"อกหัก" สายไหน เสี่ยงโรคหัวใจมากที่สุด ?

  • “อกหัก” เป็นความเจ็บปวดทางอารมณ์อย่างรุนแรง เกิดจากความผิดหวังที่ต้องเสียบุคคลอันเป็นที่รักไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม

  • อาการอกหัก มักทำให้เสียใจและผิดหวัง หากไม่รีบฟื้นตัวและไม่ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น อาจเกิดภาวะที่เรียกว่า Broken Heart Syndrome หรือภาวะหัวใจสลาย ทำให้ความสามารถในบีบตัวของหัวใจลดลงอย่างเฉียบพลัน

  • อาการของโรคหัวใจสลายที่พบได้บ่อยคือ เจ็บหน้าอกรุนแรงอย่างกะทันหันคล้ายอาการของภาวะหัวใจขาดเลือด หน้ามืด ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก

“อกหัก” คือ ประสบการณ์ทางความรักที่ใครหลายคนอาจเคยผ่านมาในชีวิต เช่น อกหัก เพราะแฟนหรือคู่ชีวิตทอดทิ้ง อกหักเพราะแอบรักเขาข้างเดียวและเขาก็มีแฟนอยู่แล้ว  การอกหักเป็นความไม่สมหวัง ความผิดหวัง ส่งผลให้เกิดความเสียใจ แต่จะเสียใจนานแค่ไหนหรือมีพฤติกรรมหลังอกหักอย่างไร ขึ้นกับประสบการณ์ของแต่ละคน มาดูกันว่า อกหักสายไหนเสี่ยง โรคหัวใจ หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่ากัน


อกหักสายกิน (​แหลก)

สายนี้บรรเทาความเครียดหรือความผิดหวังด้วยการกิน ทั้งของที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ แม้อาการช่วงแรกที่มีผลมาจากความเครียดทำให้เราจะกินอะไรไม่ค่อยลง หลังจากนั้นไม่นาน เราจะเริ่มมีอาการอยากกิน จนกลายเป็นคนกินจุ และมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นตามมาได้ นั่นเพราะเมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด ระดับฮอร์โมนคอติซอลที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ระดับอินซูลินสูงขึ้นตาม ทำให้ร่างกายอยากของหวานมากขึ้น นอกจากนั้นในบางรายที่นอนดึก นอนไม่หลับ จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนความหิวอย่างเกรลินออกมามากผิดปกติ ทำให้เราอยากทานน้ำตาล อาหารไขมันสูง หรืออาหารรสเค็ม มากเป็นพิเศษ หากไม่ควบคุมอาหารและออกกำลังกาย โรคอ้วนจะตามมาได้ และเมื่อมีภาวะอ้วน จะส่งผลให้เกิดการอักเสบซ่อนเร้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวานและ โรคหัวใจ ได้


อกหักสายเมา (มาย)

สายนี้ถ้าปล่อยให้ อกหัก มักจะรีบโทรหาเพื่อนเพื่อชวนดื่มแอลกอฮอล์​ ประหนึ่ง “วันนี้ต้องเมา วันนี้ต้องลืมเธอให้ได้”

แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่ม คือ เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) หรือ เอทานอล (Ethanol) เป็นสารที่แปรรูปด้วยการกลั่นและหมักจากข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ หรือผลไม้ โดยความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเบียร์ อยู่ที่ประมาณ 5% ไวน์ประมาณ 12% และสุรากลั่นประมาณ 40% แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์โดยตรงต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งเป็นประสาทที่ควบคุมความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งหากดื่มเข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้มีอาการง่วงซึม หรือขาดสติได้ แต่หากดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ ทำให้สนุกสนานอารมณ์ดี

สายนี้หากดื่มแต่พองาม พบว่าแอลกอฮอล์ มีประโยชน์ต่อหัวใจอยู่บ้าง จากการวิจัยของวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา (Harvard T.H. Chan School of Public Health) ให้ข้อมูลว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อวัน ในปริมาณปานกลางเป็นประจำ หรือประมาณ 2 แก้วในผู้ชายและ 1 แก้วในผู้หญิง จะมีอัตราการรอดชีวิตจากหัวโรคหัวใจมากกว่าผู้ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ 25-40%  โดยนักวิจัยให้เหตุผลว่า การดื่มแบบปานกลางนี้ช่วยเพิ่มระดับเอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL) หรือไขมันดี ได้ แต่ถ้ามากกว่านี้ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณ​สูงติดต่อกันนานๆ จะทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้เลือดข้นเหนียวขึ้น จับตัวกันเป็นลิ่มและอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะที่หัวใจและสมอง  นอกจากนี้ คนที่มีไตรกลีเซอไรด์สูงเป็นเวลานานจะทำให้ระดับเอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL) หรือไขมันดี ในเลือดลดต่ำลงด้วย จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคตับอ่อนอักเสบได้ ใครจะเมาหัวราน้ำ ติดต่อกันในช่วงทำใจขอให้คิดด้วยความรอบคอบเพื่อสุขภาพหัวใจ


อกหักสายร้องไห้ (ฟูมฟาย)

