รู้จัก "วิว" กุลวุฒิ วิทิตศานต์ แชมป์โลกแบดมินตันชายเดี่ยวคนแรกของไทย

"วิว" โชว์ฟอร์มเก่งด้วยการแซงกลับมาเอาชนะ โคไอ นาโอกะ จากญี่ปุ่น ไป 2-1 เกม  

จากชัยชนะดังกล่าว ทำให้วิว กลายเป็นนักแบดมินตัน ประเภทชายคนแรกของไทยที่ก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์โลกประเภทชายเดี่ยว 

แต่เขาคือคนไทยคนที่ 4 ที่ได้แชมป์โลกต่อจาก "เมย์" รัชนก อินทนนท์ ในประเภทหญิงเดี่ยว เมื่อปี 2013 และเดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ในประเภทคู่ผสม เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

แน่นอนจากการได้แชมป์โลกครั้งนี้ทำให้สปอตไลท์ สาดส่องไปที่เจ้าหนุ่ม "วิว" วัย 22 ปีรายนี้ ทั้งชื่อเสียง และเงินทองที่ไหลมาเทมา เฉพาะจากการจัดอันดับนักแบดมินตันทำเงินสูงสุดของโลกตั้งแต่ต้นปีมาถึงเดือนสิงหาคม วิวทำรายได้ไปแล้ว138,275 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,891,270 บาท ติดอยู่ในอันดับ 9 ของโลก 

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ "กุลวุฒิ วิทิตศานต์" ผ่านความผิดหวังมามากมาย โดยเฉพาะนัดชิงชนะเลิศ เส้นทางความสำเร็จไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ โพสต์ ทูเดย์ จะพาไปย้อนเส้นทางตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบันที่ "วิว" ได้ชื่อว่าเป็นนักแบดมินตันชายเดี่ยวที่เก่งที่สุดในโลกกัน 

 

เริ่มต้นจากเด็กขี้โรคสู่นักแบดฯยืนหนึ่งของรุ่น

วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 ปัจจุบันอายุ 22 ปี  เขาเริ่มต้นเล่นแบดมินตัน อายุ 7 ปี  เริ่มต้นด้วยการตามคุณพ่อ ซึ่งเป็นผู้ฝึกสอนแบดมินตันไปที่สนามแบดมินตัน ช่วงแรกๆ กุลวุฒิ เริ่มต้นตีแบดมินตันเพื่อความสนุกสนาน และรักษาสุขภาพเนื่องจากเป็นภูมิแพ้

คุณพ่อที่เป็นผู้ฝึกสอนแบดอยู่แล้วจึงจับเขามาออกกำลังกายตั้งแต่ 7 ขวบ เพื่อให้ห่างไกลจากภูมิแพ้ ซึ่งเป็นการรักษาโรคโดยไม่ต้องเสียเงิน นอกจากเสียเหงื่อ ซึ่งผลที่ได้คืออาการภูมิแพ้แม้จะไม่หายขาด แต่ก็ดีขึ้นแบบไม่มารบกวนเขาอีกเลย

“ถ้าไม่ได้เป็นนักแบด ตอนนี้ผมก็คงจะเรียนอยู่ และภูมิแพ้อาจจะไม่ดีขึ้น”  นี่คือคำพูดของวิวที่เคยให้สัมภาษณ์ถึงที่มาที่ไปของการมาเป็นนักแบดมินตัน 

ต่อมาเขาเริ่มจริงจังและลงแข่งขันระดับยุวชน และเยาวชน ปี 2552 กุลวุฒิ ลงแข่งรุ่นอายุต่ำกว่า 9 ปี และเริ่มประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลชนะเลิศอย่างสม่ำเสมอ ตลอดช่วง 3-4 ปีถัดมา  จนชื่อของเขาได้รับการจับตามองมากขึ้น

จากนั้น ปี 2557 ในวัย 13 ปี "วิว" ย้ายไปอยู่สังกัดโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ลงแข่งขันในระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งในระดับชาตินั้น กุลวุฒิ เข้าร่วมการแข่งขันรายการแบดมินตันเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในรุ่นอายุต่ำกว่า 14 ปี และได้รับรางวัลชนะเลิศ

