เราเชื่อผลโพลการเมืองได้แค่ไหนกัน?
‘การเชื่อโพลมีความเสี่ยง’ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจเชื่อโพล เราสามารถทำความเข้าใจผลโหวตที่ราวกับมาจากคนละโลกนี้ ด้วยการตอบคำถามว่าโพลทำงานอย่างไร
เข้าใจโพลก่อนอ่านผล
โพลคือหนึ่งในเครื่องมือทางสถิติที่แสนอัศจรรย์ เพราะเราสามารถสอบถามข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างหลักพันคนเพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนหลักล้านคนได้ในระดับที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่มีเงื่อนไขคือ ต้องใช้ระเบียบวิธีที่เคร่งครัดและเหมาะสมโดยต้องพิจารณาทั้งในแง่การเลือกกลุ่มตัวอย่าง การตั้งคำถาม และข้อควรระวังเรื่องทัศนคติของสังคม
การเลือกกลุ่มตัวอย่างคือหัวใจของการทำโพล กลุ่มตัวอย่างที่ดีคือกลุ่มตัวอย่างที่คัดเลือกอย่างระมัดระวังเพื่อให้สามารถเป็น ‘ตัวแทนของกลุ่มประชากร’ ที่เราทำการสำรวจ โดยอาจพิจารณาจากลักษณะทางประชากรศาสตร์ (เพศหรืออายุ)ลักษณะทางภูมิศาสตร์ (ที่อยู่หรือที่ทำงานในปัจจุบัน) หรือสถานะทางสังคม (รายได้หรืออาชีพ) กลุ่มตัวอย่างที่ดีจะต้องมีคุณลักษณะต่างๆ ที่สอดคล้องใกล้เคียงกับประชากร ซึ่งนับเป็นงานโหดหินที่แทบเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ แต่เทคโนโลยีในปัจจุบัน เช่น โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ก็ทำให้การสุ่มมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีต
อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างก็ยังเป็นปัญหาชวนปวดหัวของนักทำโพล การติดต่อทางโทรศัพท์เริ่มทำได้ยากขึ้นนับตั้งแต่มีการระบาดของแก๊งคอลเซนเตอร์ ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ระมัดระวังที่จะรับโทรศัพท์จากคนแปลกหน้า ส่วนบนโลกอินเทอร์เน็ตก็มีสารพัดช่องทางในการปลอมแปลงที่อยู่ ยังไม่นับความเสี่ยงจากเหล่าบอตที่สามารถระดมพลมาพลิกผลโพลได้ตามต้องการ ผู้ที่มาแสดงความคิดเห็นในโพลจึงอาจมีรูปแบบหรืออคติบางอย่างซึ่งกระทบต่อผลลัพธ์จากโพล เช่น เป็นคนที่มีเวลาและพร้อมที่จะรับโทรศัพท์จากคนแปลกหน้า หรือคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
ตัวอย่างผลโพลที่ต้องอ่านอย่างระมัดระวังก็เช่นผลโพลผู้อ่านเว็บไซต์ MGR Online ซึ่งเป็นความคิดเห็นของคนที่มีรสนิยมทางการเมืองเฉพาะกลุ่มเท่านั้น โดยไม่ได้มีระเบียบวิธีการสุ่มตัวอย่างที่ออกแบบมาเพื่อสะท้อนความคิดเห็นของ ‘ประชากรไทยทั้งประเทศ’ ดังเช่นโพลอื่นๆ
อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนมองข้ามคือการออกแบบคำถาม หนึ่งในคำถามยอดแย่ที่ชวนให้คนอ่านเข้าใจผิด คือคำถามพ่วงในการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
จะเห็นว่าผู้ออกแบบคำถามพยายามล้อมหน้าล้อมหลังโดยใช้คำพูดสวยหรู เชื้อเชิญให้ผู้ออกเสียงโหวตยอมรับ เช่นวรรคที่ว่า “เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ” พร้อมทั้งเขียนคำถามงุนงงสับสนวนไปวนมาทั้งที่ความหมายที่แท้จริงคือ ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้คณะรัฐประหารแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา 250 คน มาร่วมลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า
แม้แต่คำถามง่ายๆ ที่ดูเหมือนจะตรงไปตรงมา อย่าง “คุณต้องการให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” นักออกแบบโพลก็สามารถ ‘บิด’ ผลลัพธ์ได้ตามความต้องการด้วยเทคนิค เช่น การปรับเปลี่ยนตัวเลือกโดยตัดตัวเลือกที่ตนเองไม่ชอบออก หรือการจัดลำดับตัวเลือกโดยขยับตัวเลือกที่ต้องการมาไว้อันดับต้นๆ ดังนั้น ความโปร่งใสเรื่องวิธีการสำรวจความคิดเห็น และการออกแบบแบบสอบถามจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ประเด็นสุดท้ายเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของนักทำโพล คือการที่ผู้ตอบแบบสอบถามอาจไม่พูดความจริง ปัญหานี้จะค่อนข้างรุนแรงหากสำรวจความคิดเห็นในเรื่องที่อ่อนไหว เช่น ศาสนา การเมือง หรือรสนิยมทางเพศ คนจำนวนไม่น้อยเกรงว่า ตนจะดูไม่ดีหากแสดงความคิดเห็น หรือระบุพฤติกรรมของตนเองอย่างตรงไปตรงมา เช่น การนิยมพรรคการเมืองอนุรักษนิยมขวาจัด การไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ แม้กระทั่งการใช้ถุงพลาสติกในชีวิตประจำวัน พวกเขาจึงเลือกที่จะไม่พูดตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตัวเองคิดจริงๆ
เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว นักทำโพลจึงอาจเปลี่ยนจากการสำรวจความคิดเห็นเป็นการสำรวจพฤติกรรม หรือปรับรูปแบบคำถามจากสำรวจทัศนคติของผู้ให้สัมภาษณ์เป็นการถามทัศนคติของคนใกล้ชิด เช่น ท่านคิดว่าคนรอบตัวของท่านส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้งครั้งนี้ การสำรวจความคิดเห็นหลังจากการกระทำ เช่น การทำเอ็กซิตโพล (Exit Poll) ที่สอบถามความคิดเห็นหลังจากหย่อนบัตรเลือกตั้งในคูหายังมีแนวโน้มที่จะเที่ยงตรงกว่าการสำรวจความคิดเห็นทั่วไปอีกด้วย
เมื่อผลโพลเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง
แน่นอนครับว่าการทำโพลย่อมมีประโยชน์ ทั้งฟากฝั่งนักการเมืองที่สามารถใช้ข้อมูลคะแนนนิยมจากผลโพล เพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การหาเสียงและนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และฝั่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ผลโพลคือข้อมูลชุดสำคัญเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลโพลมีพลังมากพอที่จะ ‘ชี้นำ’ ผลการเลือกตั้ง
แม้ว่าการใช้สิทธิออกเสียงจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่มนุษย์ปุถุชนก็ยากจะหลีกเลี่ยงอิทธิพลทางความคิดหรือแรงกดดันทางสังคมเมื่อทราบว่า ‘คนอื่นส่วนใหญ่’ มีความคิดเห็นอย่างไร โดยเฉพาะคนจำนวนมากที่ไม่ได้ปวารณาตนเป็นแฟนตัวยงของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง จึงพร้อมที่จะเปลี่ยนใจได้ตลอดเวลา
โพลการเมืองที่ขาดความโปร่งใสและระเบียบวิธีไม่เหมาะสมจนได้ผลลัพธ์ที่อุดมด้วยอคติย่อมสร้างปัญหา เนื่องจากเป็นการจงใจบิดเบือนการรับรู้และความคาดหวังต่อผลการเลือกตั้งของประชาชนบางส่วน และอาจเป็นการชี้นำซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการลงคะแนนเสียง
แม้แต่โพลการเมืองที่ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบวิธีทางสถิติก็ส่งผลต่อการตัดสินใจของคนเช่นกัน เช่น ปรากฏการณ์แห่ตามกัน (Bandwagon Effect) ที่ผู้มีสิทธิออกเสียงเปลี่ยนใจไปลงคะแนนให้พรรคที่ผลโพลคาดว่า จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเพราะไม่ต้องการให้เสียงตกน้ำ อย่างไรก็ตาม การลงคะแนนเสียงเชิงกลยุทธ์เช่นนี้อาจนำไปสู่ปัญหาการถ่วงดุลในรัฐสภา เพราะเสียงส่วนใหญ่อยู่ในมือพรรคการเมืองเดียว
อีกหนึ่งผลลัพธ์ที่หลายคนคาดไม่ถึงจากผลโพล คือหากผลลัพธ์จากโพลคาดว่าพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งจะชนะแบบแลนด์สไลด์ จำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะมีแนวโน้มลดน้อยลง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ ‘ย่ามใจ’ ว่าพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบน่าจะคว้าที่นั่งมาครองได้ไม่ยาก ผลโพลจึงนับว่ามีอิทธิพลสำคัญต่อผลการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องโพล และมักเป็นการกำหนดกรอบเวลาที่ห้ามเผยแพร่ผลโพลเท่านั้น เช่น หลายประเทศในสหภาพยุโรปที่มีกำหนดกรอบเวลาตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์ ไปจนถึงหนึ่งเดือนที่สื่อห้ามเผยแพร่ผลโพล เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งห้ามเผยแพร่ผลสำรวจความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการลงคะแนนการเลือกตั้งหนึ่งสัปดาห์ก่อนถึงวันเลือกตั้ง สาเหตุก็เพราะโพลคือองค์ประกอบหนึ่งของ ‘เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น’ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง
ด้วยการกำกับดูแลที่ไม่เข้มงวด ประชาชนจึงต้องหวังพึ่งพาความเป็นมืออาชีพของสำนักข่าวและสำนักโพล ทั้งในเรื่องระเบียบวิธีการสำรวจความคิดเห็นและการนำเสนอข่าว แต่เราก็จะเห็นได้ว่าการทำโพลนั้นมีโอกาสเกิด ‘รูรั่ว’ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เราในฐานะประชาชนจึงต้องตระหนักเสมอว่า การเชื่อโพลมีความเสี่ยง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจเชื่อโพล
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.