มะเร็งต่อมลูกหมาก ภัยร้ายที่คุณผู้ชายต้องระวัง
ปัจจุบัน นวัตกรรมในการรักษาโรคมะเร็งยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิธีการรักษาและการคิดค้นยานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในการรักษาโรคนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งลดอาการทรมานจากการเจ็บป่วย ยังรวมไปถึงช่วยฟื้นฟูร่างกายให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น และผู้ป่วยบางรายสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติเหมือนกับคนทั่วไป
ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นมะเร็งที่พบได้เป็นอันดับ 4 ของชายไทย แม้จะพบได้ไม่บ่อยมากแต่อุบัติการณ์เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี โดยเฉพาะชายไทยที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยงที่ควรระมัดระวังให้มากขึ้น คือกลุ่มมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งชนิดนี้ อย่างไรก็ตาม มะเร็งต่อมลูกหมากมีการตรวจคัดกรอง ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น แต่ก็ยังมีผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่งที่มาพบแพทย์ในระยะแพร่กระจาย ก็สามารถรักษาให้หายได้ด้วยนวัตกรรมการรักษาและยาที่มีประสิทธิภาพอีกหลายชนิด ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งอมลูกหมากสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยืนนานมาก และมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากด้วย
สาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
ส่วนสาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก พญ.เอื้อมแข กล่าวว่า ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีความเป็นไปได้ว่า เกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ได้แก่ อายุของผู้ป่วย การถ่ายทอดทางพันธุ์กรรม การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น รับประทานจำพวกเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน ก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตของมะเร็งต่อมลูกหมากได้ และถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากกันมากขึ้น
อาการของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
สำหรับอาการของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ในระยะแรกเริ่มมักไม่แสดงอาการ จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ละเลยคิดว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นธรรมดาของคนสูงอายุ ดังนั้นผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป ควรใส่ใจสุขภาพและควรรับการตรวจเช็คต่อมลูกหมากจากแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะอย่างน้อยปีละครั้ง เพราะหากตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกๆ ยังสามารถรักษาให้หายได้
อาการผิดปกติแรกเริ่มของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก อาการคล้ายกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือต่อมลูกหมากโต แต่ไม่ใช่อาการของมะเร็ง แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีอาการ อาทิ ปัสสาวะไม่คล่อง ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ มีเลือดหรือหนองปนออกมากับปัสสาวะ ปวดบริเวณหลังส่วนล่างหรือต้นขา เป็นต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและรับรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก โดยในการตรวจค้นหามะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการตรวจทางทวารหนัก ร่วมกับการเจาะเลือดวัดระดับค่า PSA เพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง ซึ่งถ้ามีระดับของ PSA ในเลือดสูงกว่าปกติ จะมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
แนวทางการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
แนวทางการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ว่าสามารถรักษาให้หายขาดได้มีหลายวิธี เช่น การผ่าตัด การฉายรังสี เคมีบำบัด (การทำคีโม) และการบำบัดด้วยฮอร์โมน ซึ่งวิธีการรักษาที่แตกต่างกันเหล่านี้ อาจจะถูกเลือกใช้เพียงวิธีเดียวหรือใช่ร่วมกับวิธีอื่นหนึ่งหรือทั้งสองวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทและระยะของมะเร็ง รวมถึงความแข็งแรงของผู้ป่วยและวิธิการรักษาที่ผู้ป่วนเคยได้รับมาก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ จากการศึกษาที่เผยแพร่ล่าสุดบ่งชี้ว่าการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยฮอร์โมนนั้น ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และได้รับความนิยมมากขึ้น โดยการใช้ฮอร์โมนที่เรียกว่า “Abriraterone Acetate” ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา จากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นยานวัตกรรมใหม่ มักใช้เป็นการรักษาเพิ่มเติมหลังการผ่าตัดหรือก่อนการให้เคมีบำบัด หรือในรายที่มะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจาย เพื่อช่วยในการลดระดับฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งจะไปทำให้มะเร็งต่อมลูกหมากฝ่อเล็กลง หรือโตช้าลง วิธีนี้ถือเป็นการรักษาที่ปลอดภัย มีอัตราการรอดสูง และเกิดผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น และที่สำคัญการใช้ยา เพื่อลดระดับฮอร์โมนนี้ยังส่งผลดีด้านจิตใจของผู้ป่วยอีกด้วย
ระยะของมะเร็งต่อมลูกหมาก
การจะรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้นั้นจำเป็นที่จะต้องรู้ระยะที่แน่นอนของโรคเพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนรักษา ทำให้แพทย์ง่ายต่อการหาวิธีรักษาที่เหมาะสม โดยเป็นจะเป็นตัวชี้วัดว่าโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะหาย รวมถึงผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ที่ยาวนาน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ เช่นเดียวกับโรคมะเร็งทั่วๆ ไป ได้แก่ …
ระยะที่ 1 ระยะเริ่มต้นของโรค : ในระยะเริ่มต้นนี้ก้อนมะเร็งจะมีขนาดเล็ก อีกทั้งยังไม่สามารถตรวจพบได้จากการคลำหาก้อนเนื้อผ่านทางทวารหนัก แต่จะมีการพบมะเร็งเฉพาะในต่อมลูกหมากเพียงกลีบเดียว ยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งแต่อย่างไร
ระยะที่ 2 : ในะระยะนี้ก้อนมะเร็งจะมีขนาดที่โตขึ้นเล็กน้อย แต่ค่อนข้างมีความรุนแรง อีกทั้งยังสามารถพบได้จากการคลำหาก้อนเนื้อผ่านทางทวารหนัก โดยพบในทั้งสองกลีบของต่อมลูกหมาก แต่ก็ยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
ระยะที่ 3 : ในระยะนี้เซลล์มะเร็งเริ่มมีการลุกลามออกมานอกต่อมลูกหมากไปยังอวัยวะที่อยู่ข้างเคียง
ระยะที่ 4 : ในระยะนี้เซลล์มะเร็งเริ่มลุกลามเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะ และ/หรือลำไส้ตรง และ/หรือเนื้อเยื่อในบริเวณช่องท้องน้อย และ/หรือต่อมน้ำเหลือง และ/หรือแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังกระดูก ปอด ประสาทไขสันหลัง สมอง หรืออวัยวะอื่นๆ
มะเร็งต่อมลูกหมาก จะต้องตรวจหาอย่างไรบ้าง ?
- แพทย์ผู้ตรวจอาการจะเริ่มซักประวัติสุขภาพส่วนตัว ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว อาการต่างๆ ที่เป็นอยู่ รวมถึงระยะเวลาที่เป็น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
- ประวัติการใช้ยา ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพร รวมถึงอาหารเสริม
- มีการตรวจเลือดที่เป็นการตรวจทั่วไป
- มีการตรวจปัสสาวะเพื่อหาโปรตีนไข่ขาว หรือปัสสาวะมีการติดเชื้อหรือไม่
- แพทย์ผู้ตรวจอาการจะเริ่มตรวจต่อมลูกหมาก โดยให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนตะแคง หรือยืนก้ม จากนั้นแพทย์จะใช้นิ้วสอดเข้าไปทางก้นเพื่อตรวจต่อมลูกหมาก หากพบก้อน หรือพบต่อมลูกหมากที่มีลักษณะโตผิดปกติก็จะส่งให้ไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง
- มีการตรวจหาระดับสาร PSA หรือแอนติเจนต่อมลูกหมากที่เป็นโปรตีนที่สร้างจากเซลล์ในต่อมลูกหมาก
- การตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา โดยใช้เข็มขนาดเล็กแทงเข้าไปที่ต่อมลูกหมาก แล้วนำชิ้นเนื้อนั้นไปส่งตรวจเพื่อหาเซลล์มะเร็ง
- หากมีการตรวจพบเซลล์มะเร็ง ก็จะมีการตรวจต่อว่าเซลล์มะเร็งนั้นมีการแพร่กระจายหรือไม่ด้วยการตรวจ Bone Scan
จำเป็นหรือไม่ ? ที่จะต้องตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ที่ไม่มีอาการ
ข้อดี
- ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การค้นพบมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มแรกจะทำให้การรักษาเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็ว เป็นผลดีต่อการรักษา ถ้าหากพบในระยะปลายๆ หรือระยะสุดท้าย แน่นอนว่าการรักษาอาจเป็นไปได้ยากและไม่ส่งผลดีต่อผู้ป่วย
- การตรวจคัดกรองมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อยมีโอกาสที่จะพบมะเร็งในระยะแรก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรักษา
