“ปวดหัวข้างขวา” เสี่ยงโรคอะไรบ้าง รักษาอย่างไร

อาการปวดหัวข้างเดียว อาจเป็นอาการที่หลายๆ คนเคยเป็น หรือเป็นอยู่บ่อยๆ แต่อาจไม่แน่ใจว่าเป็นอะไร รวมถึงอาการปวดหัวข้างเดียว โดยเฉพาะปวดหัวข้างขวา จะเป็นอาการของโรคอันตรายอะไรหรือไม่ จะใช่โรคไมเกรนหรือเปล่า มาหาคำตอบกัน

ปวดหัวข้างขวา อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาทางระบบประสาท ผลข้างเคียงของยา การใช้ยาเกินขนาด ความเหนื่อยล้า เนื้องอก โรคภูมิแพ้ บาดเจ็บที่ศีรษะ เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้ว อาการปวดหัวไมเกรน ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ และปวดหัวจากความเครียด อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวข้างขวา และอาจมาพร้อมกับอาการอื่นๆ เช่น ตาพร่า คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออกบนใบหน้า ผิวซีด

ปวดหัวข้างขวา คืออะไร

ปวดหัวข้างขวา คือ อาการปวดหัวเพียงข้างเดียว อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาทางระบบประสาท กรรมพันธุ์ การใช้ยาบางชนิด ผลข้างเคียงของยา การใช้ยาเกินขนาด ความเครียด ความเหนื่อยล้า การบาดเจ็บที่ศีรษะ เนื้องอก สภาพอากาศ เป็นต้น และอาจมีโรคปวดหัวที่มักทำให้ปวดหัวข้างขวา คือ ไมเกรน ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ และปวดหัวจากความเครียด ซึ่งอาจมาพร้อมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียการมองเห็นชั่วขณะ อาการมึนตื้อๆ ปวดเมื่อย กล้ามเนื้อไหล่และคอตึง เป็นต้น

อาการปวดหัวข้างขวา

สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการปวดหัวข้างขวาอาจเกิดจากไมเกรนและอาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster headaches) หรือในบางกรณีความเครียดก็อาจทำให้มีอาการปวดหัวข้างเดียวได้เช่นกัน

  • อาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster headaches)

อาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์เป็นอาการที่พบได้ค่อนข้างยาก มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากพันธุกรรม หรือปัจจัยกระตุ้น เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ กลิ่นน้ำหอม กลิ่นน้ำมัน

โรคปวดหัวแบบคลัสเตอร์เป็นภาวะปวดหัวรุนแรงที่เกิดขึ้นกะทันหัน มักเริ่มจากมีอาการปวดเบ้าตาข้างเดียวอย่างรุนแรง จากนั้นอาการปวดจะลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น เช่น ใบหน้า คอ ไหล่ อาการอาจเกิดขึ้นบ่อยครั้ง นานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน และอาจมีอาการเหงื่อออกที่ใบหน้า ตาแดง ตาบวม น้ำตาไหล ผิวซีดหรือแดง คัดจมูก น้ำมูกไหล ร่วมด้วย

  • ไมเกรน

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคไมเกรน แต่อาจเป็นผลมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเหนื่อยล้า สภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

โรคไมเกรนอาจทำให้มีอาการปวดหัวข้างขวาเป็นจังหวะ พร้อมกับมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มองเห็นภาพซ้อน ไวต่อแสง เสียง และกลิ่น คลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียการมองเห็นชั่วขณะ โดยอาการอาจเกิดขึ้นยาวนานตั้งแต่ 4-72 ชั่วโมง บางคนอาจมีอาการเตือนก่อนจะปวดหัว เช่น หน้ามืด มีปัญหาในการพูด รู้สึกเสียวแปล๊บที่ใบหน้า หรือแขน ขาด้านใดด้านหนึ่ง

