ดูหนังดูละครกับเด็ก ๆ ต้องสอนอะไรพวกเขาบ้าง
เป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำใจว่า “การเลือกเสพสื่อ” ให้กับบุตรหลานของตนเองในปัจจุบันนี้เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก แม้ว่าเราจะพยายามคัดเลือกสื่อที่เหมาะสมให้กับเด็ก ๆ ของตนเองเป็นอย่างมาก แต่สื่อทุกวันนี้มีหลากหลายมากเกินไป อีกทั้งยังมีสื่ออีกหลายประเภทที่ไม่ได้จำกัดการเข้าถึงของเด็กมากเท่าที่ควร ทั้งสื่อหลักและสื่อใหม่ เด็กสามารถเข้าถึงได้แทบทุกสื่อแบบไม่มีจำกัด (หากผู้ปกครองไม่ควบคุมเอง) และแม้ว่าจะมีรายการช่องทางสาธารณะมากมายที่จัดเรตติ้งว่าเป็นรายการที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำเด็ก ๆ โดยเฉพาะรายการละครและภาพยนตร์ แต่จะมีผู้ปกครองสักกี่คนที่จะมานั่งกำกับแนะนำเวลาที่ลูกหลานตัวเองนั่งดูละคร ในช่วงเวลาที่เด็กยังไม่นอน
แต่สังคมทุกวันนี้มันน่ากลัวเกินไปที่จะปล่อยบุตรหลานเราเอาไว้กับสื่อที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไรว่าถ้าเด็กมาดู เด็กจะจำอะไรไปบ้าง แน่นอนว่ามันเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองก็จริงที่ต้องควบคุมดูแลบุตรหลานของตัวเองให้ได้ แต่ในภาพรวมระดับใหญ่ ก็ควรจะให้ความสำคัญกับ “สื่อสร้างสรรค์” ให้มากสักหน่อย สื่อสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อ เพราะมันสามารถทำให้สนุกได้โดยไม่ต้องหยาบคาย หยาบโลน หรือถ่อยให้ดูเท่แต่อย่างใด
เพราะเราไม่สามารถเข้าไปควบคุมการเสพสื่อของบุตรหลานได้ตลอดเวลา แต่จะมีบางช่วงเวลาที่เราอาจจะนั่งดูโทรทัศน์ร่วมกับบุตรหลาน อย่างช่วงที่ละครหรือภาพยนตร์ (ที่ออกฉายทางโทรทัศน์) มา ดังนั้น เราสามารถใช้เวลานี้ในการสอนและแนะนำบุตรหลานได้ว่าสิ่งที่เขากำลังดูอยู่นั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร การที่เด็ก ๆ “ดูอยู่กับใคร” จึงน่าจะดีต่อการเรียนรู้ของพวกเขามากกว่า
พฤติกรรมที่ดีและไม่ดี
ละคร ภาพยนตร์ หรือแม้แต่การ์ตูนสำหรับเองก็ตาม มักจะมีการสร้างตัวละครให้มีคาแรกเตอร์ของทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดีเสมอ เพื่อให้มีปมขัดแย้งและมีเรื่องให้เล่า ถ้าผู้ปกครองนั่งดูอยู่กับเด็ก ๆ ต้องใช้โอกาสนี้ในการสอนให้เด็ก ๆ รู้จัก แยกแยะอย่างมีวิจารณญาณว่าอะไรถูกอะไรผิดก่อน สอนให้รู้ว่าพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีเป็นอย่างไร แบบไหนดี ดูแล้วจำเป็นตัวอย่างได้ แบบไหนไม่ดี ไม่น่ารัก ทำแล้วทำให้คนอื่น ๆ เดือดร้อน ก็ต้องจำเหมือนกันว่าอย่านำไปทำตาม รวมถึงพยายามชี้แนะให้เห็นด้วยว่าผลลัพธ์ของพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นอย่างไร เด็ก ๆ มักจะมีพฤติกรรมเลียนแบบโดยที่ยังแยกแยะไม่เป็น จึงต้องรีบสอนให้รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี
ธรรมชาติของผู้คนที่มีความหลากหลาย
“โตไปไม่เหยียด” เป็นเรื่องที่ต้องสอนกันให้รู้ตั้งแต่เล็ก ๆ เลยนี่ล่ะ เพราะถ้าไม่สอนให้เข้าใจ เมื่อเด็กโตพอจะเข้าโรงเรียน พวกเขามีโอกาสที่จะไปบูลลี่ใส่เพื่อนในห้อง หรืออาจตกเป็นเหยื่อการบูลลี่จากเด็กคนอื่น ๆ ก็ได้ ซึ่งเด็กนี่แหละจะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการเหยียด หากพวกเขาไม่เคยถูกสอนให้เข้าใจเรื่องความแตกต่างและความหลากหลายมาก่อน เด็ก ๆ เล่นกันอาจจะเหมือนการแกล้งกันธรรมดา แต่พอโตขึ้นมันจะยิ่งรุนแรงกว่าเดิม ยิ่งสื่ออย่างละคร ภาพยนตร์ทุกวันนี้มักมีการเล่นมุกตลกที่ใช้เหยียดคนอื่นแฝงอยู่เยอะมาก รวมไปถึงพฤติกรรมการกลั่นแกล้งผู้อื่นที่แตกต่างจากตนเอง ผู้ปกครองจึงต้องชี้แนะให้เด็กเห็นว่าคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน แม้ว่าเราจะแตกต่างกัน
พรหมวิหาร 4 สิ่งที่ควรมีให้กับผู้อื่น
แน่นอนว่าการจะไปสอนเด็กเล็ก ๆ ว่าพรหมวิหาร 4 คืออะไรอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องสอนให้เด็ก ๆ ได้รู้และซึมซับคือความหมายของ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ต่างหาก เมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้ผู้อื่นมีความสุข กรุณา คือ ความสงสาร ความปรารถนาที่จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ มุทิตา คือ ความปีติยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี และอุเบกขา คือ ความวางเฉยให้เป็นกลาง ไม่ซ้ำเติมคนที่กำลังทุกข์ เนื่องจากในละครหรือภาพยนตร์มักจะมีเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สามารถนำเอาหลักพรหมวิหาร 4 เข้าไปจับและสอนได้ โดยการสอนนี้ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับศาสนาก็ได้ เพราะศาสนาอื่นก็จะมีคำสอนลักษณะนี้คล้าย ๆ กัน มันเป็นวิธีสากลในการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.