ยาพาราเซตามอล เม็ดเดียว หรือ 2 เม็ดดี?
ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ เอะอะก็ยาพาราเซตามอล เพราะเป็นยาที่ใช้ง่าย ไม่อันตราย (หากไม่ทานติดต่อกันเกิน 5 วัน หรือทานในปริมาณที่มากเกินไป) ผลข้างเคียงน้อย และใช้ได้ทั้งเด็กละผู้ใหญ่
แต่ปัญหามันอยู่ที่ปริมาณการทานนี่แหละ ที่เป็นคำถามโลกแตก บางคนก็ให้กินเม็ดเดียว บางคนก็ให้กิน 2 เม็ด เอาเกณฑ์อะไรมาวัดกันนะ Sanook! Health นำข้อมูลจาก สสส. มาฝากให้เคลียร์กันค่ะ
ปริมาณของยาพาราเซตามอลที่เหมาะสมกับแต่ละคน
ปริมาณที่เหมาะสมในการทานยาพาราเซตามอลของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ต้องพิจารณาจากรูปร่าง น้ำหนัก และอายุของผู้ที่ทานด้วย โดยปริมาณของยาพาราเซตามอลแต่ละครั้งคือ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม คำนวณให้เห็นภาพตามง่ายๆ ได้ดังนี้
- ผู้ที่มีน้ำหนัก 34-50 กิโลกรัม ให้ทานยาพาราเซตามอลเพียง 1 เม็ด ไม่เกิน 5-6 ครั้งต่อวัน
- ผู้ที่มีน้ำหนัก 50-75 กิโลกรัม ให้ทานยาพาราเซตามอล 1 เม็ดครึ่ง ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน
- ผู้ที่มีน้ำหนัก 75 กิโลกรัมขึ้นไป ให้ทานยาพาราเซตามอล 2 เม็ด ไม่เกิน 3-4 ครั้งต่อวัน
โดยทุกคนสามารถทานยาพาราเซตามอลได้ทุก 4-6 ชั่วโมง สำหรับคนที่มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม จะทาน 1 เม็ด หรือ 1 เม็ดครึ่งก็ได้ ส่วนคนที่มีน้ำหนัก 75 กิโลกรัม จะทาน 1 เม็ดครึ่ง หรือ 2 เม็ดก็ได้
ทานยาพาราเซตามอลมากเกินไป เป็นอันตรายแม้ว่ายาพาราเซตามอลจะเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย แต่หากทานในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือทานติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป ก็อาจส่งผลต่อการทำงานของตับที่ผิดปกติ เกิดภาวะตับเป็นพิษ จนนำไปสู่ภาวะตับวาย และในกรณีที่มีอาการหนักมากๆ ก็อาจเสียชีวิตได้เช่นกัน
นอกจากนี้ การทานยาพาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ หรือเป็นไข้ สามารถหยุดทานยาได้ทันทีที่ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องทานติดต่อกันไปเรื่อยๆ จนหมด หากใครทานแล้วมีอาการแปลกๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืดท้องบวม หรือมีผื่นคัน ควรหยุดทานทันทีแล้วพบแพทย์โดยด่วนที่สุด
คำแนะนำนี้ ใช้ได้กับยาพาราเซตามอลสูตรทั่วไป (500 มิลลิกรัม) หากเป็นยาพาราเซตามอลสูตรพิเศษ ที่มีความเข้มข้นของตัวยาสูงกว่าเดิม หรือเป็นยาแก้ปวดชนิดอื่นๆ อาจจะต้องปรึกษาเภสัชการก่อนทานยาค่ะ
ปวดแบบไหนใช้ "ยาพาราเซตามอล" ไม่ได้ผล ?
