เมื่อลูกเติบโต พ่อแม่อาจต้องเผชิญ “ภาวะรังที่ว่างเปล่า”
หลายครอบครัวคงคุ้นเคยกับความรู้สึกอบอุ่นเมื่อมีลูกอยู่ในบ้าน ที่คอยดูแลตั้งแต่เด็กจนเริ่มเติบโต โดยผ่านช่วงเวลาทั้งสุข และทุกข์ที่น่าจดจำตลอดเส้นทาง แต่เมื่อลูกเริ่มเติบโตขึ้น ก็ต่างมีเส้นทางชีวิตของตัวเอง บ้านที่เคยมีแต่เสียงหัวเราะและความสุขของพ่อแม่ลูก กลับกลายเป็นความเงียบ เหลือเพียงความว่างเปล่า ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้อาจนำพ่อแม่สู่ “ภาวะรังที่ว่างเปล่า" หรือ Empty Nest Syndrome
นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า ภาวะรังที่ว่างเปล่า หรือ Empty Nest Syndrome เป็นภาวะทางอารมณ์ที่พบได้บ่อยในพ่อแม่ เมื่อลูกๆ ออกจากบ้านไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง โดยมักเกิดขึ้นหลังจากลูกคนสุดท้ายย้ายออกจากบ้าน ส่งผลให้เกิดความรู้สึกหลากหลาย เช่น ความเหงา บรรยากาศในบ้านเงียบเหงา ไร้เสียงหัวเราะ เสียงพูดคุยของลูกๆ อาจทำให้รู้สึกอ้างว้างและโดดเดี่ยว, ความเศร้า การสูญเสียบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะผู้ดูแลลูก อาจทำให้รู้สึกสูญเสียและโศกเศร้า, ความวิตกกังวล เกี่ยวกับความปลอดภัย สุขภาพ อนาคตของลูก และความรู้สึกไร้ค่า รู้สึกสูญเสียเป้าหมายในชีวิต เมื่อลูกๆ ไม่ได้อยู่ใกล้ชิด ซึ่งอาการอาจคงอยู่ตั้งแต่หลายสัปดาห์ จนกระทั่งเป็นปี แต่ส่วนใหญ่พบว่าผู้ที่เผชิญภาวะ Empty Nest Syndrome จะมีอาการอยู่ประมาณ 2-3 เดือน จึงจะปรับตัวให้คุ้นชินกับบ้านที่ว่างเปล่าได้
3 ระยะเวลาเกิดภาวะ Empty Nest Syndrome
- ระยะโศกเศร้า
เมื่อลูกๆ แยกตัวออกจากบ้านไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ความรู้สึกแรกที่พ่อแม่จะต้องเผชิญก็คือ ความรู้สึกเศร้า โหยหา โดยในแต่ละวัน พ่อแม่อาจจะร้องไห้ เพียงแค่เห็นมุมที่ลูกชอบนั่งบ่อยๆ แก้วน้ำที่ลูกใช้ประจำ หรือรายการทีวีที่ต้องดูด้วยกันทุกสัปดาห์ ความเศร้านี้อาจทำให้พ่อแม่บางคนเก็บตัวหรือออกห่างสังคม เพื่อปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
- ระยะโล่งอก
หลังจากช่วงเวลาแห่งความเศร้าผ่านไป พ่อแม่ที่เป็นผู้สูงอายุเริ่มคุ้นเคยกับสภาวะที่เป็นอยู่ พ่อแม่มักจะรู้สึกโล่งใจและเริ่มรู้สึกว่าตนเองมีอิสระมากขึ้น มีเวลาดูแลตัวเองมากขึ้น ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ หรือบางคนได้พบเจอสังคมใหม่ๆ และตระหนักได้ว่าชีวิตในวัยสูงอายุก็ไม่ได้แย่อย่างที่เคยกังวลไว้
- ระยะสงบสุข
ช่วงสุดท้ายของภาวะ Empty Nest Syndrome คือ ระยะสงบสุข เป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่สามารถปรับตัวให้คุ้นเคยกับชีวิตที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับลูกๆ เหมือนแต่ก่อนและสามารถปรับตัวให้เข้ากับกิจวัตรประจำวันใหม่ๆ เข้าใจความเป็นไปของชีวิตได้มากขึ้น มีความสบายใจเกิดขึ้นและรู้สึกมีความสุข สงบ ไม่วิตกกังวลหรือเครียดกับลูกๆ เหมือนช่วงใหม่ๆ อีกต่อไป
สำหรับการปรับตัวหรือเสริมภูมิคุ้มกันจากภาวะ Empty Nest Syndrome อันดับแรกต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ อย่างเปิดใจ จากนั้นปรับวิธีคิด แม้ไม่ต้องดูแลลูกเหมือนเดิม ก็สามารถเปลี่ยนมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาได้ หรือชื่นชมลูกหลาน เมื่อประสบความสำเร็จในการหน้าที่การงาน และตั้งเป้าหมายชีวิตใหม่ อาจเริ่มต้นด้วยงานอดิเรกที่เคยชอบ บางสิ่งบางอย่างที่เคยอยากทำแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ ก็ถือเป็นโอกาสที่จะได้ลงมือทำเพื่อเติมเต็มสีสันในชีวิตและเพิ่มคุณค่าให้ตนเองอีกครั้ง แต่ถ้าหากทำแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ยังรู้สึกไม่มีเป้าหมายในชีวิต หรือชีวิตไม่มีค่าแนะนำให้มาพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาให้ชีวิตกลับมามีความสุขอีกครั้ง
นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์
จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.