เมื่อเราผูก “เบอร์มือถือ” กับชีวิตในโลกออนไลน์
หากพูดถึงการใช้ประโยชน์จาก “เบอร์มือถือ” เราพอจะนึกกันออกไหมว่าทุกวันนี้เราใช้เบอร์มือถือทำอะไรกันบ้างในชีวิตประจำวัน เมื่อลองมาพิจารณาดูดี ๆ จะเห็นว่าเราใช้ประโยชน์จากเบอร์มือถือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์เยอะมาก แต่เรากลับใช้เบอร์มือถือเพื่อโทรหากันน้อยลง แน่นอนว่าเบอร์โทรศัพท์มือถือยังคงมีความสำคัญสำหรับการติดต่อสื่อสาร ถึงแม้ว่าเราจะมีไลน์ มีเฟซบุ๊ก (แอปฯ เมสเซนเจอร์) มีอินสตาแกรม ไว้ใช้สื่อสาร แอปฯ เหล่านี้มีฟังก์ชันในการแชต วอยซ์คอล วิดีโอคอล ให้ใช้งานได้ฟรี แต่เรามักจะได้ยินเสมอว่า “ถ้าด่วนให้โทร”
อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันที่เราใช้เบอร์โทรศัพท์สำหรับโทรหากันน้อยลง เพราะเราหันไปใช้งานฟังก์ชันสื่อสารในแอปฯ สื่อสารหรือโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ร่วมกับอินเทอร์เน็ตแทน ทว่าเบอร์มือถือก็ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเรากับโลกออนไลน์ แต่รู้ไหมว่ายิ่งเราเอาเบอร์มือถือไปยึดโยงกับตัวตนบนออนไลน์มากเท่าไร ชีวิตเราก็ดูจะไม่ปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น แค่เบอร์มือถือที่หลุดออกไปสู่สาธารณะ อาจถูกผู้ไม่หวังดีนำไปโพสต์ประจานจนโดนโทรก่อกวนไม่หยุดหย่อน ที่สำคัญ ยังมีช่องโหว่ให้มิจฉาชีพนำไปใช้งานได้ในหลาย ๆ รูปแบบ แบบที่ใครหลาย ๆ คนโดนแก๊งคอลเซนเตอร์โทรหาวันละหลายรอบ หรือเจอข้อความฟิชชิ่งหลอกให้กดลิงก์ เป็นต้น
แต่นั่นก็อาจจะยังไม่หายนะเท่ากับการที่ “เบอร์เก่า” ของเราถูกนำมา “รีไซเคิลใหม่” ในตลาดเบอร์ เบอร์เก่าที่เรายกเลิกไปแล้ว ถูกนำไปขายต่อให้กับคนอื่น สิ่งที่น่ากลัวก็คือ คนใหม่ที่ได้เบอร์เก่าของเราไปอาจจะยังเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหลายของเราได้ เมื่อเบอร์มือถือของเราถูกผูกติดกับโลกออนไลน์เยอะแยะไปหมด คนที่ได้เบอร์เก่าของเราไปใช้ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้หมดทุกอย่าง ถ้าเราไม่ได้ทำเรื่องถอดเบอร์เก่าออกจากบริการต่าง ๆ เมื่อระบบส่งรหัส OTP มาให้ มันจะถูกส่งไปที่เบอร์เก่า (ในมือคนใหม่) ด้วยนั่นเอง
สมัครการใช้งานแอปพลิเคชันต่าง ๆ
นอกจากอีเมลแล้ว แอปฯ สำหรับติดต่อสื่อสาร แอปฯ ความบันเทิง ดูหนังฟังเพลง หรือแอปฯ จัดส่งของ อย่างพัสดุ เอกสาร หรือเดลิเวอรี่อาหาร และบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ มักจะมีการขอผูกเบอร์โทรศัพท์ของเราเข้ากับแอปฯ ในการสมัครเข้าใช้งาน เพื่อขอเข้าถึงเบอร์โทรศัพท์และรายชื่อผู้ติดต่อของเราให้มาเชื่อมต่อให้กันในแอปฯ หรืออาจเพื่อที่จะทำการตลาด โดยจะมีการส่งข้อความที่มีความเป็นส่วนตัวสูงให้สมาชิกที่ได้ลงทะเบียนไว้ หรือใช้สำหรับการยื่นข้อเสนอพิเศษในแคมเปญต่าง ๆ เป็นโปรโมชันร่วมกับค่ายมือถือที่เราใช้งานอยู่ หรือเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับติดต่อเราเพื่อส่งพัสดุ ส่งเอกสาร หรือส่งอาหาร จึงต้องบังคับให้เราใช้เบอร์มือถือในการสมัครใช้งาน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ บริการต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้มีข้อมูลของเราเพียงแค่เบอร์มือถือเท่านั้น แต่ยังเก็บข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ของเราไปด้วย มากน้อยแตกต่างกัน แต่หลัก ๆ ก็มีชื่อ-นามสกุล เบอร์มือถือ อีเมล และที่สำคัญ ยังเก็บ “พฤติกรรม” การใช้งานของเราด้วย ข้อมูลต่าง ๆ ที่เราคุยกับเพื่อน ประเภทของคอนเทนต์ที่เราชอบเสพ ร้านอาหารที่เราสั่งบ่อย ๆ เป็นต้น มันจึงกลายเป็นที่มาของกฎหมาย PDPA ที่จะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเราจากการเข้าใช้งาน ในยุคที่มิจฉาชีพสามารถหาซื้อข้อมูลเหล่านี้ได้ไม่ยาก หรืออาจจะหลุดจากฐานข้อมูลผู้ให้บริการก็ได้
เป็นตัวเลือกหนึ่งในการรักษาความปลอดภัย สำหรับยืนยันตัวตน
ตัวเลือกหนึ่งที่เรามักเลือกใช้เพื่อรักษาความปลอดภัยในการเข้าใช้งานแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็คือ เบอร์โทรศัพท์นี่แหละ สังเกตไหมว่าทุกวันนี้ ไม่ว่าเราจะสมัครเข้าใช้งานแอปฯ อะไรก็ตาม หรือจะสร้างบัญชีเพื่อใช้บริการใด ๆ เรามักจะถูกขอให้กรอกเบอร์โทรศัพท์ด้วยเสมอ จากนั้นระบบจะส่งรหัส OTP (One Time Password) มาให้ ซึ่ง OTP ก็คือรหัสผ่านที่สามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียวต่อการเข้าสู่ระบบหนึ่งครั้ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นตัวเลขหรือตัวอักษร 4-6 หลัก ที่มีระยะเวลาใช้งานสั้นมากเพียงไม่กี่นาที โดยถ้าหากกรอกรหัสผิดเกินจำนวนครั้งที่กำหนดหรือกรอกช้ากว่าเวลากำหนด การเข้าระบบนั้นก็จะไม่สำเร็จนั่นเอง
ปัจจุบันการส่ง OTP ให้ทางเบอร์โทรศัพท์ กลายเป็นหนึ่งในวิธีการยืนยันตัวตนเพื่อรักษาความปลอดภัยที่แพร่หลายมาก ไม่ว่าจะบริการไหน ๆ ก็จะมีการส่ง OTP ให้กับผู้ใช้งานผ่านทาง SMS เบอร์มือถือเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับการเข้าใช้บัญชี หรือการทำธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ แทบทั้งสิ้น ทั้งการเข้าใช้งานแอปพลิเคชันต่าง ๆ พวกแอปฯ สำหรับติดต่อสื่อสาร แอปฯ โซเชียลมีเดีย แอปฯ ธนาคาร แอปฯ ชอปปิงออนไลน์ (ในขั้นตอนการชำระเงินผ่านบัญชีธนาคารหรือผ่านบัตรเครดิต อาจมีการส่ง OTP มาให้) เนื่องจาก SMS OTP เป็นการส่งรหัสที่แม่นยำและใช้เวลาน้อย เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าที่ใช้สมาร์ตโฟน การยืนยันตัวตนผ่าน SMS จึงเป็นวิธีที่ง่ายและนิยมมากที่สุดในโลก
