‘ยุติการเชื่อมต่อ’ เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ในโลกไร้พรมแดน ไม่ได้หมายถึงเสรีภาพที่ไร้ขอบเขตในการ “เข้าถึงทุกข้อมูล” แต่คือ “เสรีภาพในการเรียนรู้บนพื้นฐานของความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิผู้อื่น” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

อาจารย์ ดร.คม วงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีแจ๊ส วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหนึ่งในคณะทำงานผลักดันวิทยาลัยฯ สู่ความยั่งยืน (Sustainability) ตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์โลก มองว่าโลกจะยั่งยืนได้ด้วยการ “เคารพสิทธิของความเป็นมนุษย์” ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนควรตระหนัก โดยหน้าที่ของทุกคนคือการช่วยกันทำให้โลกนี้น่าอยู่อย่างยั่งยืน

โดย อาจารย์ ดร.คม วงษ์สวัสดิ์ ได้เป็นผู้ริเริ่มเสนอแนวคิดที่จะหลีกเลี่ยงการติดต่อสื่อสารภายในองค์กรโดยไม่ได้คำนึงถึงเงื่อนไขของเวลาโดยกล่าวว่า

“คงไม่มีผู้ใดจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากการมีสุขภาพกายและใจที่ดีต่อไปได้ หากยังคงต้องโดนรบกวนติดต่องานในยามค่ำคืน ซึ่งเป็นเวลาพักผ่อนส่วนตัวอยู่เป็นประจำ และจะต้องเสี่ยงต่อไปอีกเพียงใดจากการแชร์ข้อมูลโดยไม่รัดกุม และขาดสำนึกรับผิดชอบต่อความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โษฑศ์รัตต ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สอนหลักในรายวิชาออนไลน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า

“หลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับนักศึกษาและบุคลากร มหาวิทยาลัยมหิดล” ทาง MUx – Mahidol University Extension ซึ่งนับเป็นด่านแรกที่สำคัญในการเตรียมพร้อมนักศึกษา และบุคลากร มหาวิทยาลัยมหิดล สู่การเป็น “พลเมืองโลกคุณภาพ” โดยได้กล่าวสนับสนุนว่า มหาวิทยาลัยมหิดลไม่เคยนิ่งนอนใจในการดำเนินการให้ความรู้และรณรงค์เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตาม “พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act: PDPA)” ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการดำเนินการจัดอบรมเรื่อง PDPA ให้กับนักศึกษา และบุคลากรทั้งเก่าและใหม่ของมหาวิทยาลัยมหิดล อย่างต่อเนื่อง และเพื่อรองรับแนวคิด “ยุติการเชื่อมต่อ” เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการเคารพความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อสังคมไทยต่อไปในอนาคต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โษฑศ์รัตต ธรรมบุษดี ได้แสดงทรรศนะถึงการวางหลักการติดต่อสื่อสารที่แยกส่วนกันระหว่างเวลาการทำงาน และชีวิตในเวลาส่วนตัว โดยมีแนวคิดในด้านการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลของนายจ้างนอกเวลางาน หรือกิจกรรมที่ไม่ใช่ประโยชน์อันชอบธรรมของนายจ้าง ความเป็นส่วนตัวในการติดต่อนอกเวลาทำงาน การตรวจสอบ และการเฝ้าระวังในช่วงเวลาที่ถูกต้อง ความชัดเจนของนโยบาย และกฏระเบียบขององค์กร

การยุติการเชื่อมต่อจึงไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของการปรับปรุงความสมดุลในชีวิต และการลดความเครียดเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญในด้านการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของพนักงานด้วย

อาจารย์ ดร.คม วงษ์สวัสดิ์ มองว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง และมหาวิทยาลัยมหิดลมีซอฟต์แวร์ (Software) พื้นฐานอยู่แล้วที่จะสามารถนำไปประยุกต์เพื่อใช้ในการดังกล่าว ซึ่งหากสามารถผลักดันให้ดำเนินการต่อไปได้จริง คาดว่าต่อไป มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเป็น “มหาวิทยาลัยต้นแบบ” ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดลได้เทียบเท่า “พลเมืองโลก”

โดย “ฟังก์ชันที่ควรมี” เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกจากองค์ประกอบเพิ่มเติมที่จะสามารถแสดงเงื่อนไขเวลาในการติดต่อสื่อสารที่ชัดเจนแล้ว จะต้องมี “ระบบการติดตาม” ซึ่งจะมาจากข้อตกลงร่วมกันระหว่าง “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” ต่อไปอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้กล่าวเตือนทิ้งท้ายถึงความสำคัญของการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลว่า “หากใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ด้วยความไม่ตระหนักอาจกลายเป็น “Digital Footprint” ให้ “อาชญากรไซเบอร์” ติดตามได้”

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.