วิธีรักษา "ผมบาง-ผมร่วง" จากคำแนะนำของแพทย์
โดยทั่วไป ผมของคนเราจะร่วงประมาณ 100 เส้นต่อวัน หากเกินกว่านั้นควรเริ่มสงสัยตัวเอง ผมบาง-ผมร่วง เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือความผิดปกติในร่างกาย การที่ผมร่วงจนผมบนศีรษะดูบาง อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ซึ่งพบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้ชายมากกว่าเนื่องจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศชาย
ปัจจุบันมี วิธีรักษา "ผมบาง-ผมร่วง" ด้วยเทคโนโลยีแสง LED และเลเซอร์กระตุ้นการเจริญของเซลล์รากผม ช่วยลดปัญหาผมร่วงและผมบาง บางชนิดได้
ปกติแล้วจะมีผมที่หยุดการเจริญและหลุดร่วงไป วันละ 50-100 เส้น แต่ในบางภาวะอาจทำให้ผมร่วงได้มากกว่าปกติ เช่น มีประวัติพันธุกรรม ผมร่วง ผมบาง หัวล้าน ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ คุณแม่หลังคลอด การเจ็บป่วยเรื้อรัง การเสียเลือด การใช้ยาบางชนิด การขาดสารอาหาร และภาวะเครียดทางจิตใจ
- "เครียด" ทำ "ผมร่วง" ได้จริง หรือแค่คิดไปเอง?
ผมร่วง เกิดจากอะไร
พญ.ศกุนี นิรันดร์วิชย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาตจวิทยา รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า ในทางการแพทย์ จะแบ่งภาวะผมร่วง ออกเป็น ผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น (non-scarring alopecia) และผมร่วงแบบมีแผลเป็น (scarring alopecia) สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดผมร่วง จะแบ่งออกเป็น ปัจจัยภายนอก และ ปัจจัยภายในที่กระตุ้นให้ผมร่วงผิดปกติ
- 7 อาหารหยุดปัญหา “ผมร่วง”
ปัจจัยภายนอกที่ทำให้ผมร่วง ผมบาง
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน ยาเคมีบำบัด ยาละลายลิ่มเลือด ยากันชัก ยาลดความดันบางชนิด ยารักษาโรคข้อเสื่อมข้ออักเสบ ยาลดความเครียดบางชนิด ยารักษาสิวที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ ยาคุมกำเนิด
- การติดเชื้อราที่หนังศีรษะ
- การฉายรังสีจากการรักษามะเร็ง
- หนังศีรษะได้รับการบาดเจ็บจากการถูกดึง แกะ เกา จนทำให้เป็นแผล
- เส้นผมถูกดึงรั้งต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น จากที่ติดผม การมัดผม การถักเปียติดหนังศีรษะ
- สารเคมีในผลิตภัณฑ์ดัด ย้อม ทำสีผม
- เส้นผมที่โดนความร้อนสูงจากที่หนีบผม หรือแสงแดด ทำให้เคราตินในเส้นผมถูกทำลาย ผมจึงเปราะง่าย ขาดร่วงง่าย
ปัจจัยภายในที่ทำให้ผมร่วง ผมบาง
- ผมร่วงจากกรรมพันธุ์และฮอร์โมน (Androgenetic alopecia, AGA) มักพบเด่นในเพศชาย เกิดได้ทั้งจากการถ่ายทอดยีนเด่นบนโครโมโซมร่างกาย และการถ่ายทอดแบบหลายปัจจัยจากหลายยีนร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม (multifactorial inheritance) ทำให้หนังศีรษะมีความไวต่อฮอร์โมนดีเอชที dihydrotestosterone (DHT) จึงทำให้เส้นผมลีบและร่วงง่าย มีอายุสั้นกว่าปกติ ส่วนใหญ่อาการจะเริ่มแสดงให้เห็นตั้งแต่อายุ 18-25 ปี และจะร่วงเพิ่มมากขึ้นตามวัย วิธีสังเกต คือ ผมบริเวณด้านหน้าและ ตรงกลางศีรษะ จะบางลง และพบประวัติครอบครัวเป็นโรคศีรษะล้านจากพันธุกรรม
- โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata, AA) เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทำให้เซลล์รอบรากผมอักเสบ จนไม่สามารถผลิตเส้นผมขึ้นมาใหม่ได้