แต่การยืนยันตัวตนด้วยมือถือผ่านการรับ SMS OTP ก็ไม่ได้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมันก็มีเทคนิคในการแฮกอยู่มากมาย หรือมีช่องโหว่ระบบ ที่ช่วยให้แฮกเกอร์สามารถปลอมเป็นเราและรับ OTP ของเราได้เรื่อย ๆ ซึ่งช่องโหว่พวกนี้เกิดที่ระบบซิมการ์ดเอง จึงทำให้พวกแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไปแก้ไม่ได้ และที่สำคัญคือไม่ต้องรับผิดชอบอะไรด้วย แม้ว่ามันอาจจะทำได้ไม่ง่ายเท่าไรนัก แต่มันก็ทำได้ รวมถึงการที่เบอร์มือถือไม่ใช่ระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์เพื่อใช้ยืนยันตัวตนบุคคล ที่สำคัญ มันยังเป็นระบบพื้นฐานที่เราอาจจะ “เปลี่ยนเบอร์” ได้ แต่ระบบทุกวันนี้กลับพยายามจะผูกชีวิตออนไลน์ทุกอย่างของคนคนหนึ่งไว้กับเบอร์มือถือ
สะสมแต้มเวลาชอปปิง
อีกหนึ่งการใช้งานเบอร์มือถือที่แทบจะแทนที่การใช้งานเดิมอย่างการโทรออกและรับสายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือการใช้เบอร์โทรศัพท์สำหรับสะสมแต้มหลังชอปปิง ไม่ว่าจะแต้มของร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องสำอาง หรือเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเราต้องแสดงความเป็นสมาชิก และแจ้งหมายเลขสมาชิกเพื่อทำการสะสมแต้ม ส่วนมากเลขสมาชิกดังกล่าวก็คือเบอร์โทรศัพท์นั่นเอง วิธีการก็คือ เราสามารถแจ้งเบอร์โทรศัพท์กับพนักงานเก็บเงิน หรือกดเบอร์โทรศัพท์ของเราที่เครื่องเล็ก ๆ หน้าเคาน์เตอร์เพื่อเก็บแต้มจากการใช้จ่ายได้ทันที ส่วนแต้มที่สะสมไว้ก็เพื่อนำไปแลกรางวัล แลกของสมนาคุณ หรือแลกส่วนลดต่าง ๆ
สิ่งที่ต้องระวังก็คือ การจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ในร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องสำอาง และห้างสรรพสินค้า มันเป็นสถานที่สาธารณะ การบอกเบอร์กับพนักงาน บางทีเราก็เสียงดังมากพอที่จะทำให้คนที่ต่อแถวอยู่ข้างหลังได้ยินไปด้วย หรือในขณะที่เรากดเบอร์ที่เครื่องด้านหน้าเคาน์เตอร์ เราก็ไม่รู้หรอกว่าจะถูกแอบสังเกตหรือจดจำเบอร์ไปหรือเปล่า การได้ไปซึ่งเบอร์มือถือ เมื่อก่อนอาจจะดูไม่อันตรายเท่าไรนัก ก็แค่เบอร์มือถือจะเอาไปทำอะไรได้ แต่ในยุคที่เราใช้เบอร์มือถือผูกเข้ากับบริการนั้นบริการนี้ในออนไลน์มากมายไปหมด มันทำให้เราเสี่ยงจะโดนนำเบอร์มือถือไปสืบค้นข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ที่ถูกเก็บรวบรวมไว้ด้วยกันเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเรา
รวมถึงอาจถูกมิจฉาชีพจดจำเบอร์มือถือนำมาใช้หลอกลวงเราด้วยมุกมิจฉาชีพต่าง ๆ อีกทีก็ได้ เพราะเบอร์มือถือน่ะ จะโทรเข้ามาหลอกลวงแบบแก๊งคอลเซนเตอร์ก็ได้ หรือจะส่งเป็นข้อความฟิชชิ่งมาหลอกให้เรากดเข้าลิงก์ แล้วดูดข้อมูลหรือเงินจากบัญชีของเราไปก็ได้เหมือนกัน