- เมื่อค้นพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มต้น ผลข้างเคียงจากการรักษามักอยู่ไม่นานและสามารถดูแลได้
ข้อเสีย
- การคัดกรองหามะเร็งต่อมลูกหมากไม่สามารถบอกผลที่แน่นอนได้ 100% ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- มะเร็งต่อมลูกหมากบางชนิดเติบโตช้าและไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต จึงไม่จำเป็นต้องรักษาอย่างเร่งด่วน
- ยังไม่มีผลการพิสูจน์ว่า การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มต้นจะมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่าการรักษาในระยะที่มีอาการ
การวินิจฉัยเพื่อหาผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอาจทำได้หลายวิธี โดยมีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้ …
- เริ่มต้นขั้นแรกด้วยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย
- การตรวจทางทวารหนักเพื่อคลำหาก้อนมะเร็ง (Digital rectal examinarion – DRE) เนื่องจากต่อมลูกหมากนั้นจะอยู่ติดกับทวารหนัก แพทย์จึงสามารถสวมถุงมือแล้วใช้นิ้วสอดเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่างและความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมากได้ โดยในรายที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก มักจะพบว่าต่อมลูกหมากมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง หรือมีลักษณะขรุขระ
- การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Prostate specific antigen (PSA) test) ถือว่าเป็นการตรวจเลือดเพื่อดูค่าสารบ่งชี้มะเร็งที่สร้างโดยเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากที่มีชื่อเรียกว่า พีเอสเอ โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมักจะพบพีเอสเอในเลือดสูงกว่าระดับปกติ
- การตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (Transrectal ultrasound – TRUS) เป็นการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากโดยการใช้คลื่นเสียง ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องมือสำหรับตรวจสอดเข้าทางทวารหนักไปยังตำแหน่งของต่อมลูกหมาก เพื่อช่วยในการหาตำแหน่งของก้อนเนื้อ จากนั้นจึงจะเก็บชิ้นเนื้อตัวอย่างจากต่อมลูกหมากด้วยการใช้เข็มขนาดเล็กดูดเซลล์ต่อมลูกหมาก 12 ตัวอย่างจาก 12 ตำแหน่งออกมาตรวจทางพยาธิวิทยาว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่
เมื่อทำการตรวจต่างๆ เรียบร้อยแล้วได้รับการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจากการตรวจชิ้นเนื้อตัวอย่าง แพทย์จะตรวจวิเคราะห์ต่อไปว่าเซลล์มะเร็งดังกล่าวจะมีการแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นส่วนในการประกอบการประเมินการลุกลาม หรือระยะของโรค โดยแแพทย์อาจใช้วิธีการดังต่อไปนี้
- การตรวจสแกนกระดูก (Bone Scan) เพื่อเป็นการตรวจหาการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็งไปยังกระดูก ซึ่งกระดูกนั้นมักจะเป็นอวัยวะที่มะเร็งต่อมลูกหมายกระจายไปมากที่สุด โดยการตรวจนั้นจะใช้สารทึบรังสีฉีดเข้าไปในเส้นเลือด จากนั้นสารนี้ก็จะไปสะสมอยู่ที่บริเวณกระดูที่เกิดความผิดปกติจนมองเห็นเป็นสีขึ้นมา
- การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อเป็นการตรวจที่ช่วยประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งออกไปนอกบริเวณต่อมลูกหมาก โดยมีค่าความถูกต้อง เชื่อถือได้ในรายที่เอกซเรย์พบว่ามีการกระจายของมะเร็งออกนอกต่อมลูกมากถึง 70% ยิ่งการตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทำผ่านทางทวารหนัก นอกจากนี้ยังสามารใช้ดูการแพร่กระจายของมะเร็งเข้ากระดูกได้ดีกว่าการสแกนกระดูก แต่จะดูการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองได้ยาก
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เป็นการตรวจที่ช่วยประเมินการเผยแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองได้ดีกว่าการตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่จะดูลักษณะของต่อมลูกหมากได้ยาก
- การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณอุ้งเชิงกราน (Pelvic lymphadenectomy) เพื่อเป็นการนำส่วนที่ตัดนั้นไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง โดยเป็นวิธีตรวจที่แม่นยำมากที่สุด ช่วยในการประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง
อย่างไรก็ตาม การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นสิ่งจำเป็นมากต่อการรักษา ยิ่งพบโรคมะเร็งและทำการรักษาได้เร็วมากเท่าไร จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากตามระยะของโรค
มะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ 1
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ การผ่าตัดต่อมลูกหมากและการใช้รังสีรักษา ซึ่งทั้งวิธีนั้นจะให้ผลในการควบคุมโรคได้เหมือนๆ กัน แต่ต่างกันตรงที่ผลข้างเคียง ส่วนในผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคได้โดยบังเอิญในแบบที่ไม่มีอาการแสดง เป็นผู้สูงอายุ อีกทั้งยังอยู่ในกลุ่มโรคที่มีความรุนแรงต่ำ คือ เซลล์มะเร็งเป็นชนิดที่แบ่งตัวช้า และ/หรือค่าสารบ่งชี้มะเร็งอยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงปกติ แพทย์จะใช้วิธีการเฝ้าระวังและตรวจติดตามอาการอยู่เป็นระยะ แต่ยังไม่ให้การรักษาใดๆ เพื่อรอจนกว่าเซลล์มะเร็งจะลุกลามมากขึ้นจึงค่อยเริ่มการรักษา เป็นไปได้ด้วยการผ่าตัด หรือการใช้รังสีรักษา เนื่องจากในผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีชีวิตอยู่ได้นาน เหตุมาจากการที่มะเร็งลุกลามช้า ไม่คุ้มกับความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการรักษา อาทิ กลั้นปัสสาวะได้ไม่นาน หย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
ในผู้ป่วยที่มีร่างกายทรุดโทรม หรือมีโรคประจำตัวที่ร้ายแรง อาทิ โรคหัวใจ หรือคาดการณ์ว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึง 10 ปี หรือเป็นผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัดและใช้รังษีรักษา แพทย์ก็อาจไม่ให้การรักษาใดๆ และเฝ้าติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของโรคในรูปแบบเดียวกัน
มะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ 2 - 3
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะนี้นั้นอาจใช้วิธีการผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสี รวมถึงการรักษาด้วยฮอรืโมนบำบัด
มะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ 4
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะนี้อาจเป็นการให้ยาฮอร์โมน การผ่าตัดอัณฑะเพื่อลดฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง การฉายรังสีรักษาและการให้ยาเคมีบำบัด โดยการรักษานั้นอาจะใช้เพียงวิธีเดียว หรือหลายวิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับอาการ อายุ สภาพของผู้ป่วย และการแพร่กระจายของโรค ทั้งนี้ จะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์และความประสงค์ของผู้ป่วย รวมถึงครอบครัวเป็นหลักด้วย
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
สิ่งสำคัญประการแรกของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก คือ การเดินทางไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติให้เร็วที่สุดเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและดำเนินการรักษาตั้งเนิ่นๆ และเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากแน่ชัดแล้ว ผู้ป่วยก็ควรติดตามการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ แพทย์ที่ทำการรักษาจะเป็นศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะและแพทย์โรคมะเร็ง อีกทั้ง มะเร็งต่อมลูกหมากนั้นการลุกลามจะช้า จึงทำให้การบำบัดรักษาและควบคุมโรคทำได้ค่อนข้างดี ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวได้ ฉะนั้น ผู้ป่วยจึงควรดำเนินกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติและหมั่นดูแลสุขภาพของตนเองอย่างเคร่งครัด ให้เป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
- กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นรับประทานผักและผลไม้ให้มากๆ กินโปรตีนจากปลา ถั่วเหลือง และเต้าหู้ แนะนำให้ลดการรับประทานเนื้อแดง อาหารที่มีไขมัน และน้ำตาล
- หมั่นออกกำลังกายที่สมควรแก่สุขภาพอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน
- นอนหลับพักผ่อให้เพียงพอ
- ผ่อนคลายความเครีดด้วยการทำงานอดิเรกที่ตนเองชื่นชอบ อาทิ อ่านหนังสือ , วาดภาพ , ปลูกต้น , เล่นดนตรี , ร้องเพลง , เต้นรำ , ทำงานจิตอาสา หรือทำกิจกรรมเพื่อสาธารณกุศล , เจริญสติ และสมาธิ , พูดคุยปรับทุกข์กับญาติมิตร , เข้าสมาคมสังสรรค์กับผู้คนต่างๆ หรือหากมีโอกาสก็ควรเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มมิตรภาพบำบัดโรคมะเร็ง
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.