"ทาคาฮิโระ คิโนชิตะ" แฟชั่นไอคอนทรงพลังแห่งโลกตะวันออก กับวิธีสร้างแรงดลใจ และรสชาติของ "ลาบหมู"
"ทาคาฮิโระ คิโนชิตะ" ชายญี่ปุ่นวัย 56 ปี ปัจจุบันเขาคือ GROUP SENIOR EXECUTIVE OFFICER ของ FAST RETALING และ CREATIVE DIRECTOR GLOBAL CREATIVE LAB ดูแล LifeWear Magazine ฟรีแมกกาซีนในปรัชญาไลฟ์แวร์ของยูนิโคล่ แบรนด์เครื่องแต่งกายระดับโลกที่เรารู้จักกันดี
ทาคาฮิโระ คิโนชิตะ บรรณาธิการบริหาร LifeWear แมกกาซีน
หากย้อนกลับไปคิโนชิตะคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงคนทำแมกกาซีนมาตั้งแต่ปี 1997 หรือแม้กระทั่งการขึ้นเป็น Editor-in-Chief ของนิตยสาาร POPEYE ในปี 2012 โดย POPEYE เป็นแมกกาซีนแฟชั่นรายเดือนสำหรับผู้ชาย ของญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นนิตยสารรายเดือนเก่าแก่ที่ทรงอิทธิพลไม่เพียงแต่ในญี่ปุ่น แต่กลับได้รับการกล่าวถึงในเรื่องสไตล์ของสื่อต่างประเทศบ่อยครั้ง อีกทั้งเขาเองยังเคยมีชื่ออยู่ใน The 50 Most Stylish Men in Media จากเว็บไซต์ COMPLEX รวมไปถึงอีกหลายสื่อ
ดังนั้นหากจะกล่าวว่าคิโนชิตะถือไอคอนแฟชั่นผู้ชายของฝากฝั่งโลกตะวันออกนั้นก็ไม่เกินจริงแต่อย่างใด เพราะในวันที่คิโนชิตะนั่งพูดคุยกับ Sanook Men เขาก็ดูสมาร์ทในชุดสูทสีฟ้าสไตล์ Traditional American ซึ่งคิโนชิตะบอกว่าเป็นเสื้อผ้าในสไตล์ที่เขาชื่นชอบ อีกทั้งยังบ่งบอกตัวตนของเขาได้เป็นอย่างดี
ในวันที่เราได้พูดคุยกับเขาคือวันเปิดตัวนิตยสาร LifeWear เล่มที่ 10 ซึ่งครั้งนี้เลือกมาเปิดตัวที่กรุงเทพฯ โดยธีมของนิตยสารฉบับนี้คือ " What is Lightness ?" ซึ่งนำเสนอไลน์อัพเสื้อผ้าที่หลากหลายสอดแทรกอยู่ในเรื่องราวของสถานที่สร้างแรงบันดาลใจมากมายจากในแมกกาซีนเล่มนี้ ซึ่งรวมถึงพาร์ทหนึ่งมีการเล่าถึงกรุงเทพฯ ในแง่มุมที่น่าสนใจ Sanook Men จึงได้พูดคุยกับคิโนชิตะในฐานะบรรณาธิการบริหาร LifeWear เกี่ยวกับความหมายของเสื้อผ้าที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น การหาแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต และการทำงาน รวมไปถึงรสชาติของลาบหมู อาหารไทยที่ถูกพูดถึงในแมกกาซีน
สำหรับคุณเสื้อผ้าจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร คุณมีตัวอย่าง หรือเรื่องราวของคุณสนับสนุนในเรื่องนี้บ้างไหม
ถ้าพูดถึงเสื้อผ้าในตลาดที่มีคุณภาพสูงก็คงมีหลายแบรนด์ แต่ยูนิโคล่ก็ทำเสื้อผ้าในราคาที่จับต้องได้ ในขณะที่ราคาจับต้องได้ เรื่องของคุณภาพก็เป็นความท้าทายหนึ่งของบริษัทเรา คิดว่าน่าจะเป็นจุดเด่นของบริษัทเราก็ว่าได้ พูดถึงสูทแบบนี้ (ตัวที่เขาสวมใส่) ในลักษณะที่เป็นแจ๊คเก็ต ถ้าของญี่ปุ่นไปสั่งตัดหรือซื้ออาจจะต้องใช้เงินสักประมาณสองแสนเยน (ประมาณ 4,800 บาท) จะได้ชุดแจ๊คเก็ตแล้วก็กางเกงออกมาเป็นเซ็ทกัน ถ้าไปซื้อที่ยูนิโคล่ในคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน แต่ราคาจะอยู่ที่ไม่ถึงหมื่นเยน (ประมาณ 2,400 บาท)
