อาการบาดเจ็บแบบไหนต้องประคบร้อน แบบไหนประคบเย็น?
“การประคบร้อน” และ “การประคบเย็น” เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในกรณีที่ร่างกายเรามีอาการบาดเจ็บแบบไม่รุนแรง ซึ่งวัตถุประสงค์ในการประคบร้อน/เย็นนี้ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ ปวด บวม ทั้งที่เกิดขึ้นเนื่องจากอาการป่วย หรือที่เกิดขึ้นเพราะร่างกายได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา การออกกำลังกาย เกิดอุบัติเหตุ รอยฟกช้ำต่าง ๆ จากการกระแทก
อย่างไรก็ดี หลายคนก็ยังสับสนอยู่ดี ว่าเมื่อไรล่ะที่เราต้องประคบร้อน หรือตอนไหนต้องประคบเย็น โดยการจะเลือกว่าประคบร้อนหรือประคบเย็นนั้น ต้องพิจารณาจากอาการเบื้องต้น และไม่ควรจะเลือกประคบผิดวิธี เนื่องจากการเลือกประคบร้อน/เย็นที่ไม่ถูกกับอาการบาดเจ็บมีผลต่อการไหลเวียนของเลือดและอาจเป็นอันตรายได้ จะได้เลือกปฐมพยาบาลตนเองและคนในครอบครัวได้อย่างถูกต้อง
เมื่อไรที่ต้องประคบเย็น
ประคบเย็น จะทำเมื่อเกิดอาการบาดเจ็บเฉียบพลัน ร่วมกับมีอาการบวม เพราะความเย็นจะช่วยให้หลอดเลือดหดตัว ลดการไหลเวียนของเลือด มีผลให้เลือดออกน้อยลง ห้ามเลือด อาการบวมลดลง และลดการทำงานของเส้นประสาทชั่วคราว ซึ่งบรรเทาอาการปวด
หรือจำง่าย ๆ ก็คือ บาดเจ็บทันทีมีอาการใหม่ ๆ ให้ประคบเย็น หากมีอาการปวดบวมหรือได้รับบาดเจ็บ ให้ประคบเย็นด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็นทันที หรือภายใน 24-48 ชั่วโมง ประคบวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 20 นาที
ตัวอย่างอาการที่ควรประคบเย็น เช่น อาการข้อมือข้อเท้าเคล็ด อาการปวดบวมจากการได้รับบาดเจ็บ อาการปวดฟัน เลือดกำเดาไหล รวมถึงอาการปวดตา (ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ) อาการปวดศีรษะ และมีไข้สูง
อุปกรณ์ที่ใช้ในการประคบเย็น ใช้ผ้าขนหนูที่มีความหนาพอประมาณห่อน้ำแข็ง การทำถุงเย็นใช้เอง ด้วยถุงพลาสติกใส่น้ำแข็งผสมกับน้ำเปล่าอย่างละครึ่งแล้วใช้ผ้าห่อ ใช้ขวดน้ำเย็นที่ห่อด้วยผ้าขนหนูผืนบาง ๆ หรือเจลประคบเย็นแบบสำเร็จรูปที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป ควรทดสอบก่อนว่าไม่เย็นจนเกินไป และควรมีผ้าหรือปลอกหุ้มอุปกรณ์ประคบด้วย เพื่อป้องกันผิวหนังสัมผัสกับความเย็นโดยตรงจนเกิดอาการบาดเจ็บ
เมื่อไรที่ต้องประคบร้อน
ประคบร้อน จะทำเมื่อเกิดอาการปวดแบบเรื้อรัง อาการปวดที่เป็น ๆ หาย ๆ โดยมีอาการตึงของกล้ามเนื้อร่วมด้วย ความร้อนจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดตึง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง ประคบวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 15-20 นาที
ตัวอย่างอาการที่ควรประคบร้อน คือ อาการปวดท้องประจำเดือน ปวดตึงกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า หลัง หรือน่อง กรณีที่เป็นการบาดเจ็บที่ผ่านไปแล้ว 48 ชั่วโมง (ตอนบาดเจ็บใหม่ ๆ ให้ประคบเย็น แต่ถ้าผ่านไป 48 ชั่วโมงไปแล้วยังปวดอยู่ ให้ประคบร้อน) และจะประคบร้อนได้ก็ต่อเมื่อไม่มีอาการอักเสบ ไม่มีอาการบวม แดง ร้อน และไม่มีบาดแผลเปิดหรือมีเลือดออก
อุปกรณ์ที่ใช้ในการประคบร้อน ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน ใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรือเจลประคบร้อนสำเร็จรูป (ทำให้ร้อนโดยนำเข้าไมโครเวฟ) แต่ข้อควรระวังคือ อุณหภูมิในการประคบร้อนไม่ควรเกิน 45 องศาเซลเซียส ไม่ประคบนานเกิน 20 นาที และไม่ถี่จนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการแสบร้อนผิวหนังบริเวณที่ประคบได้ ควรมีผ้าหรือปลอกหุ้มอุปกรณ์ประคบด้วย เพื่อไม่ให้ความร้อนสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง
ข้อควรระวังอื่น ๆ
ข้อควรระวังในการประคบเย็น
- ผู้ที่มีอาการแพ้หรือประสาทสัมผัสไวต่อความเย็นมาก เพราะอาจเกิดผื่น ลมพิษ บวม ความดันโลหิตสูง
- ไม่ใช้การประคบเย็นบริเวณกล้ามเนื้อหรือข้อต่อที่แข็ง
- ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและการไหลเวียนเลือด
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ
- ไม่ควรใช้เวลาในการประคบนานเกินไป (ไม่ควรเกิน 20 นาที) เพราะอาจส่งผลต่อผิวหนัง เนื้อเยื่อ และเส้นประสาท
ข้อควรระวังในการประคบร้อน
- ไม่ควรใช้เวลาในการประคบนานเกินไป (ไม่ควรเกิน 15-20 นาที) เพราะอาจทำให้ผิวหนังไหม้ และหากมีอาการติดเชื้อ ความร้อนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไปทั่วร่างกาย
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะบริเวณแขนขา เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ อาจเกิดแผลติดเชื้อเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อน
- ผู้ป่วยผิวหนังอักเสบ อาจเกิดอาการบาดเจ็บร้ายแรงที่ผิวหนัง
- ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและการไหลเวียนเลือด
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ
- ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.