วิธีป้องกันตัวเองจาก “สารเคมีอันตราย” เมื่อเกิดเหตุ “ไฟไหม้”
กรณีที่เกิดเพลิงไหม้จากสารเคมี ห้ามใช้น้ำฉีดไปยังบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้โดยตรง เนื่องจากจะทำให้เกิดการกระจายตัวของเพลิงมากขึ้น ควรใช้ผงเคมีแห้ง คาร์บอนไดออกไซด์ หรือโฟมดับเพลิง
สไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer) เป็นสารเคมีอันตราย ถ้าหายใจเข้าไป จะเกิดการระคายระบบทางเดินหายใจ และคอ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย และคลื่นไส้ ถ้าได้รับสารปริมาณสูง จะชักและเสียชีวิตได้
หากอาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรของเพลิงไหม้สารเคมี ควรอพยพออกนอกพื้นที่ กรณีที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ควรหลบในบ้านหรืออาคารที่ปิดหน้าต่าง โดยนำผ้าชุบน้ำปิดกั้นตามขอบหน้าต่างและประตู หากเป็นไปได้ ควรสวมหน้ากาก N95 หรือหน้ากากที่ฉาบด้วยสารกรองคาร์บอนหรือหน้ากากกรองก๊าซของโรงงาน
จากเหตุโรงงานเกิดการระเบิดและมีไฟไหม้ลุกลาม ในจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ส่งผลให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต้องประกาศอพยพประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร ออกจากพื้นที่โดยด่วน รวมถึงเตือนให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการสูดดมกลิ่นควันจากสารเคมี ‘สไตรีนโมโนเมอร์’ สารก่อมะเร็งและมีอันตรายถึงชีวิต ซึ่งสามารถกระจายออกไปโดยรอบได้ถึง 10 กิโลเมตร
สารสไตรีนโมโนเมอร์
สไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer) เป็นสารเคมีอันตราย ใช้ในการผลิตโพลีสไตรีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมผลิตยางสังเคราะห์และพลาสติก เช่น บรรจุภัณฑ์ เรซิน สี และฉนวนที่เป็นโฟม นอกจากนี้ยังใช้ในชิ้นส่วนรถยนต์และของใช้ในบ้าน
สไตรีนโมโนเมอร์เป็นสารเคมีเหลวใสและมีความข้นเหนียว หากสารมีอุณหภูมิมากกว่า 31°C (88°F) จะติดไฟอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย เมื่อถูกเผาไหม้จะเกิดควันดำหรือฝุ่น PM10 และ PM2.5 รวมถึงก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และสไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2B
ผลกระทบต่อสุขภาพของสารสไตรีนโมโนเมอร์
- เป็นสารระเหย แม้อยู่ในน้ำหรือดิน การปนเปื้อนในดินอาจนำไปสู่น้ำใต้ดินเพราะสารนี้ไม่ค่อยจับตัวกับดิน
- ถ้าหายใจเข้าไป จะเกิดการระคายระบบทางเดินหายใจ และคอ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย และคลื่นไส้
- ถ้าได้รับสารปริมาณสูง จะชักและเสียชีวิตได้
- การหายใจเข้าไปในระยะนานๆ แม้ว่าความเข้มข้นต่ำจะทำให้อาจมีอาการทางสายตา การได้ยินเสื่อมลง และการตอบสนองช้าลง
- ถ้าเข้าตา จะเคืองตา
- ถ้าถูกผิวหนัง จะรู้สึกระคายผิว ถ้าสารซึมเข้าผิวหนังจะมีอาการเหมือนหายใจเข้าไป ทำให้ผิวแดง แห้ง แตก
- ผลในระยะยาวนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด
การปฐมพยาบาล เมื่อสัมผัสกับสารเคมีอันตราย
- หากสัมผัสสารเคมีที่ผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดให้มากที่สุด เพื่อให้สารเคมีเจือจาง
- กรณีสัมผัสทั่วร่างกายให้รีบถอดเสื้อผ้าออก
- กรณีสารเคมีเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที โดยเปิดเปลือกตาขึ้นให้ไหลผ่านตาอย่างน้อย 15 นาที ป้ายขี้ผึ้งป้ายตา แล้วรีบนำส่งแพทย์โดยเร็ว
- หากสูดดม ให้ย้ายผู้ที่ได้รับสารไปที่อากาศบริสุทธิ์ ประเมินการหายใจ และการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่มีให้ทำการ CPR และรีบขอความช่วยเหลือ เพื่อส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
