12 เรื่องที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับการ “บริจาคเลือด”
หลายคนทราบดีอยู่แล้วว่าการ "บริจาคเลือด" มีประโยชน์ในเรื่องของการได้ช่วยชีวิตเพื่อมนุษย์ที่ต้องการเลือดเพื่อรักษา แต่นอกจากได้อิ่มอกอิ่มใจที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นแล้ว การบริจาคเลือดยังมีข้อมูลที่น่าสนใจที่คุณอาจไม่เคยรู้อีกเพียบ
12 เรื่องที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับการ “บริจาคเลือด”
- ใครที่คิดว่าเห็นคนไปบริจาคเลือดกันหลายคน คิดว่าน่าจะเพียงพอแล้ว ขอบอกเลยว่าคิดผิด เพราะปัจจุบันมีความต้องการใช้เลือดในแต่ละวันสูงถึง 5,000 ยูนิตต่อวัน แต่ตอนนี้เลือดที่ได้รับบริจาคมามีเพียง 2,000 ยูนิตต่อวันเท่านั้น
- ที่เห็นไปรอคิวบริจาคเลือดกันมากมาย จริงๆ แล้วเป็นเพียง 3% ของประชากรไทยทั้งประเทศเองนะ แล้วมันจะไปพอที่ไหน จริงไหม?
- เลือดที่เราบริจาคไปในแต่ละครั้ง สามารถแยกออกมาใช้งานได้หลายส่วน ทั้งเกล็ดเลือด พลาสมา และเม็ดโลหิตแดง เราไม่ได้ใช้เลือดเพื่อการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยแต่เพียงอย่างเดียวนะ
- แต่ถึงอย่างไร ผู้ป่วยที่ต้องการใช้เลือดมากที่สุด ก็หนีไม่พ้นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดใหญ่ หรือประสบอุบัติเหตุ แล้วประเทศเราก็ประสบอุบัติเหตุกันบ่อยเสียด้วยสิ
- การบริจาคเลือดช่วยกระตุ้นการทำงานของไขกระดูกให้สร้างเม็ดโลหิตใหม่ๆ ที่มีคุณภาพมาหมุนเวียนใช้บำรุงร่างกาย เป็นการเปลี่ยนถ่ายเลือดเก่า เลือดใหม่ได้อย่างมีประโยชน์ และปลอดภัยที่สุด
- เมื่อเราได้เปลี่ยนถ่ายโลหิตเก่า-ใหม่ ส่งผลให้เลือดใหม่ที่ไปหล่อเลี้ยงตามร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใสยิ่งขึ้น
- หากคุณตั้งใจจะบริจาคเลือดเป็นประจำตามที่สภากาชาดแนะนำ นั่นหมายความว่าคุณจะต้องดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้สมบูรณ์แข็งแรงตลอดเวลา ต้องระวังเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อน ไม่เครียด เลยทำให้กลายเป็นคนที่มีสุขภาพดีไปโดยธรรมชาติ
- เมื่อร่างกายแข็งแรง ก็ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่ใครๆ ก็กลัวอย่าง โรคมะเร็ง ซึ่งคนที่บริจาคเลือดจะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคร้ายอย่างมะเร็งน้อยกว่าคนที่ไม่เคยบริจาคเลือดด้วยนะ
- สุขภาพจิตดีตามไปด้วย เมื่อเรารู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรดีๆ เพื่อคนอื่น ความสุขใจ อิ่มเอมใจ จะส่งผลต่อจิตใจของเราที่รู้สึกว่าตัวเองมีค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ได้ทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม ลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้าได้ด้วย
