อยากเที่ยวให้ระวัง “ทัวร์ทิพย์” แต่เที่ยวเองก็ไม่ยากอย่างที่คิด
“จะไปเที่ยวต่างประเทศ ไปกับทัวร์หรือวางแผนไปเองดีกว่ากัน” นี่เป็นคำถามที่มักจะได้ปรากฏให้เห็นหรือได้ยินบ่อย ๆ เมื่อใครสักคนตั้งใจจะวางแผนไปเที่ยว คนที่เคยเที่ยวทั้งสองแบบก็จะเข้าไปแชร์ประสบการณ์ข้อดี-ข้อเสียให้ฟังเพื่อประกอบการตัดสินใจ สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่เราเลือกเองว่าสะดวกจะไปแบบไหนมากกว่ากัน
ถ้าเลือกที่จะวางแผนเดินทางเที่ยวด้วยตัวเองแบบไม่ง้อทัวร์ ข้อดีคือความอิสระและความยืดหยุ่น เราสามารถลิสต์ที่เที่ยวที่ตัวเองอยากจะไปได้ทั้งหมด แม้ว่าจะไม่ใช่สถานที่เที่ยวที่เป็นที่นิยมก็ได้ไปแน่นอน ถ้าทำการบ้านดี ๆ ก็ไม่ยาก ภาษาไม่ได้ก็ไม่ใช่ปัญหา แค่เตรียมคำศัพท์และบทสนทนาง่าย ๆ เพื่อเอาตัวรอดก็พอ เรื่องของเวลาก็ยืดหยุ่นได้เพราะเราเดินทางเอง สามารถปรับได้ตามที่เหมาะสม เพียงแต่จะยุ่งยากทำการบ้านหาข้อมูลและวางแผนต่าง ๆ อย่างรอบคอบ เพื่อการเดินทางที่ราบรื่น
ทว่าก็มีคนอีกกลุ่มใหญ่เลยทีเดียวที่ชอบใช้บริการบริษัททัวร์หรือบริษัทนำเที่ยวในทุกครั้งที่มีแผนท่องเที่ยวไม่ว่าจะเที่ยวในประเทศหรือต่างประเทศ เพราะข้อดีของการซื้อทัวร์ก็คือ เรื่องของความสะดวกสบาย ที่เราจะได้รับตั้งแต่จ่ายเงินไป ก็แค่เตรียมตัวตามข้อมูลที่บริษัททัวร์ส่งมาให้ ใกล้ ๆ ถึงวันเดินทางก็จัดกระเป๋ารอเที่ยวและรักษาเวลาเท่านั้น นอกนั้นเขาพาไปเที่ยวที่ไหนก็ไปตามนั้น พาแวะกินอะไรก็กินอันนั้น จบทริป 1 วันก็กลับที่พักนอน มันคือการใช้เงินแก้ปัญหาความจุกจิกในการทำการบ้านเตรียมตัวเที่ยว
อย่างไรก็ดี การซื้อทัวร์ไปเที่ยวก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ออกแนวตาดีได้ตาร้ายเสีย เพราะมันมีความเสี่ยงสูงที่จะเจอ “ทัวร์ทิพย์” ขนาดเป็นบริษัททัวร์ที่มีชื่อเสียง ดูแล้วน่าเชื่อถือ แต่จ่ายเงินไปแล้วถูกลอยแพกะทันหัน ใกล้วันเดินทางจู่ ๆ ก็ติดต่อบริษัททัวร์ไม่ได้ หรืออาจพาไปเที่ยวจริงแต่สถานที่ที่พาไปไม่ตรงปก ดูแล้วไม่คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป โปรแกรมเที่ยวถูกเปลี่ยนแปลงยิบย่อยหลายรายการ พอขอเงินคืนก็ไม่ได้คืน บริษัททัวร์ปัดความรับผิดชอบ จนกลายเป็นคดีความวุ่นวาย หากใครไปเจอทัวร์ทิพย์แบบนี้เข้า ก็จะกลายเป็นฝันร้ายของประสบการณ์ท่องเที่ยวไปเลย
เลือกบริษัททัวร์ที่น่าเชื่อถือ ไม่ถูกหลอกเที่ยวทิพย์
