คนไทยป่วยซึมเศร้าเพิ่ม 2 เท่าสังคมเต็มไปด้วยความกดดัน
ปัจจุบันไทยพบข้อมูลที่สะท้อนว่าคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้นในทุก ๆ ปี กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยคลินิกจิตเวชและยาเสพติด เผยว่า ในปี 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาสุขภาพจิตแบบผู้ป่วยนอกจำนวน 22,481 ราย
ส่วนใหญ่จากอาการโรคจิต ซึมเศร้า วิตกกังวล ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิทยา มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ดังนั้น การให้ความรู้ การส่งเสริม ป้องกันเกี่ยวกับการเข้ารับการดูแลรักษาสุขภาพจิตใจเป็นเรื่องที่สำคัญ จำเป็นต้องมีภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชน
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าสถานการณ์การเจ็บป่วยทางสุขภาพจิตคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยในระบบเพิ่มสูงขึ้น 2 เท่า และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากคนมีความรู้และเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ และต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ทุกคนเข้าใจว่าจะต้องเข้าไปหาจิตแพทย์เป็นอันดับแรก ทำให้เกิดภาวะคอขวด จำนวนจิตแพทย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยสัดส่วนจิตแพทย์ในไทยตอนนี้อยู่ที่จิตแพทย์ราว 1.25 คน ต่อประชากร 100,000 คน ต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือควรมีจิตแพทย์ 1.7 คนต่อประชากร 100,000 คนเป็นอย่างต่ำ ซึ่งสถานการณ์จิตแพทย์ของไทยและอาเซียนใกล้เคียงกันมาก เพราะในอดีตการศึกษาเฉพาะทางด้วยจิตแพทย์ไทยเป็นสาขาที่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก แม้ปัจจุบันมีผู้สนใจเรียนมากขึ้น แต่ยอมรับว่ายังขาดแคลนอาจารย์ผู้สอนอยู่ดี
สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือ ต้องสร้างความเข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นถ้ายังไม่ถึงขั้นป่วยเป็นโรคทางจิตเวช อาจจะยังไม่ต้องไปพบจิตแพทย์ได้ แต่ว่าให้เป็นการไปเข้ารับการปรึกษาระดับอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น การปรึกษาอาสาสมัคร ปรึกษาคนใกล้ตัว ปรึกษาคนที่รับฟังเรา หรือถัดมาก็ขยับไปที่นักจิตวิทยาการปรึกษา นักจิตวิทยาคลินิก เพราะหากอาการเข้าขั้นจิตเวชก็จะมีการส่งต่อไปยังจิตแพทย์ ถ้าทำอย่างนี้ได้บุคลากรก็จะเพียงพอ อีกส่วนหนึ่งที่กรมสุขภาพจิตพยายามขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องคือ การส่งเสริม ป้องกัน ก่อนที่จะเกิดการเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต เช่น เครื่องมือประเมินสุขภาพใจเบื้องต้น MENTAL HEALTH CHECK IN เป็นต้น
การรักษาสุขภาพจิตอยู่ในทุกสิทธิการรักษาของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น 30 บาท สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ แต่จิตแพทย์ไม่ได้มีประจำในทุกโรงพยาบาล การไปรักษาต้องมีใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัด ทำให้คนเกิดความยุ่งยาก ทำให้บางคนเลือกที่จะไปหาจิตแพทย์เอกชนที่คิวน้อยกว่า ที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.