ในขณะเดียวกันเสื้อผ้ายูนิโคลนั้นสวมใส่ง่าย ใส่สบาย ซักเครื่องก็ได้โดยไม่ยับมาก แม้ว่าตัวหน้าตาสูทมันจะเป็น Traditional อย่างที่เห็น แต่ว่าตัวเสื้อผ้าเองมีความเหมาะสมกับความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน
ตอนคุณมากรุงเทพฯ เพื่อหาแรงบันดาลใจในการทำแมกกาซีน คุณพบแรงบันดาลใจอะไร และมาจากไหน
ตอนมากรุงเทพฯ จะเห็นว่ามีพื้นที่ที่ให้คนหนุ่มสาวมาใช้ประโยชน์เยอะมากขึ้น อย่างที่เห็นว่ามีตึกเก่าๆ ได้รับการรีโนเวทขึ้นมาใหม่ หรืออย่างร้านอาหารที่ไปมาเชฟก็เคยอยู่ร้านที่ได้มิชลินสตาร์มาแล้ว แต่ออกมาทำร้านของตัวเอง เพื่อต้องการให้ร้านมีความแคชชวลมากขึ้น เลยรู้สึกว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มี mood หรือ vibes ของคนหนุ่ม-สาวคอยขับเคลื่อนสังคมในกรุงเทพฯอยู่
ในมุมมองคนทำแมกกาซีนที่ต้องหาแรงบันดาลใจอยู่เสมอ ในขณะที่คนกรุงเทพฯ บางคนเหน็ดเหนื่อยและสิ้นหวัง คุณช่วยแนะนำมีวิธีการสร้างแรงบันดาลใจให้ได้ไหม
แรงบันดาลใจจริงๆ แล้วมันก็คือการอินพุตอะไรใหม่ๆ ให้คนอ่าน เวลาทำแมกกาซีนหรืออะไรก็ตาม ผมจะย้อนกลับไปดูอดีตค่อนข้างเยอะ อย่างเรื่องใน LifeWear แมกกาซีนเล่มนี้เอง มีอาร์ตติทคุณจอร์เจียโอคีฟอยู่ที่นิวเม็กซิโก แกเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งจริงๆ เป็นอาร์ตติทที่เคยดังในอดีต แต่ว่าทำไมคนนี้ถึงได้รับการยกย่องในอดีต มันเกิดอะไรขึ้นหรือ ตรงจุดนั้นต่างหากที่เป็นสิ่งที่น่าสนใจ
ดังนั้นการจะหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ มันไม่จำเป็นจะต้องเป็นของใหม่เสมอไป อย่างความคิดของคนอ่าน POPEYE แมกกาซีนเขาอยากรู้เรื่องเก่าๆ มากกว่าด้วยซ้ำ เพราะเรื่องใหม่ๆ คนอ่านสามารถเสิร์ชหาในกูเกิ้ลและอินเทอร์เน็ตได้หมด แต่กลายเป็นว่าเรื่องราวเก่าๆ ไม่ค่อยมีใครรู้ ค้นหาก็ไม่เจอ ดังนั้นการเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ อาจจะเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งก็ได้"
ใน LifeWear แมกกาซีนเล่มนี้มีการพูดถึง "ลาบหมู" เพราะอะไรถึงเลือกอาหารเมนูนี้มาเล่าในแมกกาซีน
ตอนนั้นคุยกันในทีม เพราะอยากได้เมนูอะไรก็ได้ที่ใครก็สามารถทำได้ง่ายๆ แต่ก็อยากจะได้เมนูที่คนญี่ปุ่นไม่เคยเห็น พอคุยกันในทีมก็รู้แล้วว่าทุกคนกิน ใครๆ ก็รู้จักลาบหมู เป็นเมนูที่ค่อนข้างดังเลยแหละ แต่กลับกันคนที่ญี่ปุ่นอาจยังไม่ค่อยรู้จักเมนูนี้สักเท่าไร ซึ่งค่อนข้างมีช่องว่างเยอะระหว่างเรากับที่โน่น ก็เลยนำเมนูนี้มาเสนอในแมกกาซีนเล่มนี้
