด้วยผ้าไหมยกทองที่สืบทอดมาจากราชสำนักแต่โบราณ สวยงามและมีความละเอียดจนได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ทอผ้าไหมมอบให้กับผู้นำเอเปก (APEC) โดยผ้าแต่ละผืนใช้คนทอราว 4-5 คน และใช้ตะกอมากถึง 1,460 ตะกอ ทั้งยังใช้ “ไหมน้อย” เป็นผ้าไหมเส้นเล็ก เวลาสวมใส่จะรู้สึกเย็นสบาย ที่สำคัญยังใช้วิธีการย้อมไหมแบบโบราณด้วยสีจากธรรมชาติ สีแดงจากครั่ง สีน้ำเงินจากคราม สีเหลืองทองจากเปลือกทับทิม บางสีเกิดจากการนำแม่สีมาผสมกันอีกทีหนึ่ง สีที่ได้เมื่อนำไปย้อมจะไม่ตกและซีดช้ากว่าผ้าทั่วๆ ไป บางสีก็สดใสอยู่ได้เป็นร้อยปี ใครอยากชมทุกขั้นตอนการทอผ้าไหมยกทองโบราณตรงไปได้ที่ “กลุ่มทอผ้ายกทองจันทร์โสมา” (โทร. 08-4458-6099)
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.