ซีสต์ กับเนื้องอก ต่างกันอย่างไร? แบบไหนอันตรายกว่ากัน?
เมื่อผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัย 25 ไปจนถึง 40-50 ปลายๆ น่าจะเริ่มได้ยินคำว่า “ซีสต์” กับ “เนื้องอก” บ่อยขึ้น ไม่ว่าจะมาจากผลการตรวจสุขภาพประจำปีของตัวเอง หรือมาจากอาการเจ็บป่วยของเพื่อนฝูงรอบกายที่ทยอยต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดไปทีละคน แต่สงสัยกันบ้างไหมคะ ทำไมบางคนเป็นซีสต์ บางคนบอกว่าเป็นเนื้องอก แล้วสองอย่างนี้มันเหมือน หรือต่างกันยังไง ไปหาคำตอบกับ Sanook! Health กันค่ะ
ซีสต์ คืออะไร?
ซีสต์ คืออาการแบ่งเซลล์อันผิดปกติของร่างกาย ก่อให้เกิดสิ่งผิดปกติที่มีลักษณะเป็นถุงน้ำคล้ายลูกโป่งใส่น้ำใสๆ อยู่บริเวณอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งภายในร่างกาย เช่น ซีสต์ที่หลังใบหู คอ (เป็นซีสต์ในผิวหนังชั้นนอก) เต้านม รังไข่ และอื่นๆ
ส่วนใหญ่แล้ว ซีสต์ที่เป็นถุงน้ำมักไม่เป็นอันตรายร้ายแรง และไม่พัฒนาต่อไปเซลล์มะเร็ง หากมีขนาดเล็กๆ และไม่มีการเจ็บปวดอะไร แพทย์จะยังรอดูอาการต่อ แต่หากมีขนาดใหญ่เกิน 5 เซนติเมตร แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดออกก่อนที่จะใหญ่ไปกว่าเดิม หรืออาจมีกรณีที่ถุงซีสต์บิดขั้วจากการเบียดกันของอวัยวะรอบๆ ทำให้เลือดไม่ไหลเวียนเข้าไปในถุง ทำให้ถุงซีสต์เน่า อักเสบ จนผู้ป่วยมีอาการปวดจนต้องผ่าตัดด่วน
อย่างไรก็ตาม ยังมีซีสต์ชนิดที่เป็นอันตรายกับร่างกาย นั่นคือ ช็อคโกแลตซีสต์ หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เมื่อถึงเวลามีประจำเดือน เลือดจะแทรกตัวขังอยู่ในอวัยวะที่มันเกาะทำให้เป็นซีสต์เกิดขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง มดลูกโต หรือมีประจำเดือนมากผิดปกติ
เนื้องอก คืออะไร?
เนื้องอก เป็นเซลล์ที่เจริญผิดปกติเหมือนกับซีสต์ แต่มีลักษณะที่ต่างกัน คือเป็นก้อนเนื้อตันๆ จึงมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเนื้อร้าย หรือเป็นเซลล์มะเร็งได้มากกว่าซีสต์ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่หยุดการเจริญเติบโต เป็นแค่ก้อนเนื้อธรรมดา หากมีขนาดใหญ่แค่ผ่าตัดออกก็ไม่มีปัญหา หากมีขนาดเล็กอาจไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดเช่นกัน
สาเหตุของซีสต์ และเนื้องอก
ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของซีสต์ และเนื้องอก หากสอบถามแพทย์ แพทย์จะตอบเราได้แค่ว่าเป็นความผิดปกติของร่างกายที่มันเกิดขึ้นเอง (คล้ายมะเร็ง ที่ไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างชัดเจน) หากแต่พอจะมีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่อาจเป็นตัวเร่งเร้าให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ในร่างกายได้เช่นกัน
- นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ
- เครียด
- ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ทานอาหารรสหวาน รสเค็ม หรือรสจัดมากเกินไป
- ทานอาหารที่มีไขมันสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
- สูบบุหรี่
- ดื่มแอลกอฮอล์
- ทานอาหารที่ไม่สะอาด
- อื่นๆ
วิธีการรักษาซีสต์ และเนื้องอก
เมื่อผู้ป่วยพบความผิดปกติ จนได้รับการตรวจจนแน่ชัดว่ามีซีสต์ หรือเนื้องอกในร่างกาย แพทย์จะทำการตรวจขนาดของก้อนนั้นๆ หากมีขนาดเล็ก และยังไม่มีอาการผิดปกติอะไร แพทย์จะทำการนัดตรวจเช็คเป็นระยะๆ อาจจะเจาะเอาบางส่วนของเนื้อเยื่อไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง แต่หากมีขนาดใหญ่อาจต้องนัดผ่าตัดเพื่อนำซีสต์ หรือเนื้อเยื่อออกไปจากร่างกายถาวร ในกรณีที่เป็นซีสต์ในเต้านม หากมีขนาดไม่ใหญ่มาก และคนไข้เป็นวัยกลางคน อาจรอดูอาการจนกว่าจะประจำเดือนจะหมด เพราะซีสต์อาจยุบตัวลงเองได้เช่นกัน
ถึงจะฟังแล้วดูน่ากลัว แต่หากเราพบสิ่งผิดปกติกับร่างกายตั้งแต่ระยะแรกๆ อาจจะทำการรักษาได้ทันท่วงทีโดยไม่ต้องผ่าตัดก็ได้ค่ะ ทางที่ดีคือทานผักผลไม้มากๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ แค่ 3 ข้อง่ายๆ ก็ช่วยให้ห่างไกลจากซีสต์ และเนื้องอกได้ไม่มากก็น้อยได้แล้วค่ะ
- ภัยอันตราย “ช็อกโกแลตซีสต์” ผู้หญิงเสี่ยงทุกคน ทุกวัย
- ปวดท้องประจำเดือนมากแค่ไหนถึงเสี่ยงเนื้องอก-ซีสต์?
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก paolohospital.com, hibstation.com
ภาพประกอบจาก istockphoto
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.