บริการพร้อมเพย์ที่ใช้เบอร์มือถือสำหรับรับโอนเงิน
และนี่ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้เราได้ใช้เบอร์มือถือบ่อยกว่าการโทรที่เป็นหน้าที่หลักของมัน ก็คือบริการพร้อมเพย์แบบเบอร์มือถือ ทุกวันนี้เราแทบจะไม่จำหมายเลขบัญชีธนาคารกันอีกต่อไปแล้ว เพราะเราสามารถรับเงิน-โอนเงินได้ด้วยเบอร์มือถือเท่านั้น ด้วยเหตุที่มันคงจะจำง่ายกว่า ก็นะ เราใช้เบอร์มือถือในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมายทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์จนจำได้ขึ้นใจ ที่สำคัญ เวลาจะโอนเงินให้ใครหรือให้ใครโอนเงินหาเรา บอกแค่เบอร์มือถือกับชื่อเจ้าของเบอร์ก็จบแล้ว ไม่ต้องบอกว่าธนาคารไหน เราจึงใช้บริการพร้อมเพย์เบอร์มือถือกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม มันมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยกับการใช้เบอร์มือถือในการโอน-รับโอนเงิน เพราะทุกวันนี้มันมีสิ่งที่เรียกว่ามิจฉาชีพและ “บัญชีม้า” การที่มิจฉาชีพได้เบอร์มือถือของเราไป ก็อาจจะนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการใช้บัญชีของเราเป็นทางผ่านในการรับโอนเงินจากเหยื่อ มุกเบื้องต้นก็คือมิจฉาชีพนำเบอร์พร้อมเพย์ของเราไปใช้หลอกลวงให้เหยื่อคนอื่นโอนเงินมาให้เรา อาจจะเป็นการจ่ายค่าสินค้าและบริการอะไรสักอย่าง จากนั้นก็ติดต่อมาหาเราว่ามีการโอนเงินผิด ให้เรารีบโอนเงินคืน ถ้าโอนกลับช้าหรือไม่โอนกลับ ก็เหมือนเรามีพฤติกรรมจะฉ้อโกง ด้วยความที่กลัวผิด เราจึงทำตามคำแนะนำของมิจฉาชีพโดยที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองก็ตกเป็นเหยื่อเหมือนกัน ในฐานะของบัญชีม้าที่รับโอนเงินจากเหยื่อแล้วโอนไปให้มิจฉาชีพที่ปลายทาง
จะเห็นว่าไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่นี้ เบอร์มือถือดูจะมีความสำคัญน้อยลงในแง่ของการโทรศัพท์หากันผ่านเบอร์มือถือ เมื่อก่อนเวลาแอบชอบแอบถูกใจใคร เราอาจจะเดินเข้าไปขอเบอร์มือถือเขา แต่ทุกวันนี้เรากลับขอไลน์ ขอเฟซบุ๊กของเขาแทน หรือเวลาที่จะติดต่อกับคนอื่น มักจะต้องเป็นเรื่องด่วนจริง ๆ เราถึงจะกดเบอร์มือถือของเขาแล้วโทรหา ส่วนใหญ่จะใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันสำหรับการสื่อสารที่มันมีประสิทธิภาพมากกว่าและประหยัดเงิน แชตก็ได้ วอยซ์คอล-วิดีโอคอลก็ฟรี แต่เรากลับนำเบอร์มือถือไปใช้ประโยชน์กันในแง่อื่น ๆ แทน เบอร์มือถือจึงมีความสำคัญมากกว่าแค่ใช้สำหรับการโทร ในขณะเดียวกัน เราควรระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยในหลาย ๆ ด้านให้มากขึ้นด้วย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.