เพราะการเลือกซื้อทัวร์ทุกวันนี้มีความเสี่ยงพอ ๆ กับการรับโทรศัพท์แล้วเจอแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แล้วการซื้อทัวร์ไปเที่ยวทริปต่างประเทศแต่ละครั้งไม่ได้ใช้เงินแค่หลักพัน แต่อย่างต่ำคือหลักหมื่น ที่หลายคนใช้เวลาเก็บเงินเป็นปี ๆ เพื่อป้องกันความสูญเสียมูลค่าสูงขนาดนั้น เราจำเป็นต้องตรวจสอบบริษัททัวร์ก่อนเพื่อลดความเสี่ยงในการถูกหลอก โดยสามารถเช็กได้ด้วยวิธีเหล่านี้
1. เป็นบริษัทที่มีอยู่จริง สามารถตรวจสอบได้
อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจเลือกใช้บริการทัวร์ใด ๆ เพียงแค่เห็นโปรโมชันถูกใจบนเว็บไซต์ หรือเพจในเฟซบุ๊ก ลองหาวิธีตรวจสอบว่าบริษัทนี้มีตัวตนอยู่จริง ๆ หรือเปล่า หรือก็คือต้องมีสถานประกอบการตั้งอยู่จริง ๆ ตามที่อยู่ที่ปรากฏ หากไม่สะดวกเดินทางไปเอง ลองใช้ Google Street View เช็กในเบื้องต้นก่อนก็ได้ (อย่าลืมดูวันที่ว่าเป็นปัจจุบันแค่ไหน) จากนั้นให้ตรวจสอบว่าบริษัทแห่งนี้มีการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวอย่างถูกต้องหรือไม่ บริษัททัวร์ที่ดีจะมีความน่าเชื่อถือสูง ดูได้จากการเป็นบริษัททัวร์ชั้นนำ และต้องไม่มีการเปลี่ยนชื่อหรือที่อยู่บริษัทบ่อย ๆ ด้วย
2. ขอดูใบอนุญาตประกอบธุรกิจ
เพื่อสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า ปกติแล้วบริษัททัวร์จะแสดงใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวให้ลูกค้าดูก่อนโดยที่ลูกค้าไม่ต้องร้องขอหรือติดเอาไว้ในที่ที่สามารถเห็นได้ชัด ๆ แต่ถ้าบริษัททัวร์ที่เลือกไม่ได้แสดงไว้ในที่ที่เห็นได้ชัด เราสามารถขอดูได้โดยไม่เป็นการเสียมารยาทแต่อย่างใด ดังนั้น การเลือกซื้อทัวร์เพื่อไม่ให้ถูกหลอก จึงต้องดูด้วยว่าบริษัททัวร์ดังกล่าวมีใบอนุญาตหรือไม่ และที่สำคัญจะต้องยังไม่หมดอายุด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการกำหนดให้ต่ออายุทุก 2 ปี โดยสามารถเช็กตัวตนของบริษัททัวร์ได้ที่ http://www.tourism.go.th
3. หาดูรีวิวจากผู้ใช้บริการ
ประสบการณ์จากผู้ใช้บริการจริงก็ยังสามารถนำมาเป็นตัวช่วยในการพิจารณาได้อยู่ แม้ว่าจะหารีวิวจริง ๆ ได้ค่อนข้างยากก็ตาม เพราะปัจจุบันการรีวิวดี ๆ สามารถจ้างทำได้ แต่ให้ลองสังเกตหาข้อความรีวิวที่ไม่ใช่แค่อวยอย่างเดียว เพราะปกติแล้วความคิดความชอบคนเรามันนานาจิตตัง อาจมีทั้งคนที่ประทับใจและคนที่รู้สึกไม่ได้รับความสะดวกอยู่บ้าง ถ้าเป็นเช่นนั้น ส่วนใหญ่เขาก็จะให้ข้อเสนอแนะมาว่าควรปรับปรุงอะไร ความคิดเห็นไม่ได้เป็นติดลบซะหมด ดังนั้น อย่าตัดสินใจเลือกเพียงเพราะเห็นคะแนนหรือดาวแต่เพียงอย่างเดียว
