5 ผักยอดนิยมของคนไทย กับข้อควรระวังในการกิน
ขึ้นชื่อว่าเป็น “ผัก” แล้ว หลายคนอาจคิดว่า กินผักเยอะๆ ยิ่งดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย การกินผักเยอะๆ ไม่น่าเป็นอันตรายอะไร แต่อันที่จริง ยังมีผักบางกลุ่มที่เป็นที่นิยมในไทย พบได้ในอาหารไทยบ่อยๆ ที่เราอาจจะกินบ่อยๆ ไม่ดี หรือไม่เหมาะกับสุขภาพของทุกคนอย่างที่เราคิดกัน
5 ผักยอดนิยมของคนไทย กับข้อควรระวังในการกิน
- แตงกวา
แตงกวาช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด บำรุงผิว และยังเป็นผักที่ดีต่อสุขภาพของคนที่กำลังลดน้ำหนัก แต่แตงกวาอาจเป็นผักที่พบสารปนเปื้อนยาฆ่าแมลง การรับประทานแตงกวาทั้งเปลือกโดยไม่ล้างให้สะอาด จึงอาจทำให้ร่างกายได้รับสารพิษจากยาฆ่าแมลง และเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
ดังนั้นก่อนรับประทานแตงกวาจึงควรปอกเปลือก และล้างให้สะอาด โดยการแช่ในน้ำผสมเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ ประมาณ 10 นาที แล้วจึงล้างออกด้วยการเปิดน้ำไหลผ่าน เพื่อช่วยลดสารเคมีที่อาจตกค้างอยู่ให้ออกไป
- กะหล่ำปลี
กะหล่ำปลีมีวิตามินซีสูง ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยปรับปรุงการทำงานของลำไส้ และลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง แต่สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ต่อผักในวงศ์ผักกาดและกะหล่ำ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานกะหล่ำปลีเนื่องจากอาจเกิดอาการแพ้ อาเจียน ผื่นขึ้น ใบหน้าและลิ้นบวมได้ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและผู้ที่มีการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานกะหล่ำปลีด้วยเช่นกัน เพราะกะหล่ำปลีอาจส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลง เนื่องจากกะหล่ำปลี โดยเฉพาะกะหล่ำปลีดิบ อาจมีสารยับยั้งที่ไปขัดขวางการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์
นอกจากนี้ เนื่องจากกะหล่ำปลีมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด หากรับประทานในปริมาณมาก โดยเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมากเกินไประหว่างผ่าตัด ที่อาจนำไปสู่อาการชักหมดสติ ดังนั้นจึงควรหยุดรับประทานกะหล่ำปลีอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนการผ่าตัด
- คะน้า
คะน้ามีโพแทสเซียมที่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจ มีวิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ และสารต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็ง และส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร สุขภาพตา กระดูก ผม และผิว
แต่หากรับประทานผักคะน้ามากเกินไปอาจส่งผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย และผู้ที่เป็นโรคไต อาจต้องจำกัดการรับประทานคะน้า เนื่องจากคะน้ามีโพแทสเซียมสูง และหากรับประทานโพแทสเซียมมากเกินไปอาจส่งผลให้ไตทำงานหนัก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ รวมถึงผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น คูมาดิน (Coumadin) วาร์ฟาริน (Warfarin) อาจต้องจำกัดการรับประทานผักคะน้า เนื่องจากคะน้ามีวิตามินเคที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของยาได้
- ขึ้นฉ่าย
ขึ้นฉ่าย อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ที่อาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง มีสารอะพิจีนีน (Apigenin) ซึ่งเป็นสารฟลาโวนอยด์ชนิดหนึ่งที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ อาจช่วยลดไขมันในเลือด และยังอาจช่วยส่งเสริมการสร้างเซลล์ประสาทจากสารประกอบน้ำมันอย่าง 3 เอ็น-บิวทิลฟทาไลด์
แต่ในบางคน การรับประทานขึ้นฉ่ายมากเกินไปอาจทำให้มีอาการท้องอืดหรือแก๊สในกระเพาะอาหารได้ เนื่องจากในขึ้นฉ่ายมีสารแมนนิทอล (Mannitol) ในปริมาณมาก ซึ่งอาจขัดขวางการดูดซึมสารอาหารของลำไส้และทำให้เกิดความผิดปกติในทางเดินอาหาร นอกจากนี้ขึ้นฉ่ายอาจทำให้เกิดอาการแพ้ในบางคน ซึ่งทำให้เกิดอาการลมพิษ บวม หายใจลำบาก เนื่องจากขึ้นฉ่ายมีสารก่อภูมิแพ้ เช่น โพรฟิลิน (Profilin) ฟลาโปรตีน (Flavoprotein) รวมถึงขึ้นฉ่ายยังอาจมีเชื้อราสเคอโรติเนีย สเคอทิออรัม (Sclerotinia Sclerotiorum) ที่อาจก่อให้เกิดโรคผิวหนังในผู้ที่มีผิวบอบบางได้อีกด้วย
- ผักกาด
ผักกาด อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันการอักเสบ และอาจช่วยป้องกันโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้กระดูกแข็งแรง และยังดีต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ เพราะอุดมไปด้วยโฟเลต ซึ่งเป็นวิตามินที่สำคัญต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ ที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและพัฒนาการของทารกในครรภ์ และอาจช่วยป้องกันโรคทางระบบประสาทในทารกแรกเกิดได้
แต่เวลารับประทานผักกาดก็ต้องระวังสารปนเปื้อนหรือสารพิษที่อาจตกค้างอยู่ในผักกาด เช่น ยาฆ่าแมลง ด้วย เพราะหากรับประทานผักที่มีสารปนเปื้อนเป็นเวลานาน อาจทำให้สารปนเปื้อนหรือสารพิษเหล่านั้นสะสมในร่างกายจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ทำให้มีอาการมึนงง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจไม่สะดวก ชัก หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นก่อนรับประทานผักกาดจึงควรล้างผักกาดให้สะอาด โดยการแยกใบผักกาดออกเป็นใบๆ แล้วล้างให้สะอาดด้วยการให้น้ำไหลผ่าน เพื่อชำระคราบดิน สิ่งสกปรก แบคทีเรีย เชื้อก่อโรค เป็นต้น
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.