  • ปวดหัวจากความเครียด

โรคปวดหัวจากความเครียดเป็นภาวะที่พบได้บ่อย อาจทำให้มีอาการปวดหัวทั้ง 2 ข้าง หรือบางคนอาจมีอาการปวดหัวเพียงข้างเดียว และอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มึนตื้อ ปวดเมื่อย เจ็บปวดที่ศีรษะ กล้ามเนื้อไหล่และคอตึง รู้สึกตึงหรือรู้สึกมีแรงกดทับที่หน้าผาก ข้างศีรษะ หรือด้านหลังศีรษะ อาการปวดหัวจากความเครียดอาจเกิดขึ้นเพียง 2-3 ชั่วโมง และส่วนใหญ่มักมีอาการปวดในระดับเบาถึงปานกลาง

ควรพบคุณหมอเมื่อใด

อาการปวดหัวที่เป็นสัญญาณเตือนร้ายแรง และผู้ป่วยควรรีบไปพบคุณหมอทันที อาจมีดังนี้

  • ปวดหัวกะทันหัน โดยเฉพาะตอนตื่นนอน
  • ปวดหัวรุนแรงผิดปกติและอาการแย่ลงเรื่อยๆ หรืออาการปวดหัวที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวัน
  • ปวดหัวเพิ่มขึ้นเมื่อไอหรือเคลื่อนไหวศีรษะ
  • ปวดหัวร่วมกับมีไข้ คอแข็ง สับสน ความจำลดลง หรือมีอาการทางระบบประสาท เช่น มีปัญหาในการมองเห็น พูดไม่ชัด อ่อนแรง ชา ชัก
  • ปวดหัวและตาแดง เจ็บปวดที่ตา
  • ปวดหัวหลังจากโดนกระแทกที่หัว
  • อาการปวดหัวที่เพิ่งเคยเป็นหลังจากอายุ 50 ปี
  • บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป หรือสุขภาพจิตแย่ลง
  • อาการปวดหัวในผู้ป่วยมะเร็งหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง

สาเหตุของอาการปวดหัวข้างขวา

อาการปวดหัวข้างขวาอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • ปัญหาทางระบบประสาท เช่น
    • อาการเจ็บปวดบริเวณท้ายทอย เกิดจากเส้นประสาทท้ายทอยอักเสบ อาจมีอาการปวดหัวและคอเฉียบพลัน ปวดหลังตา
    • โรคหลอดเลือดแดงขมับอักเสบ (Temporal arteritis) เกิดจากเส้นเลือดในศีรษะและลำคออักเสบ อาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัวด้านข้างรุนแรง เมื่อยล้า
    • โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal neuralgia) เกิดจากเส้นประสาทที่ฐานสมองหยุดทำงาน ทำให้มีอาการปวดบริเวณศีรษะและใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งอย่างรุนแรง
  • การใช้ยาบางชนิด ผลข้างเคียงของยาบางชนิด หรือการใช้ยาเกินขนาดอาจทำให้มีอาการปวดหัวข้างขวาได้ เช่น อะซิตามิโนเฟน (Acetaminophen) แอสไพริน ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
  • สาเหตุอื่นของอาการปวดหัวข้างขวา เช่น การติดเชื้อ ความเหนื่อยล้า ความเครียด เนื้องอก โรคภูมิแพ้ การบาดเจ็บที่ศีรษะ ความผันผวนของระดับน้ำตาลในเลือด กล้ามเนื้อตึง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดหัวข้างขวา

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอาการปวดหัวข้างขวา มีดังนี้

  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • ความเครียด ความเหนื่อยล้า
  • สภาพอากาศที่ร้อนหรือหนาวเกินไป
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
  • ปัญหาสุขภาพ เช่น เนื้องอก โรคภูมิแพ้ การบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่

การวินิจฉัยอาการปวดหัวข้างขวา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

คุณหมออาจวินิจฉัยอาการปวดหัวข้างขวาด้วยการซักประวัติทางการแพทย์และอาการ การตรวจร่างกายและระบบประสาท หากอาการรุนแรงหรือผิดปกติ คุณหมออาจทดสอบเพิ่มเติม ดังนี้

