ทำความรู้จัก"เวชศาสตร์ฟื้นฟู" ศาสตร์แห่งการคืนสมดุลให้ร่างกาย

การจะเข้าไปรู้จักเรื่องนี้ เราต้องพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ นายแพทย์  กันตพงศ์ ทองรงค์’ หรือ หมอเปียง  นายแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป โรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง และมีคลินิคอยู่ที่ห้างเกษร พลาซ่า ที่จะมาอธิบายเรื่องราวของเวชศาสตร์ฟื้นฟู 

ไม่เพียงเท่านั้น หมอเปียง ยังเป็นคุณหมอนักเดินทาง เขาจะมาเล่าเรื่องราวมุมมองกิจกรรมยาวออกไปท่องเที่ยวและนำมาถ่ายทอดผ่านเพจ และ ไอจี ส่วนตัว ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เข้ากันอย่างลงตัว

การรักษาแบบเวชศาสตร์ฟื้นฟู ต่างจากการรักษาทางกายภาพทั่วไปอย่างไร

เริ่มจากเบื้องต้นก่อน เวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นศาสตร์แขนงใหญ่ ที่เราพูดถึงคือคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นหลัก เราจะทำยังไงให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยกลับมาดีขึ้นจากจุดที่ถูกลดลงไปด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม เช่นอาจจะเป็นโรคเรื้อรัง อุบัติเหตุ หรือจากเหตุที่เขาสูญเสียอวัยวะ เราต้องทำให้เขากลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ปกติตามอัตภาพของเขา คือทำยังไงก็ได้ให้เขากลับมาใช้ชีวิตตามปกติอย่างที่ควรจะเป็นครับ

ด้วยคอนเซ็ปต์ตรงนี้มันคลุมตัวโรคที่กว้างมาก ตั้งแต่เด็กไปยันผู้สูงอายุเลยครับ อย่างโรคเกี่ยวกับความเสื่อมใดๆ เกี่ยวกับเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรคเกี่ยวกับอัมพาตครึ่งซีก เราก็จะต้องหาทางทำยังไงให้เขากลับมาเดินได้ หรือใช้ชีวิตประจำวันได้ คือไม่ได้หมายความว่าเขาจะกลับมาใช้ได้ 2 มือ แต่ทำให้เขาใช้มือเดียวและใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติที่สุด

เช่นเดียวกับอาการปวดเรื้อรังมันก็มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ตรงนี้เวชศาสตร์ฟื้นฟูจะเข้ามาช่วยมีส่วนทำให้ชีวิตของผู้ป่วยกลับมาดีขึ้น


ขั้นตอนในการฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วย

มันก็จะมีอยู่ตั้งแต่การที่กระตุ้นทำให้ร่างกายเกิดการฟื้นฟู ให้ร่างกายของเขาได้ใช้ส่วนต่างๆได้เกือบปกติมากที่สุด โดยการกระตุ้นของสมอง เหมือนเป็นการกระตุ้นร่างกายให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ขึ้นมา คือเรียนรู้เพื่อทดแทนส่วนที่เสียไปของสมอง

อีกวิธีเป็นการใช้การทดแทนของเดิม คือเขาอาจจะไม่สามารถใช้ข้างเดิมได้ แต่อีกข้างเขายังมี ชีวิตของเขาไม่ได้จบแค่เหลืออวัยวะเพียงข้างเดียว แต่เขาสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยอวัยวะที่เหลือเพียงข้างเดียวได้เต็มประสิทธิภาพ
 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่พบเป็นอะไรมากที่สุด

ส่วนใหญ่ก็เกี่ยวกับอาการปวดเรื้อรังจากกล้ามเนื้อ ที่เรารู้จักกันก็คือออฟฟิศ ซินโดรม กลุ่มนี้ก็จะมารักษาที่นี่บ่อย ก็คือโรคที่จะเป็นเยอะของคนในช่วงวัยทำงาน ซึ่งโรคพวกนี้จะเกิดจากท่าทางที่ไม่ถูกต้อง หรือการทำกิจกรรมแบบเดิมซ้ำๆ จนเกิดการทำงานของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติไป

แนวทางการฟื้นฟูเราใช้การรักษาที่หลากหลาย มันเริ่มตั้งแต่คำแนะนำเลยว่าในเรื่องการดำรงชีวิต เราควรต้องมีการปรับท่าทางอย่างไร การทำกิจกรรมต่างๆเราต้องปรับแบบไหนให้มันถูกต้องตามหลักกายศาสตร์ให้มากที่สุด 

