“ชานมไข่มุก” ทำท้องอืด เพราะไข่มุกไม่ย่อยได้จริงหรือ?

“ไข่มุก” ที่อยู่ในชานมไข่มุก ที่เรากินกันอยู่บ่อยๆ ความเหนียวหนุบหนับนิดๆ ที่มาพร้อมกับรสชาติหวานอ่อนๆ ผสมกับเครื่องดื่มสูตรเข้มข้น ทำเอาหลายๆ คนติดใจจนแทบจะหยุดกินกันไม่ได้ จนทำให้ตอนนี้มีร้านชาไข่มุกทั้งเปิดใหม่ในไทย กับเพิ่มสาขาจากต่างประเทศเกิดขึ้นมากมายจนชิมกันไม่หวาดไม่ไหว และเป็นเครื่องดื่มฮอตฮิตติดเทรนด์ในประเทศแถบเอเชียเป็นที่เรียบร้อย

แต่เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวที่พูดถึงเด็กชาวจีนที่มีอาการปวดท้อง แล้วไปตรวจกับแพทย์ พบว่ามีไข่มุกอัดอยู่เต็มกระเพาะอาหาร และส่วนอื่นๆ เพราะรับประทานไข่มุกมากเกินไปจนไม่ย่อย แท้ที่จริงแล้วเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงหรือ?

ชานมไข่มุก กินเยอะ ไม่ย่อย?

จากโพสต์ในเฟซบุค Jessada Denduangboripant ของ รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเอาไว้ว่า “ไข่มุกในเครื่องดื่มต่างๆ ทำจากแป้งมันสำปะหลังกวนผสมกับน้ำเชื่อมของน้ำตาลทรายแดง ปรุงแต่งกลิ่นสี แล้วปั้นเป็นเม็ด ก่อนที่จะไปต้มอีกครั้ง (นึกภาพแบบการทำเม็ดบัวลอย) จึงเป็นอาหารที่ย่อยได้ไม่ยากอะไร เพราะร่างกายของคนเราสามารถย่อยแป้งและน้ำตาลได้โดยง่าย”

เรื่องของการกินไข่มุกมากเกินไปจนร่างกายไม่ย่อยนั้น รศ.เจษฎายังมีคำอธิบายต่อว่า “ปกติแล้วเมื่อเรากินอาหาร เราจะบดอาหารด้วยการเคี้ยวในปากก่อนกลืนลงท้อง โดยเอนไซม์อะไมเลสในน้ำลาย (salivary amylase) จะคลุกเคล้าผสมกับอาหาร และทำการย่อยแป้ง ไปตลอดเส้นทางที่ก้อนอาหารเคลื่อนที่ผ่านหลอดอาหารลงไปจนถึงกระเพาะ ซึ่งแม้ว่าน้ำย่อยที่เป็นกรดรุนแรงของกระเพาะเรา จะหยุดการทำงานของเอนไซม์อะไมเลสไปบ้าง แต่อะไมเลสที่ซึมอยู่ในก้อนอาหารนั้นแล้วก็จะทำงานย่อยแป้งต่อไป

“นอกจากนี้ เมื่ออาหารที่ย่อยที่กระเพาะส่วนนึงแล้ว เคลื่อนที่ต่อไปที่ลำไส้เล็ก กระบวนการย่อยแป้งก็จะทำงานอย่างเต็มที่ในบริเวณลำไส้เล็กนี้ โดยผนังลำไส้เล็กจะปล่อยเอนไซม์เด็กซตรินเนส (dextrinase) และกลูโคอะไมเลส (glucoamylase) มาย่อยแป้งและโพลีซัคคาไรด์ (polysaccharide) ให้กลายเป็นโอลิโกซัคคาไรด์ (oligosaccharide) จากนั้นเอนไซม์อะไมเลสจากตับอ่อน (pancreatic amylase) และเอนไซม์อื่นๆ จากตับอ่อน (pancreas) จะย่อยโอลิโกซัคคาไรด์ต่อไป จนสุดท้ายได้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ก่อนที่ลำไส้เล็กจะดูดซึมไปใช้งานในร่างกาย”

ดังนั้น การที่มีอาหารที่ทำจากแป้งและน้ำตาลอย่างไข่มุกในสภาพที่ไม่ถูกย่อยอยู่ในกระเพาะอาหาร ลำไส้ ไปจนถึงทวารหนักนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ แต่หากรู้สึกท้องอืด อาหารไม่ย่อย สามารถมีโอกาสเป็นได้ แต่เป็นเพราะกินอาหาร (ไม่ว่าอะไรก็ตาม) เยอะเกินไปนั่นเอง

ไข่มุก กินได้ ปลอดภัย แต่อย่ากินเยอะ

แม้ว่าการกินไข่มุกไม่ได้อันตรายถึงขั้นห้ามกินเยอะ แต่ก็ไม่แนะนำให้กินเยอะ เพราะส่วนผสมของไข่มุกอย่างแป้งและน้ำตาล ทำให้น้ำหนักขึ้น มีไขมันส่วนเกินที่เผาผลาญพลังงานไปไม่หมดจนเกิดเป็นห่วงไขมันรอบเอว สะโพก ต้นขาได้ง่ายๆ นอกจากนี้ยังควรระมัดระวังในการดูดไข่มุกจากหลอดเข้าปาก เพราะจังหวะดูดเข้าปากแรงๆ ไข่มุกอาจพลัดหลุดเข้าคอโดยที่เราไม่ทันได้เคี้ยว หรือเราอาจจะกลืนโดยเคี้ยวไข่มุกไม่ละเอียด ซึ่งอาจอันตรายติดหลอดลมจนหายใจไม่ออกได้

กินไข่มุกอย่างไรให้ปลอดภัย?

  1. เลือกไข่มุกจากร้านที่ขายไข่มุกเม็ดขนาดเล็ก ดูดด้วยหลอดใหญ่แล้วไม่ติดหลอดจนต้องใช้แรงดูดมาก เพื่อลดอันตรายที่จะดูดเข้าไปติดในหลอดลม
  2. เคี้ยวไข่มุกให้ละเอียดก่อนกลืน
  3. ไม่กินไข่มุกมากเกินไป ควรกินไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน
  4. จำกัดอาหารที่มีแป้ง และน้ำตาลในวันเดียวกันกับที่กิน
  5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  6. หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ไม่ควรกิน หรือกินให้น้อยที่สุด

อ่านเพิ่มเติม

  • ประวัติ "ชานมไข่มุก" เครื่องดื่มสุดฮิตที่ทุกคนหลงรัก จากประเทศไต้หวัน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.