สายนี้เมื่อบอกโดนเลิกปุ๊บ จะมีอาการเสียใจอย่างรุนแรงจนร้องไห้หนักมาก  บางคนแทบเหมือนคนบ้า ร้องข้ามวันข้ามคืน  บางคนเสียใจไปหลายเดือน ใครที่เคยมีเพื่อนอยู่สายนี้จะเข้าใจเป็นอย่างดี สายฟูมฟายนี้ หากปล่อยไว้นานจนเกินไปจะเสี่ยงต่อการเกิด Broken​ Heart Syndrome​ หรือภาวะหัวใจสลาย มากกว่าสายอื่น เพราะเป็นสายที่ไม่สามารถยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้เลย

ภาวะหัวใจสลาย มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Stress-induced Cardiomyopathy หรือ Takotsubo Cardiomyopathy หรือ Apical ballooning syndrome คือ ภาวะที่ความสามารถในบีบตัวของหัวใจลดลงอย่างเฉียบพลัน โดยสาเหตุของโรคยังเป็นที่ถกเถียงกัน แต่ทางการแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมน Catecholamine ที่สูงขึ้นเฉียบพลันจากความเศร้าเสียใจหรือความเครียดอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด


อาการของโรคหัวใจสลาย

ที่พบได้บ่อยคือ เจ็บหน้าอกรุนแรงอย่างกะทันหันคล้ายอาการของภาวะหัวใจขาดเลือด นานหลายนาทีหรือเป็นชั่วโมง หน้ามืด ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก อาการของหัวใจสลาย จะไม่สามารถแยกโรคออกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ จนกว่าจะได้รับการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram) ซึ่งในผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนั้น มีประมาณ 1% ที่เป็น Stress-induced Cardiomyopathy  จากการศึกษาพบว่า ประมาณ 90% ของผู้ป่วยเป็นผู้หญิง และ 80% เป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ช่วงอายุที่พบบ่อย 58-77 ปี ใครที่อกหักแล้วรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ควรเศร้าหรือร้องไห้ฟูมฟายนาน เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคซึมเศร้าจนอาจคิดสั้นได้


อกหักสายไม่ (เคย) ว่าง

สายนี้ แม้จะมีอาการเสียใจ แต่มักจะหาใครมาแทนที่ได้ทันที หัวบันไดจึงไม่เคยแห้ง เพราะสายนี้จะมีอาการเหงาหรือฟุ้งซ่านตลอดเวลา บางรายจะไปเที่ยวตามสถานบันเทิง หรือเล่นแอพหาคู่เพื่อหาเพื่อนคุยแก้เหงาหรือมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด จนกว่าจะทำใจได้หรือจนกว่าจะลืมคนๆนั้นไปได้ สายนี้แม้จะไม่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ แต่หลายรายติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เนื่องจากไม่ได้ป้องกันและมีคู่นอนหลายคน จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย


อกหัก สายชิลล์

สายนี้เสียใจหรือร้องไห้ได้ไม่นาน หลายคนใช้วิธีเข้าวัด ฟังธรรม หรือมีเพื่อนคอยเตือนสติจนมองปัญหาอย่างทะลุปรุโปร่งและใช้สติตกผลึกปัญหาจนผ่านไปได้อย่างเข้มแข็ง  บางรายมีประสบการณ์อกหักมาหลายครั้ง สุดท้ายเมื่อตั้งสติและเรียนรู้จากอดีต จะค่อยๆ เห็นตัวเอง ปลอบใจตัวเอง ยอมรับความจริง ไม่โกรธ จนในที่สุดก็สามารถผ่านปัญหานี้ไปได้ เช่นกัน ซึ่งจัดว่าเป็นสายที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพใดๆ


การดูแลตนเองจากอาการ อกหัก

หากอกหักจนมีความเครียดสะสมนานเกินไป นอกจากจะทำให้สุขภาพจิตไม่ดี ระยะยาวส่งผลให้เกิดโรคได้หลายชนิด เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ดังนั้น การลดความเครียดคือทางออกที่ดีที่สุด

  • พยายามวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เราเครียด และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้น

  • ตัดใจ ปล่อยวาง อย่าจมปลักนาน และ ลุกขึ้นมาก้าวต่อไป

  • หมั่นออกกำลังกายบ่อยๆ ลดอาการฟุ้งซ่าน (ควรออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน)

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มกระตุ้นประสาท

  • พบปะเพื่อนฝูงบ้าง เพื่อพูดคุย และระบายปัญหาต่างๆ (หากเพื่อนรับฟัง)

  • จัดการสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ เช่น จัดบ้าน หรือโต๊ะทำงานให้ผ่อนคลาย ปลูกต้นไม้เล็กๆ หรือแจกันดอกไม้สร้างความสดชื่น

  • ดูภาพยนตร์และอ่านหนังสือตลกหรือสนุกสนาน

  • ไม่ปิดกั้นใจกับความรักครั้งใหม่ หากวันใดวันหนึ่งคุณได้เจอคนใหม่ที่อาจจะดีกว่า

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.