ส่วนระดับนานาชาติ วิว ยิ่งโชว์ศักยภาพการเป็นนักแบดมินตันชายที่เก่งกาจ ด้วยการคว้าแชมป์โลกระดับเยาวชนได้ 3 สมัยติต่อกันในปี 2560 - 2562 (ปี 2560 กุลวุฒิ ลงแข่งรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปี ซึ่งตอนนั้นเขาได้แชมป์โลกด้วยวัย 16 ปี 5 เดือน) 

จากเก่งเล็กขึ้นสู่เก่งใหญ่ 

จากระดับเยาวชนขึ้นสู่การแข่งขันอาชีพที่ต้องเจอกับคู่แข่งระดับโลกกระดูกเบอร์ใหญ่ยืนขวางทางมากมาย ช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่าน วิว มักจะมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ เพราะการแข่งรุ่นเยาวชนความกดดันจากผลการแข่งขันไม่รุนแรงเท่ากับการเทิร์นโปร สู่มืออาชีพ แต่เจ้าตัวก็ค่อยๆปรับจูนจนนิ่งและเข้าที่เข้าทาง

รวมนับตั้งแต่เทิร์นโปรมาเล่นอาชีพในปี 2561  กุลวุฒิ วิทิตศานต์ คว้าแชมป์ระดับอาชีพของ BWF ไปแล้ว 8 รายการ และได้รองแชมป์ 5 รายการ รวมถึงได้เหรียญทองซีเกมส์ในประเภทชายเดี่ยวและทีมมาเมื่อปีที่แล้วด้วย

ก้างขวางคอที่ชื่อ " วิคเตอร์ แอ็คเซลเซ่น"

 วิคเตอร์ แอ็คเซลเซ่น คือมือ 1 ของโลกชาวเดนมาร์ก ที่ "วิว" มักจะแพ้ทาง เพราะเขามักจะแพ้ รอบชิงชนะเลิศในการเจอกับวิคเตอร์ แอ็คเซลเซ่น  ไม่ว่าจะเป็นศึก  สเปน มาสเตอร์ 2020, สวิส โอเพ่น 2021, เอชเอสบีซี บีดับเบิ้ลยูเอฟ เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอลส์ 2021, และรายการที่ใหญ่ที่สุด อย่างรายการ แบดมินตัน ชิงแชมป์โลก 2022 ที่โตเกียว เมื่อช่วงสิงหาคม 2022  ซึ่งปีที่แล้วิวได้แค่รองแชมป์โลกเพราะพ่ายนักแบดชาวเดนมาร์กคนนี้นั่นเอง

ส่วนปีนี้กุลวุฒินิ่งและแกร่งขึ้น เขาจัดการปราบ วิคเตอร์ แอ็คเซลเซ่น ในรายการ "โยเน็กซ์ ซันไรท์ อินเดีย โอเพ่น 2023" ทัวร์นาเมนต์ระดับเวิลด์ทัวร์ 750 เมื่อต้นปี ถือเป็นการปลดล็อกชนะ "เจ้าโย่ง" ชาวเดนมาร์กได้เป็นครั้งแรก จนต่อยอดมาคว้าแชมป์โลกได้ในที่สุด

แชมป์โลกชายเดี่ยวคนไทยคนแรก

ในอดีตที่ผ่านมานักแบดมินตันชายไทยเก่งเทียบชั้นระดับโลกมีมากมายหลายคน แต่ยังไม่มเคยมีใครก้าวไปถึงแชมป์โลกได้เลย 

จนกระทั่งกุลวุฒิ วิทิตศานต์ คว้าแชมป์โลกได้ในการแข่งขันที่เดนมาร์ก ด้วยการแซงชนะคู่แข่งชาวญี่ปุ่นอย่าง โคไอ นาโอกะ ไป 2-1 นี่คือนักแบดมินตันวัยรุ่นที่ฟอร์มร้อนแรงและมีลีลาการตีที่หวือหวาเหนียวแน่น และจะเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติไทยในการขึ้นไปลุ้นเหรียญระดับนานาชาติอย่างเอเชียน เกมส์ และโอลิมปิก เกมส์ในอนาคต

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.