อาการปวดแบบแปลกๆ
กลุ่มอาการปวดที่มีลักษณะแปลกไปจากอาการปวดตื้อๆ ปวดจากเนื้อเยื่อ หรืออาการปวดที่กดแล้วเจ็บ ได้แก่
- อาการปวดเหมือนไฟช็อต
- อาการปวดร่วมกับเสียวแปลบๆ เป็นช่วงๆ
- อาการปวดแสบ ปวดร้อน
- อาการปวดร่วมกับอาการชา
- อาการปวดแสบปวดแสบปวดร้อน
- อาการปวดเหมือนมีเข็มเล็กๆ ทิ่มแทง
ปวดหัวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ส่วนใหญ่อาการปวดหัวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งแบบไม่รู้สาเหตุมักเกิดจากการใช้ยาพาราเซตามอลมากเกินขนาด โดยมากถึง หรือมากกว่า 15 วันต่อเดือน หรือประมาณ 2 - 3 เดือนติดต่อกัน วิธีสังเกตง่ายๆ ว่าอาการปวดหัวจากไมเกรนที่มากถึงเดือนละ 3 - 4 ครั้ง หรือมีอาการปวดหัวจากความเครียดที่มีลักษณะถูกบีบรัดมากถึง 15 วันต่อเดือน ซึ่งอาการปวดหัวในลักษณะแบบนี้ถึงกินยาพาราเซตามอลเข้าไปก็ไม่ช่วยให้หายปวด ทั้งยังจะทำให้อาการปวดทวีความรุนแรงมากขึ้น ฉะนั้น เมื่อมีอาการจึงต้องรีบเดินทางไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดที่แท้จริงและรับยาบรรเทาอาการปวดที่เหมาะสมแทนยาพาราเซมอลจึงน่าจะเห็นผลมากกว่า
ปวดขั้นรุนแรง
อาการปวดขั้นรุนแรงที่เกิดขึ้น อาจหมายถึงอาการปวดที่เกิดจากอวัยวะภายใน ซึ่งทางการแพทย์จะมีมาตรวัดระดับความปวดอยู่ที่ 0 - 10 ระดับ ระดับ 0 หมายถึง ไม่มีอาการปวดเลย ส่วนระดับ 10 หมายถึง มีอาการปวดมากเท่าที่จะจินตนาการได้ ปวดถึงขั้นทุรนทุรายแบบทรงตัวไม่อยู่ ซึ่งหากแพทย์ประเมินแล้วว่าผู้ป่วยมีการป่วยอยู่ในระดับตั้งแต่ 7 ขึ้นไป อาทิ ปวดนิ่วในไต ปวดแผลผ่าตัด อาการปวดที่เกิดจากมะเร็งบางชนิด อาการปวดกล้ามเนื้อหัวใจจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ไปจนถึงการปวดไมเกรนหนักๆ อาการปวดเหล่านี้ไม่สามารถที่จะใช้ยาพาราเซตามอลช่วยบรรเทาได้ จะต้องใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มทรามาดอลและมอร์ฟัน ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ระงับการปวดขั้นรุนแรงได้ แต่ก็เป็นยาที่มีผลข้างเคียงอยู่มาก ต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ หรือเภสัชกรเท่านั้น
ปวดท้องจากโรคกระเพาะและท้องเสีย
อาการปวดท้องก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งอาการปวดที่สร้างความสับสนให้กับผู้ป่วยเลือกใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้ อาทิ ปวดท้องเนื่องจากท้องเสีย ปวดท้องที่เกิดจากลำไส้บีบตัว ปวดท้องจากโรคกระเพาะ ไปจนถึงอาการปวดแน่นหน้าอก หรือปวดบริเวณกระเพาะอาหารเนื่องจากเป็นกรดไหลย้อน โดยอาการปวดในกลุ่มนี้ไม่สามารถใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มอาการปวดที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทและระบบไส้ที่มีความแปรปรวน หรือเกิดจากการที่แก๊สอยู่ในกระเพาะอาหารมาก ซึ่งยาที่จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดประเภทนี้ได้ก็คือยาลดกรด
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.