4. รายการนำเที่ยวต้องมีรายละเอียดชัดเจน และราคาที่เหมาะสม
บริษัททัวร์ที่น่าเชื่อถือ จะมีการบริการลูกค้าที่เป็นระเบียบแบบแผนชัดเจน ไม่คลุมเครือ ไม่มีอะไรให้ลูกค้าต้องงุนงง รายการนำเที่ยวต่าง ๆ จะแจ้งรายละเอียดชัดเจน ที่สำคัญคือ ราคาเหมาะสม อย่าหลงเชื่อราคาทัวร์ที่ถูกจนเกินไป แบบนั้นผิดปกติแน่นอน เพราะพวกมิจฉาชีพส่วนใหญ่มักใช้จุดอ่อนในเรื่องของราคามาล่อลวงนักท่องเที่ยวให้หลงกล ดังนั้น จึงพิจารณาราคาตามมาตรฐานที่เป็นไปได้ว่าราคาทัวร์ดังกล่าวมีความเหมาะสมหรือไม่ ถูกเกินไปก็น่าสงสัย และไม่ใช่ว่าราคาแพงจะดีเสมอไป ควรดูที่คุณภาพและผลงานของบริษัททัวร์แห่งนั้นด้วย
5. บัญชีโอนเงินต้องไม่ใช่ชื่อบุคคล
หากตรวจสอบมาหลายขั้นตอนแล้วยังไม่เห็นความผิดปกติก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และเมื่อมาถึงขั้นตอนชำระเงิน นี่เป็นอีกจุดที่เราอาจจับโป๊ะได้ การซื้อหรือการจองทัวร์นำเที่ยวส่วนใหญ่ จะต้องมีการจ่ายเงินมัดจำก่อน หรืออาจให้ชำระเงินเต็มจำนวนในทันที ก่อนจะยืนยันการชำระเงิน หากเป็นการโอนเงิน ให้ตรวจสอบว่าบัญชีปลายทางที่โอนค่าทริปไปนั้น เป็นชื่อนิติบุคคล (บริษัท) หรือเป็นชื่อบุคคล เพราะบริษัททัวร์ที่น่าเชื่อถือควรมีบัญชีธนาคารเป็นชื่อที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจ เป็นการการันตีในขั้นต้นว่าบริษัทเหล่านี้ได้รับการตรวจสอบจากธนาคารแล้ว แต่ถ้าเป็นชื่อบุคคล ควรต้องเป็นบุคคลผู้มีอำนาจในบริษัท ซึ่งอาจใช้ Google ช่วยตรวจสอบชื่อและเลขที่บัญชีได้ด้วยว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่
6. ต้องมีหลักฐานการชำระเงินให้ทุกครั้ง และต้องมีหลักฐานการจองให้เราเป็นหลักฐานด้วย
หลังชำระเงินทุกครั้ง ปกติบริษัทที่ถูกต้องจะต้องออกหลักฐานการชำระเงินให้เราโดยที่เราไม่ต้องร้องขออะไร และให้เราเก็บหลักฐานการชำระเงินนั้นไว้จนกว่าจะจบทริป แม้ว่าจะไม่ได้โดนลอยแพหรือถูกหลอกเที่ยวไม่ตรงปกก็ตาม การเก็บหลักฐานเหล่านี้ไว้จะช่วยลดปัญหาที่อาจตามมาได้เป็นอย่างดี และนอกจากหลักฐานการชำระเงินแล้ว ควรจะต้องได้รับเอกสารการจองเสร็จสมบูรณ์กลับมาด้วย
มือใหม่วางแผนเที่ยวด้วยตัวเอง ไม่ยากอย่างที่คิด
ถ้าใครไม่อยากใช้บริการทัวร์ มีความไม่มั่นใจว่าจะโดนไหมไม่รู้ และมันก็น่าสนุกดีที่จะวางแผนเที่ยวด้วยตัวเอง นี่เป็นเคล็ดลับการวางแผนเดินทางสำหรับมือใหม่ ที่จะช่วยให้เราวางแผนเที่ยวได้อย่างยอดเยี่ยมเลยทีเดียว!