นอกจากนั้นคนที่เราแนะนำเป็นทั้งเจ้าของร้านและเจ้าของสูตร จริงๆ เธอเสนอเมนูมาหลายเมนู และโดยส่วนตัวไม่ค่อยถนัดของเผ็ด แต่ได้ทานแล้วก็บอกเขาว่าขอแบบไม่ค่อยเผ็ด อร่อยดี
ในฐานะคนทำ LifeWear แมกกาซีนอยากจะบอกอะไรกับคนที่มีเสื้อผ้ายูนิโคล่อยู่ในตู้อยู่ 2-3 ชิ้น
จริงๆ แล้วอยากให้ LifeWear แมกกาซีนเป็นแค่เรฟเฟอร์เรนในการใส่เสื้อผ้า ให้เขาดูและใช้มันเป็นการอ้างอิง บางคนก็อยากดูสไตล์ บางคนสไตล์แบบนี้แล้วใส่เสื้อผ้าแบบนี้ดีก็ไปหาเสื้อผ้าสไตล์แบบนี้มาใส่ ไม่ได้จะเป็นการฮาร์ดเซลล์ว่าต้องซื้อยูนิโคล่ แต่ประมาณว่าถ้าอยากได้เสื้อผ้าแบบนี้ยูนิโคล่ก็มี
คุณคิโนชิตะใส่เสื้อผ้าของยูนิโคล่ทุกชิ้นไหม
ใส่แบรนด์อื่นด้วยนอกจากแบรนด์นี้ จริงๆ มีส่วนร่วมในการทำเสื้อผ้าของยูนิโคล่ ดังนั้นก็อยากจะใส่เสื้อผ้าที่ตัวเองมีส่วนร่วมในการทำ ถ้าถามว่าใส่แบรนด์ไหนเยอะสุดก็คงจะเป็นยูนิโคล่ เพราะการใส่เองจะได้มีประโยชน์ จะได้ฟีดแบคกับทางทีมได้ด้วย หรือถ้าใส่แล้วมันดีก็สามารถไปแนะนำและบอกต่อคนอื่นได้ด้วย
เกี่ยวกับ LifeWear แมกกาซีน และ LifeWear แมกกาซีนฉบับที่ 10
นิตยสาร LifeWear เป็นนิตยสารแจกฟรีที่นำเสนอปรัชญาไลฟ์แวร์ (LifeWear) ของยูนิโคล่ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประจำวันของทุกคนให้ดีขึ้นและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น นิตยสาร LifeWear ดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 5 ปี ปัจจุบันดำเนินการมาจนถึงเล่มที่ 10 โดยธีมของนิตยสารฉบับที่ 10 ประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน คือ “What is Lightness?” เนื้อหาภายในต้องกสื่อสารกับผู้อ่านด้วยมุมมองความคิดและสไตล์การแต่งตัวแบบดั้งเดิมผ่านเสื้อผ้าของยูนิโคล่ นิตยสารฉบับล่าสุดนี้ได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ หลายแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ลอสแอนเจลิส เบอร์ลิน และนิวเม็กซิโก เพื่อสร้างสรรค์นิตยสารที่ถ่ายทอดบรรยากาศการใช้ชีวิตประจำวันจากสถานที่แต่ละแห่ง รวมถึงคอลัมน์ UNIQLO and Our Town ที่นำเสนอสถานที่ห้ามพลาดในกรุงเทพฯ อาทิ ร้านยูนิโคล่สาขาแรกในประเทศไทย ที่ยูนิโคล่ เซ็นทรัลเวิลด์, ปอดในกลางเมืองอย่างสวนเบญจกิติ และโซนยอดฮิตของกรุงเทพฯ อย่างย่านเมืองเก่าริมน้ำ ที่สะท้อนถึงความงดงามและสีสันของกรุงเทพฯ สู่สายตาผู้อ่านนิตยสาร LifeWear ทั่วโลกอีกด้วย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.