- เราบริจาคเลือดได้สูงสุด 4 ครั้งต่อปีเลยนะ (โดยที่ไม่ทำให้ร่างกายเราได้รับอันตรายใดๆ) หรือทั้งชีวิตเราบริจาคเลือดได้มากถึง 212 ครั้งเลยทีเดียว
- กรุ๊ปเลือดที่ต้องการมากที่สุดก็คือ กรุ๊ป AB ตามมาด้วยกรุ๊ป A, B และ O ตามสัดส่วนของประชากรในประเทศ
- เคยได้ยินเรื่องกรุ๊ปเลือดแบบ negative ไหม หากใครที่มีกรุ๊ปเลือด Rh- นั่นหมายความว่าคุณใช้เลือดโดยส่วนใหญ่ที่คนไทยมีไม่ได้ (เราเรียกระบบหมู่โลหิตนี้ว่า Rh- ส่วนใหญ่คนไทยมีหมู่เลือดเป็น Rh+ แต่จะพบ Rh- มากขึ้นในชาวต่างชาติ) ใครที่รู้ตัว หรือรู้จักคนที่มีหมู่เลือด Rh- ชวนไปบริจาคเลือดด้วยกันด่วนๆ เลย เพราะกรุ๊ปเลือดนี้ถือว่าเป็นกรุ๊ปเลือดหายาก และพิเศษมากจริงๆ
คุณสมบัติผู้ที่สามารถบริจาคเลือดได้ มีดังนี้
- อายุ 17-70 ปีบริบูรณ์
- น้ำหนักเกิน 45 กิโลกรัม
- นอนหลับพักผ่อนเกิน 6 ชม. ก่อนมาบริจาค
- สภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เป็นไข้หวัด ไม่มีอาการท้องเสีย ท้องร่วงใน 7 วันที่ผ่านมา
- หยุดทานยาทุกอย่างมาแล้ว 7 วัน
- ไม่เป็นโรคหอบหืด, ผิวหนังเรื้อรัง, วัณโรค หรือภูมิแพ้อื่นๆ
- ไม่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ ตับ ไต ไทรอยด์ หรือโรคที่เกี่ยวกับเลือด
- หากทำฟัน ควรทิ้งระยะก่อนมาบริจาคเลือดอย่างน้อย 3 วัน
- หากเคยได้รับการผ่าตัดใหญ่ต้องเกิน 6 เดือน ผ่าตัดเล็ก ต้องเกิน 1 เดือน
- ไม่มีประวัติยาเสพติด หรือพ้นโทษเกิน 3 ปี
- หากเจาะหู สัก ลบรอยสัก หรือฝังเข็ม ต้องเกิน 1 ปี
- หากเคยเป็นไข้มาลาเรีย ต้องเว้น 3 ปี แต่หากเคยเข้าไปในพื้นที่ๆ เสี่ยงต่อการติดต่อโรคมาลาเรีย ต้องเว้น 1 ปี
- ไม่ได้รับวัคซีนใดๆ ภายใน 14 วัน หรือเซรุ่มใดๆ ภายใน 1 ปี
- เลี่ยงอาหารไขมันสูง น้ำตาลสูงทุกชนิด และงดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนบริจาคเลือด (แต่สามารถทานอาหารก่อนมาบริจาคเลือดได้ตามปกติ ดื่มน้ำให้มากขึ้น เพื่อป้องการอาการวิงเวียนศีรษะ)
- คนที่มีอาการแพ้ต่างๆ เช่น แพ้อาหารทะเล แพ้ถั่ว สามารถบริจาคเลือดได้ เฉพาะกรณีที่ ณ ขณะนั้นสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดี ไม่ได้มีอาการแพ้เกิดขึ้น
- สตรีที่มีประจำเดือน สามารถบริจาคเลือดได้ หากปริมาณประจำเดือนปกติ และสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีอาการอ่อนเพลีย
- หากเคยรับเลือดของคนอื่นเพื่อการรักษา ต้องเกิน 1 ปี
- ท่านหรือคู่ครองของท่านต้องไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ หรือเบี่ยงเบนทางเพศ
อ่านเพิ่มเติม
- แพทย์ตอบปัญหา “ยาแจกฟรีหลังบริจาคเลือด ไม่ทานได้ไหม?”
- เตือน! อย่าบริจาคเลือดเพื่อหวังตรวจเลือดฟรี เสี่ยงแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
- ข่าวดี! บริจาคเลือด ได้ลดหย่อนค่ารักษาพยาบาลด้วย
- 5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการบริจาคเลือด
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.