1. เรื่องของเสื้อผ้า
เราต่างรู้กันดีว่าควรแต่งตัวสบาย ๆ รัดกุม คล่องตัวในการเคลื่อนไหว แต่ต้องทำตามกฎของสถานที่ต่าง ๆ ที่ไปด้วย นอกจากนี้ ควรระวังเรื่องการใช้กระเป๋าสะพาย กระเป๋าคาดเอว กระเป๋าเป้ และสิ่งอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าเราเป็นนักท่องเที่ยว เพราะมีโอกาสสูงมากกว่าคนท้องถิ่นที่จะตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม โจรกรรม ชงชิงวิ่งราว ดังนั้น พยายามอย่าโดดเด่นในฝูงชน แต่งตัวให้กลมกลืนกับคนท้องถิ่นให้มากที่สุด ให้ไม่เป็นที่สะดุดตาจะปลอดภัยกว่า
2. การใช้เงิน
ต้องวางแผนให้ดีว่าแต่ละวันจำเป็นต้องใช้เงินเท่าไร เป็นเงินสดเท่าไร และการใช้จ่ายด้วยรูปแบบอื่นอีกเท่าไร อย่าพกเงินสดติดตัวเป็นจำนวนมาก (แต่ต้องมีติดตัว) อาจพกบัตรเครดิต หรือบัตร ATM ที่ใช้กดเงินสดได้ทั่วโลก หรือบัตรประเภท Travel Card ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องวางแผนการกดเงินสดในต่างประเทศด้วย ในเรื่องของค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม และอีกคำแนะนำ คือ ถ้าจะถอนเงินหรือแลกเงิน ให้ทำก่อนไปสนามบิน เพราะเรตที่สนามบินค่อนข้างแพง
3. ระวังเรื่องคาดคะเนงบประมาณผิดพลาด
เราสามารถวางแผนเที่ยว เดินทาง ซื้อของ ใช้เงินได้แบบหมดเกลี้ยงจนถึงเงินเหรียญสุดท้าย แต่สิ่งที่ต้องคิดเผื่อไว้เสมอก็คือ ทุกการเดินทางอาจมีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่ประมาณไว้เสมอจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน โดยอาจเป็นการซื้อของที่จำเป็นต้องใช้โดยไม่ได้มีแผนมาก่อน เงินถูกขโมย สูญหาย ส่งพัสดุกลับประเทศ หรืออีกสารพัดสาเหตุที่เป็นเหตุสุดวิสัยที่เราไม่ได้คิดว่าต้องเสียเงิน ต้องมีเงินสำรองหรือแผนเพื่อเงินสำรองตลอดทริป
4. การหาข้อมูลเรื่องสถานที่เที่ยวต่าง ๆ
คนวางแผนเที่ยวเองมักจะหาข้อมูลของสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ไว้มากพอสมควร ทั้งกลัวทั้งกังวลว่าจะไปหลงทางในที่ที่ไม่คุ้นเคย โดยอาจอ่านรีวิวแนะนำสถานที่ตามอินเทอร์เน็ต ซื้อหนังสือคู่มือการเดินทาง เปิดดูช่องวิดีโอทาง YouTube จากนั้นต้องมาจัดทำแผนเที่ยวอย่างรัดกุม เผื่อเวลาไว้เสมอ อย่าเพิ่งคาดหวังทั้งในเรื่องของเวลา แผนการเดินทาง และความรู้สึก ทุกอย่างอาจผิดคาดเมื่อมาถึงสถานที่จริง ไม่มีข้อมูลใดที่ดีเท่าการเผชิญด้วยตนเอง
5. การพบปะคนท้องถิ่น
การพบปะกับผู้คนใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวด้วยกัน หรือคนในท้องถิ่น ล้วนเป็นความสุขอย่างหนึ่งของการเดินทาง นี่คือเหตุผลว่า การพักในโฮลเทลไม่ใช่เรื่องแย่ มันคุ้มค่าที่จะได้แชร์เรื่องราวและคำแนะนำจากคนอื่น ๆ และการพบปะกับคนท้องถิ่นก็เพิ่มประสบการณ์การเดินทางด้วย ถ้าเป็นไปได้อาจเรียนรู้ภาษาใหม่ก่อนเดินทาง ซึ่งช่วยให้การเดินทางง่ายขึ้น และพูดคุยกับคนท้องถิ่นได้ ทว่าถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะข้อมูลแบบภาษามือก็ช่วยเราได้เหมือนกัน