- ผมร่วงจากความเครียดของร่างกายหรือการเจ็บป่วยรุนแรง (Telogen effluvium) เกิดจากร่างกายมีการเจ็บป่วยรุนแรงไม่ว่าจะเป็นทางใจหรือทางกาย ส่งผลให้เส้นผมระยะ Telogen หลุดร่วงออกมาเร็วและมากกว่าปกติ ผมมักร่วงหลังการเจ็บป่วยประมาณ 3 เดือน ภาวะเจ็บป่วยที่กระตุ้นผมร่วงชนิดนี้ เช่น มีไข้สูง ไข้เลือดออก ความเครียดสะสม การเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนแบบเฉียบพลันซึ่งพบได้ในคุณแม่หลังคลอดที่มักจะมีอาการ ผมร่วงหลังคลอด เป็นต้น
- ภาวะดึงผมที่เกิดจากปัญหาทางจิตใจ (Trichotillomania)
- โรคแพ้ภูมิตนเอง SLE/DLE (Systemic Lupus Erythematosus, Discoid Lupus Erythematosus)
- ไทรอยด์ฮอร์โมนผิดปกติ
- ภาวะขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ขาดธาตุเหล็ก ขาดโปรตีน ลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็ว ขาดวิตามินดี เป็นต้น
- โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมแต่กำเนิด ที่ทำให้การสร้างเส้นผมผิดปกติ
- โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ซิฟิลิส
เคล็ดลับดูแล ผมร่วง ผมบาง
- เคล็ดลับแรก คือ ถ้ามีผมร่วงผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัดก่อน เพราะบางครั้ง หากเจอสาเหตุและทำการรักษาตรงจุด จะทำให้แก้ปัญหาผมบางได้เร็ว หรือ หากสาเหตุเกิดจากภาวะผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน ยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไหร่ ยิ่งไม่เสียโอกาสในการทำให้ผมกลับมาแข็งแรงเท่านั้น
- ในเพศชายที่มีปัญหาผมร่วง ผมบาง แพทย์อาจแนะนำให้ทานยาฟิแนสเตอไรด์ (finasteride) ซึ่งเป็นยาที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5α-reductase ทำให้ระดับฮอร์โมนดีเอชที (DHT) ที่หนังศีรษะลดลง ลดการหลุดร่วงและช่วยกระตุ้นการสร้างเส้นผมใหม่ โดยควรทานติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน หากหยุดใช้ยา ผมมักจะกลับมาร่วงอีกภายใน 4-12 เดือน สำหรับผลข้างเคียงที่พบได้แต่ไม่บ่อย คือ ความต้องการทางเพศลดลงและอวัยวะเพศไม่แข็งตัว (ประมาณ 1.2-1.8%) และข้อควรทราบอีกข้อหนึ่ง คือ หากมีความจำเป็นต้องไปบริจาคเลือด ควรงดยาอย่างน้อย 1 เดือน เพราะยายังคงสามารถอยู่ในร่างกาย มีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการได้หากผู้ที่รับเลือดเป็นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์
- ยาทาหนังศีรษะไมนอกซิดิล (minoxidil) ช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผม โดยมากจะเริ่มเห็นผลการรักษาหลังจากใช้ต่อเนื่อง 6 เดือน หากหยุดใช้ยา อาการผมร่วงจะค่อยๆ กลับมาภายใน 4-6 เดือน ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ระคายเคืองผิวหนัง หรือมีขนขึ้นตามใบหน้า
- ถ้าหากตรวจพบว่าขาดวิตามินดี หรือ ขาดธาตุเหล็ก แนะนำให้ทานยารักษาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากวิตามินทั้งสองชนิดนี้ ถ้ารับประทานในปริมาณที่มากเกินไป อาจสะสมในร่างกายและเกิดภาวะเป็นพิษต่อร่างกายได้
- ส่วนอาหารเสริมและสารสกัดธรรมชาติอื่นๆ ที่ช่วยเร่งการเจริญของเส้นผม มีรายงานทางการแพทย์บ้าง แต่ผลการรักษายังไม่แน่ชัด (controversy) เช่น ไบโอติน สังกะสี โสม อัญชัน สนหางม้า ใบแปะก๊วย เป็นต้น
- เทคโนโลยีแสง Low-Level Laser Therapy (LLLT) เช่น แสง LED และเลเซอร์ เพื่อฟื้นฟูหนังศีรษะและกระตุ้นการเจริญของเส้นผม
- การปลูกผม โดยวิธีผ่าตัดเจาะรากผมบริเวณท้ายทอย ซึ่งเป็นบริเวณไม่ค่อยโดนผลกระทบจากฮอร์โมน แล้วย้ายรากผมมาปลูกลงในบริเวณที่ต้องการ
- การดูแลสุขภาพผม ใช้แชมพูที่อ่อนโยนต่อเส้นผมและหนังศีรษะ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมทำร้ายเส้นผม เช่น ดัด ยืด ใช้ความร้อนสูงกับเส้นผม เป็นต้น
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.