  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (CT scan) คุณหมอจะฉายรังสีเอกซ์เพื่อสร้างภาพตัดขวางของสมองอย่างละเอียด ซึ่งจะช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยเนื้องอก การติดเชื้อ ความเสียหายของสมอง เลือดออกในสมอง หรือปัญหาอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการปวดหัวข้าวขวาได้
  • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging : MRI) เป็นการสแกนโดยใช้สนามแม่เหล็กและคลื่นวิทยุเพื่อสร้างภาพของสมองและหลอดเลือดอย่างละเอียด ช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยเนื้องอก โรคหลอดเลือดสมอง เลือดออกในสมอง การติดเชื้อ หรือภาวะอื่นๆ ของสมองและระบบประสาทได้

การรักษาอาการปวดหัวข้างขวา

การรักษาอาการปวดหัวข้างขวาอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยคุณหมอจะรักษาอาการปวดหัวข้างขวาจากสาเหตุหลักนั้นๆ เพื่อให้อาการปวดหัวข้างขวาดีขึ้น เช่น

ปวดหัวข้างขวาจากไมเกรน

  • ยาแก้ปวด ช่วยบรรเทาอาการเมื่ออาการปวดกำเริบ เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ทริปแทนส์ (Triptans) ไดไฮโดรเออร์โกตามีน (Dihydroergotamine) ลาสมิดิตัน (Lasmiditan) ยาโอปิออยด์ (Opioid medications) ยาต้านอาการคลื่นไส้ (Anti-nausea drugs)
  • ยาป้องกันอาการปวด ช่วยป้องกันไม่ให้อาการปวดกำเริบ เช่น ยาลดความดันโลหิต ยากล่อมประสาท ยากันชัก ยาต้านสาร CGRP ยากลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) การฉีดโบท็อกซ์

ปวดหัวข้างขวาจากปวดหัวคลัสเตอร์

  • การรักษาชนิดออกฤทธิ์เร็ว ได้แก่ การสูดดมออกซิเจนบริสุทธิ์ผ่านหน้ากาก การฉีดยาทริปแทนส์ (Triptans) การฉีดยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน (Dihydroergotamine) การใช้ยาออคเทรโอไทด์ (Octreotide) การใช้ยาชาเฉพาะที่
  • การรักษาเชิงป้องกันอาการ ได้แก่ ยาต้านแคลเซียม (Calcium channel blockers) ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยาลิเธียมคาร์บอเนต (Lithium carbonate) การบล็อกเส้นประสาท (Nerve block)

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง เพื่อจัดการกับอาการปวดหัวข้างขวา อาจบรรเทาด้วยตนเองได้ ดังนี้

  • ประคบร้อนหรือเย็นที่หลังคอ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจกระตุ้นอาการปวดหัว เช่น คาเฟอีน แอลกอฮอล์ ผงชูรส
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และออกกำลังกายผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
  • หลีกเลี่ยงการมัดหรือรวบผมแน่นเกินไป เพราะอาจทำให้ปวดหัวได้
  • หลีกเลี่ยงที่ที่มีแสงจ้าหรือไฟกะพริบ เสียงดัง และกลิ่นแรง
  • พักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บเล็ต และโทรทัศน์อย่างน้อย 20 นาที
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียดและคลายวิตกกังวล เช่น เล่นโยคะ ฝึกหายใจเข้าออกเพื่อผ่อนคลาย ทำสวน วาดรูป
  • อาการปวดหัวจากความเครียดอาจบรรเทาอาการได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดแต่ไม่ควรใช้ยาบ่อยหรือใช้ยาเกินขนาด เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้
  • นวดหรืออาบน้ำอุ่นเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่
  • ใช้น้ำมันหอมระเหย เช่น น้ำมันยูคาลิปตัส น้ำมันลาเวนเดอร์ น้ำมันเปปเปอร์มินต์ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดหัวจากความเครียดได้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.