6. เตรียมสำรองวิธีการเดินทาง
มีวิธีการเดินทางมากมายที่สามารถพาเราท่องเที่ยวได้ทั่วประเทศและทั่วโลก ทั้งเครื่องบิน รถไฟ เรือ และอื่น ๆ แต่ถ้าไม่ชอบหรืออยากดื่มด่ำกับการเที่ยวมากกว่านั้น และอยากเปลี่ยนวิธีการเดินทางก็สามารถทำได้ จึงต้องมีการเตรียมสำรองวิธีการเดินทางรูปแบบอื่นไว้ เพราะบางที เมื่อเราเดินทางไปถึงจุดหมายแล้ว อาจพบว่าการสำรวจสถานที่ต่าง ๆ ด้วยจักรยาน หรือแม้แต่เดินเท้า จะเปลี่ยนอารมณ์ในการเดินทางได้ ที่สำคัญ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลองหาข้อมูลไว้
7. มองตามหลักความเป็นจริง
อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง อย่าคาดหวังว่าเราจะต้องสนุกสนานทุกช่วงเวลาของการเดินทาง เพราะในช่วงต้นการเดินทางเราอาจจะตื่นเต้น กระตือรือร้นที่จะเห็นโลก จนเดินทางไปนู่นมานี่มากเกินไป ในช่วงกลาง ๆ หรือท้าย ๆ ร่างกายอาจเหนื่อยล้าและเพลียได้ (โดยเฉพาะคนที่เดินทางเองครั้งแรก) ฉะนั้น อย่ายัดแผนการเดินทางในแต่ละวันมากเกินไป หาเวลาหยุดพักเพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศ ณ ที่นั้น ๆ บ้าง ก่อนจะมุ่งหน้าไปยังจุดหมายต่อไป
8. การเก็บกระเป๋า
มีคำแนะนำมากมายเกี่ยวกับการแพ็กกระเป๋าเดินทาง เช่น นำเสื้อผ้าไปไม่เกิน 3-4 ชุด ไม่จำเป็นต้องมีรองเท้ามากกว่า 2 คู่ (หนึ่งในนั้นคือรองเท้าแตะ) ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นอื่น ๆ ต้องตรวจเช็กให้ดีว่าไม่ลืมของสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ รวมถึงพวกอุปกรณ์สำหรับจัดระเบียบ เพื่อให้เป็นหมวดหมู่และหยิบใช้ได้ง่าย ลองหาอ่านรีวิวเพิ่มเติมว่าแต่ละที่ควรต้องพกอะไรไปเพิ่มเติม หรือคลิปวิดีโอที่สอนพับเสื้อผ้าให้ประหยัดเนื้อที่ในกระเป๋า ก็เป็นประโยชน์
9. พิจารณาคำแนะนำของคนอื่นร่วมด้วยเสมอ
ทั้งก่อนและระหว่างการเดินทาง เรามักจะได้ยินคำแนะนำจากคนอื่น ๆ ด้วยเสมอ ทั้งไม่เห็นด้วย สนับสนุน และแนะนำเพิ่มเติม ซึ่งก็ควรฟังในสิ่งที่คนอื่นพูดเสมอเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาก่อนตัดสินใจ ที่มีเพียงตัวเราเองเท่านั้นที่ตัดสินใจได้ ยึดความรู้สึกของตัวเองว่าการเที่ยวครั้งนี้จะต้องทำให้ตัวเราพอใจที่สุด ไม่จำเป็นต้องเชื่อทุกคำแนะนำจนต้องเปลี่ยนแผนตามที่มีคนเตือนมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้เพิกเฉยกับคำเตือนต่าง ๆ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.