จากนั้นก็แนะนำการจัดการ การปวดของผู้ป่วยว่าเขาจะต้องทำอย่างไรจัดท่าทางอย่างไรเพื่อฟื้นฟู 

2 คือการออกกำลังกาย ซึ่งช่วยในเรื่องนี้มาก คือการยืดเหยียดตัวนี้สำคัญมากเพราะต้องยืดเหยียดอย่างจริงจังที่ตั้งใจทำ ที่ไม่ใช่แค่นึกออกแล้วทำ แต่ต้องทำอย่างมีระเบียบวินัย

3 คือการใช้ยา การใช้ยายังเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องใข้อยู่ แต่ละคนมีการใช้ยาที่เหมาะสมไม่เหมือนกัน  อาการปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดจากเส้นประสาทมันใช้ยาไม่เหมือนกัน

ทีนี้พอเริ่มใช้ยาแล้ว จากนั้น"เวชศาสตร์ฟื้นฟู"จะเริ่มเข้ามามีบทบาท คือการใช้เครื่องมือที่หลากหลาย ทั้งการรักษาด้วยความร้อน ความเย็นรักษาด้วยกระแสไฟฟ้า รักษาด้วยอุปกรณ์อื่นๆเช่นรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รักษาด้วยการใช้เข็ม การใช้พลังงานแสงเลเซอร์ หรือ ช็อคเวฟ 

ภายใต้เวชศาสตร์ฟื้นฟูมันกว้างมาก มีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องและช่วยฟื้นฟูให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ อย่างคนที่เป็นสโตรค 1 คน นอกจากหมอที่วินิจฉัยแล้ว ก็ต้องมีทีมที่ช่วยดูและผู้ป่วย ทั้งทีมแนะนำ ทีมกายภาพ และทีมกิจกรรมบำบัด ที่ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูมาแล้ว กลับมาเดินได้ กลับมาใช้มือได้ หรือฝึกการใช้ชีวิตได้ด้วยอวัยวะที่เหลือเพียงข้างเดียว

เพราะฉะนั้นในผู้ป่วย 1 คนเราแตกปัญหาออกมาได้หลายแบบมาก และแต่ละปัญหามันอาจจะเหมาะกับแต่ละสาขาวิชาชีพที่แตกต่างกันและนั่นคือเวชศาสตร์ฟื้นฟู

วิถีชีวิตมีผลต่อร่างกายเรา

คือเวชศาสตร์ฟื้นฟูมันมีความเป็นไลฟ์สไตล์ได้เยอะ เรื่องอาการป่วยมันมีแนวทางการรักษาที่หลากหลายมาก อย่างที่เคยเห็นกันไม่ว่าจะ อัลตร้า ซาวน์ ,ช็อค เวฟ (Shock wave) หรือ การปักเข็มแบบตะวันตก

ซึ่งการปักเข็มแบบตะวันตกก็จะเป็นอีกตัวที่ใช้เข็มเข้าไปทำให้อาการปวดของปมกล้ามเนื้อมันลดลง ไอ้ตัวปมกล้ามเนื้อนี่แหละเกิดจากการทำท่าทางผิดปกติ หรือที่เราทำท่าทางซ้ำๆเป็นเวลานาน 

ปมกล้ามเนื้อที่ผิดปกตินี่แหละมันคือตัวการทำให้เกิดการปวด บางทีก็ร้าวไปที่อื่น ซึ่งการจัดการปมกล้ามเนื้อมามีหลายแบบ ตั้งแต่การใช้วิธีช็อกเวฟ คือการใช้แรงสั่นสะเทือนเข้าไปให้ปมกล้ามเนื้อมันดีขึ้น

หรือการใช้เข็มเข้าไปก็ได้ หรืออาจจะใช้ความร้อนลึก (Ultra sound) ก็ช่วยทำให้อาการดังกล่าวดีขึ้นได้ 

จะเห็นว่าที่กล่าวมามันคือเวชศาสตร์ฟื้นฟูทั้งหมด ส่วนการที่เราแนะนำให้ออกกำลังกาย ไม่ใช่แต่ว่าคุณต้องไปออกกำลังกายนะ แต่เราจะกำหนดให้เลยว่าต้องออกกำลังกายหนักแบบไหน ครั้งละกี่นาที กี่เซ็ต กี่ท่า เพราะเราเชื่อว่าการออกกำลังกายคือยาที่ดีอย่างหนึ่ง และบางคนแทบไม่ต้องกินยาเลยก็ได้