กรณีเกิดเพลิงไหม้ สารเคมีอันตราย
“คู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง” โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ระบุการจัดการกรณีเพลิงไหม้ ดังนี้
- ห้ามใช้น้ำฉีดไปยังบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้โดยตรง เนื่องจากจะทำให้เกิดการกระจายตัวของเพลิงไหม้มากขึ้น ควรใช้ผงเคมีแห้ง คาร์บอนไดออกไซด์ หรือโฟมดับเพลิง
- สิ่งสำคัญ ต้องควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกไหม้ไปยังภาชนะที่ยังไม่เสียหายและพยายามเคลื่อนย้ายออกจากบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ เพื่อลดจำนวนสารเคมีที่พร้อมติดไฟตลอดเวลา
- สำหรับการใช้น้ำเพื่อควบคุมเพลิงนั้น ควรอยู่ในระยะไกลที่สุด หรือใช้สายฉีดน้ำชนิดที่ไม่ต้องใช้คนถือหรือหัวฉีดที่มีระบบควบคุม โดยฉีดฝอยน้ำเพื่อหล่อเย็นถังเก็บและภาชนะบรรจุสไตรีนโมโนเมอร์ จนกว่าเพลิงจะสงบ
- หากพบว่าถังเก็บและภาชนะบรรจุเปลี่ยนสีหรือหากได้ยินเสียงจากอุปกรณ์นิรภัยระบายไอ ให้รีบออกจากบริเวณเพลิงไหม้ทันที
- ห้ามเข้าใกล้บริเวณหัวหรือท้ายของถังเก็บและภาชนะบรรจุ ควรใช้ถุงทรายหรือวัสดุปิดกั้นวางป้องกันกรณีสารเคมีรั่วลงสู่สิ่งแวดล้อม
- เมื่อระงับเหตุได้แล้ว ควรตรวจวัดไอระเหยของสารสไตรีนโมโนเมอร์
- รายงาน แจ้งเหตุ และปฏิบัติตามแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน
- แจ้งเหตุการณ์เกิดเพลิงไหม้ไปยังโรงงานข้างเคียง เพื่อป้องกันเหตุหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
- กรณีที่ยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ให้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อขอความช่วยเหลือ
การดูแลตัวเอง จากภัยพิบัติที่เกิดจากสารเคมี
- หากอาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรของเพลิงไหม้ ควรอพยพออกนอกพื้นที่ ไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัย เช่น เหนือลม
- กรณีไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ควรหลบในบ้าน หรืออาคารที่ปิดหน้าต่าง โดยนำผ้าชุบน้ำปิดกั้นตามขอบหน้าต่างและประตู เพื่อป้องกันสารระเหยเข้าไปภายในบ้าน
- สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากเป็นไปได้ ควรสวมหน้ากาก N95 หรือหน้ากากที่ฉาบด้วยสารกรองคาร์บอน (Activated carbon) หรือหน้ากากกรองก๊าซของโรงงาน
- หากรู้สึกระคายเคือง ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามร่างกาย
- กรณีมีอาการแน่นจมูก แสบจมูก ต้องรีบออกไปยังบริเวณอากาศถ่ายเทสะดวก
- หากหมดสติ ควรรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที
- สวมแว่นตา หากมีอาการแสบตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาด 2-3 นาที หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์
ไม่มีใครต้องการให้เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงาน ซึ่งมีสารเคมีอันตรายสูงเช่นนี้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว การทำความรู้จัก และเรียนรู้วิธีถึงวิธีควบคุมเพลิง การปฏิบัติตนในภาวะภัยพิบัติจึงมีความสำคัญอย่างมาก ไม่ตื่นตระหนก รวมถึงรับฟังข่าวสาร และปฏิบัติตามคำแนะนำของนักวิชาการ แพทย์ และหน่วยงานที่ดูแลเหตุการณ์ นอกจากนี้เมื่อเหตุการณ์สงบ ต้องระวังน้ำเสียที่เกิดจากการดับเพลิงจะปนเปื้อนสารเคมีไหลลงสู่ลำคลองใกล้เคียง ส่งผลต่อระบบนิเวศทางน้ำ ควรงดรับประทานสัตว์น้ำในบริเวณเกิดเหตุ หรือตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
- ไฟไหม้-สำลักควัน ต้องทำอย่างไร วิธีการเอาชีวิตรอดฉบับละเอียด
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.