สัญญาณความเครียดสะสม อาจเสี่ยงทำร้ายตัวเอง

  • ความเครียด (Stress) คือภาวะของอารมณ์ ความรู้สึก ที่ถูกบีบคั้น หรือกดดัน ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีวิธีการปรับตัวให้ผ่านพ้นไปได้

  • ความเครียดที่หาทางระบายออกไม่ได้ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเปลี่ยนเป็นโรคซึมเศร้า (Depressive disorder) หรือโรควิตกกังวล (Anxiety disorders)

  • คนที่ไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งของตนเองและผู้อื่น ควรพบจิตแพทย์เพื่อรับการปรึกษาและรักษาอย่างถูกวิธี

ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันมีการแข่งขันสูง ต่างต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ จนไม่มีเวลาพูดคุยกับครอบครัว รวมถึงเทคโนโลยีอันทันสมัยทำให้เกิดความนิยมสื่อสารกันผ่านเทคโนโลยีมากกว่าคุยกันแบบเห็นหน้าตา ส่งเสริมให้เกิดความเครียดสะสมมากขึ้น โดยไม่มีทางระบายออก จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายได้ในที่สุด

สัญญาณความเครียดสะสม

ความเครียด (Stress)  คือภาวะของอารมณ์ ความรู้สึก ที่ถูกบีบคั้น กดดัน ทำให้มีอาการแสดงที่ต่างกัน เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ ปวดหัว ซึมเศร้า บางคนอาจมีอาการประสาทหลอนได้ ซึ่งโดยทั่วไปแต่ละคนจะมีวิธีการปรับตัวให้ผ่านพ้นไปได้ขึ้นกับทักษะการจัดการความเครียดของแต่ละบุคคล แต่ในบางคนที่เกิดความเครียดและหาทางระบายออกไม่ได้หรือเครียดบ่อยๆ กลายเป็นความทุกข์ทรมาน  จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน  อาจพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้า (Depressive disorder) หรือโรควิตกกังวล (Anxiety disorders)

การสังเกตความเครียดเบื้องต้น

  • นอนไม่หลับ ความเครียดอาจส่งผลให้นอนไม่หลับ และหากนอนไม่หลับเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อสุขภาพกายและใจโดยรวมจน เริ่มมีภาวะซึมเศร้า หรือความเครียดรุนแรง
  • พฤติกรรมเปลี่ยนไป ไม่ร่าเริง นิ่งเงียบ ไม่พูดคุย เบื่อหน่าย และปิดกั้นตัวเอง
  • เศร้าหมอง หรือวิตกกังวล ผู้ที่มีความเครียดมักจะรู้สึกเศร้า ไม่มีความสุข หรือวิตกกังวลกับเรื่องต่างๆ จนแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง หรือคำพูด
  • ความเครียดอาจแสดงออกเป็นอาการทางกาย เช่น หายใจถี่ขึ้น หรือ “กลั้นหายใจ” โดยไม่รู้สึกตัว ปวดท้อง อาเจียน ปวดศีรษะ
  • ในกรณีรุนแรง ผู้ป่วยอาจจะพูดว่าอยากตาย บางครั้งอาจฟังเหมือนเป็นการพูดเล่น ดังนั้นจึงควรใส่ใจผู้พูดให้มากขึ้น ไม่ว่าจะพบการตัดพ้อเช่นนี้ ในโลกโซเชียลหรือพูดขึ้นลอยๆ

การดูแลตนเองเมื่อรู้สึกเครียด

  • พยายามวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เราเครียด และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้น
  • ออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มกระตุ้นประสาท
  • พบปะเพื่อนฝูง เพื่อพูดคุยในเรื่องที่สร้างเสียงหัวเราะ และระบายปัญหาต่างๆ (หากเพื่อนรับฟัง)
  • จัดการสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ เช่น จัดบ้าน หรือโต๊ะทำงานให้ผ่อนคลาย ปลูกต้นไม้เล็กๆ หรือแจกันดอกไม้สร้างความสดชื่น
  • ดูภาพยนตร์และอ่านหนังสือตลกหรือสนุกสนาน 

การรักษาอาการเครียด

หากความเครียดรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงกระทบต่อการทำงาน หรือมีผลต่อผู้อื่น การพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาและรักษาอย่างถูกวิธีเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง โดยจิตแพทย์จะทำการรักษาโดย

  • แพทย์พูดคุยซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อวินิจฉัยทางการแพทย์และหาสาเหตุของความเครียด
  • ในกรณีความเครียดส่งผลทางกาย เช่น นอนไม่หลับ ปวดท้อง หรือปวดศีรษะ จิตแพทย์อาจให้รับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ
  • การให้คำปรึกษาโดยจิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้วยการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจและหาสาเหตุของปัญหา ชี้แนะอย่างถูกวิธีเพื่อคลายความเครียด
  • จิตบำบัด ซึ่งต้องได้รับการบำบัดโดยจิตแพทย์

ความเครียดเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย หลายคนสามารถจัดการความเครียดได้ด้วยตนเอง บางคนมีคนใกล้ชิดให้พูดคุยผ่อนคลาย แต่สำหรับคนที่ไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งของตนเองและผู้อื่น ควรพบจิตแพทย์เพื่อรับการปรึกษาและรักษาอย่างถูกวิธี

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.