เพราะการออกกำลังกายก็คือการปรับไลฟ์สไตล์ของผู้ป่วยนั่นเอง

ของที่นี่จะเน้นที่อาการปวดเป็นหลัก อาการปวดเรื้อรังที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อกระดูกเส้นเอ็น หากจะเข้มาก็แนะนำว่านัดเข้ามาก่อน หลักๆจะมาพบผมได้ในวัน พุธ พฤหัสดี และเสาร์ อย่าง  พุธ พฤหัสดี ตั้งแต่ 16.30 น. - 20.00 น. ส่วนวันเสาร์ 10.00 น.-20.00 น. อนาคตก็อาจจะมีวันเพิ่มครับ  ส่วนวันปกติผมจะประจำอยู่ที่ รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังตามเวลาราชการเลยครับ

คุณหมอนักเดินทาง บอกเล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่าย

คือก่อนหน้านี้ถ้ามีคนที่รู้จักผมจากเพจท่องเที่ยวมาก่อน ก็จะรู้จักผม เพราะผมทำพวกท่องเที่ยว Lifestyle มาก่อนสัก 6-7 ปีแล้ว ชื่อ Pyong Traveller X Doctor เป็น FB เพจ ส่วน IG ก็ PYCAPTAIN ก็เป็นอันที่ใช่เล่าเรื่องที่เราไปเจอมา เป็นการถ่ายภาพประกอบกันจนเป็นคอนเทนท์ ให้แฟนเพจได้ดูว่าเราไปเจออะไรมา ได้ประสบการณ์แบบไหน Mood & Tone มีความเป็นเท่ๆ ขรึมๆ เป็นการเล่าเรื่องจากมุมมองของบุคคลที่หนึ่ง 

เช่นอาจจะมีการถ่ายผ่านกระจกบ้าง ติดมือตัวเองบ้าง หรือเห็นเท้า เสมือนว่าคนดูได้อยู่ที่เดียวกับเราอันนี้ทำมานานแล้ว นี่คืองานอดิเรกเหมือนเราไปท่องเที่ยวแล้วถ่ายภาพมาเล่าเรื่อง

อีกอันคือการออกกำลังกาย อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งงานอดิเรกเหมือนกัน เรื่องการออกกำลังกายมันเน้นที่ความสม่ำเสมอ ทำมาเป็น 10 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียน ม.ปลายอยู่ เรื่องนี้ทำมานานแล้ว

จริงๆแล้วสาเหตุที่เลือกเวชศาสตร์ฟื้นฟูคือมันเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์เยอะ เรามองว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันเข้ากับการ ศาสตร์ฟื้นฟูที่เอามารวมกัน คือแทนที่เราจะพูดถึงการท่องเที่ยวหรือไลฟ์สไตล์อย่างเดียว แต่ในอนาคตเราอาจจะหยิบเวชศาสตร์ฟื้นฟูมาบูรณาการร่วมกันได้ ทำให้มันมีประโยชน์กับคนที่ติดตามเราด้วย 

เวชศาสตร์ฟื้นฟูไม่ใช่เรื่องไกลตัว

เรื่องอาการปวดเรื้อรังไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลย เพราะมันเกิดขึ้นจากไลฟ์สไตล์เราเลย เพราะไม่ว่าคุณจะทำอะไร หรือใช้ชีวิตแบบไหน มันส่งผลต่ออาการปวดในอนาคตได้ แค่คุณลองปรับการใช้ชีวิตให้ถูกต้องก่อน เริ่มจากการที่ทำงานตัวเอง ท่าทางการยืน นั่ง หรือนอน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การพักผ่อนมันเหมาะสมแล้วยัง หรือคุณปรับอะไรได้แค่ไหน คุณได้ยืดเหยียดบ้างไหมอะไรแบบนี้ครับ

แต่สุดท้ายแล้วหากทำอะไรหลายๆอย่างไม่ดี คุณก็มาปรึกษาเวชศาสตร์ทางเลือกได้ครับ นี่เป็นอีกทางเลือกที่อาจจะให้คุณได้เข้าใจเรื่องอาการปวดของคุณมากขึ้น และเวชศาสตร์ฟื้นฟูมีทางเลือกหลายทางในการรักษาครับ


 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.