เร่งเสริมเสน่ห์ EEC ชู Long term VISA หวังดึงเงินทุนแตะปีละ1แสนล้านใน5ปี

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษพร้อมเปิดเผยถึงเป้าหมายหลักของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (อีอีซี) ภายใน 5 ปีว่า กำหนดเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนราว 5 แสนล้านบาท หรือราว 1 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีการลงทุนโดยเฉลี่ยที่ 6 หมื่นล้านต่อปี

ทั้งนี้คาดว่าจากทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 5 คลัสเตอร์หลัก (การแพทย์ ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) BCG บริการ) นั้น กลุ่มอีวีน่าจะเห็นความชัดเจนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ก่อน เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ใส่เม็ดเงินมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกลุ่มดิจิทัลโดยเฉพาะด้าน Data Center และ Semi-Conductor ที่ผู้ประกอบการฝั่งจีนมีแนวโน้มจะย้ายฐานการผลิต จึงจำเป็นต้องช่วงชิงให้เข้ามายังเมืองไทยในช่วงเวลา 1-2 ปีนี้ให้ได้ 

ถ้าดึงเม็ดเงินลงทุนปีละ 1 แสนล้านได้ เมื่อมาลงในพื้นที่แล้วก็จะมีการเคลื่อนย้ายเงิน หมุนเงินอีกหลายรอบในเชิงเศรษฐกิจ จึงจำเป็นในเชิงกลยุทธ์ที่จะกำหนดแผนให้เห็นภาพรวมว่าปลายทางจะได้ 5 แสนล้านใน 5 ปีข้างหน้า

สำหรับความคืบหน้าในส่วนของการดำเนินงานตามแผนระยะ 1 ปี (ต.ค.66 - ก.ย.67) และเป้าหมายเร่งด่วนภายใน 99 วัน ของ EEC เพื่อดึงดูดเงินลงทุนทั่วโลก ที่ได้แยกย่อยออกเป็นนโยบาย 8 ด้านหลัก ล่าสุดในส่วนการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร สิทธิ การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุด นั้น 

เลขาฯ อีอีซี ยังเปิดเผยอีกว่า จะมีการดำเนินโครงการทำกฎหมายเรื่องสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจน เพื่อผู้ประกอบการเห็นว่าหากเข้ามาลงทุนในเมืองไทยจะดีกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอย่างไรบ้าง ซึ่งจะมีการระบุถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการยกเว้นภาษีสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตลอดจนการอนุญาตอยู่อาศัยในระยะยาว (EEC Long term VISA) เป็นกรณีพิเศษ ที่ทาง EEC ยังอำนวยความสะดวกในส่วนออกใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ตลอดจนเอกสารที่จำเป็นสำหรับบางวิชาชีพ เช่น ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์ อีกด้วย

ดึงดูดด้วย EEC Long term VISA

โดยเฉพาะในส่วน EEC Long term VISA สําหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และทํางานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ อาทิ ผู้มีความ เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ผู้ชํานาญการ ตลอดจนคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะ ซึ่งทาง EEC ให้ระยะยาวสูงสุดได้ถึง 10 ปี แต่การออกวีซ่าและใบอนุญาตทำงานจะให้จริงตามสัญญาจ้าง

ทั้งนี้ เลขาฯ อีอีซี มองว่า Long term VISA จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้บริษัทหรือผู้ประกอบการที่มาตั้งฐานการผลิตในไทยสามารถหาบุคลากรที่มีศักยภาพ ทั้งในส่วนผู้บริหารระดับสูง (C-level) และในส่วนผู้เชี่ยวชาญต่าง  ๆ มาทำงานได้ง่ายขึ้น เมื่อผู้ติดตามจะได้รับวีซ่าระยะยาวในการอยู่อาศัยในประเทศไทยไปด้วย จึงเท่ากับเป็นการช่วยผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนให้มีต้นทุนในการทำธุรกิจที่ลดลงจากที่ได้คนมีผีมือดี ๆ มาช่วยทำงาน ซึ่งจะดำเนินการได้อย่างเป็นทางการหลัง 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป 

เรามองว่าครอบครัว (ผู้ติดตาม) มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจในการย้ายถิ่นฐานมาทำงานในเมืองไทย เราไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์เฉพาะตัวเขาแต่ดูแลครอบครัวด้วย ซึ่งทุกวันนี้เราแข่งกับเวียดนามได้แน่ เพราะอยู่เมืองไทยสนุกกว่าแน่นอน 

ในส่วนของสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการยกเว้นภาษี ทางดร.จุฬายืนยันว่าสามารถขยายระยะเวลาได้ยาวนานกว่าในส่วนของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่สูงสุดถึง 15 ปี แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อตกลงและการพิจารณาของคณะเจรจาสิทธิประโยชน์ 5 คณะ (การแพทย์ ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) BCG บริการ) แบบเป็นกรณีไป และต้องพิจารณาจากอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย 

พัฒนาแหล่งระดมทุนอีอีซี

สำหรับนโยบายด้านการสร้างระบบนิเวศสําหรับการลงทุนนั้น ดร.จุฬาเปิดเผยความคืบหน้าอีกว่าภายใน 3 เดือนข้างหน้า จะให้น้ำหนักกับเรื่องพัฒนาแหล่งระดมทุนอีอีซี (EEC Fundraising Venue) เพื่อรองรับการระดมทุนที่ใช้เงินตราต่างประเทศเป็นหลัก โดยเริ่มจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้ผู้ระดมทุนทั้งบริษัทไทยและต่างประเทศ ที่ใช้เงินตราต่างประเทศ มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสให้แก่บริษัทไทยที่ไป จดทะเบียนในต่างประเทศให้มีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น และจะเป็นการเพิ่มเครื่องมือทางการเงินที่แตกต่างให้กับผลู้งทนุในตลาดได้

เช่นกรณีล่าสุดที่ สกพอ.จับมือธนาคารกสิกรไทย ที่จะประสานกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดบริการทางการเงิน การทำธุรกรรมการเงิน และการลงทุนต่าง ๆ ในพื้นที่ EEC ได้อย่างคล่องตัว สะดวกรวดเร็ว และมีต้นทุนที่เหมาะสม

รวมทั้งจะสนับสนุนข้อมูลข่าวสารความก้าวหน้าการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านการเงิน นวัตกรรมและระบบเทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาระบบรองรับการระดมทุนให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขันให้แก่เศรษฐกิจไทย และผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจสีเขียวได้อย่างครบวงจร

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีรองรับบริการทางการเงินที่ครบวงจร เช่น การระดมทุน และการซื้อขายหลักทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัล รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม และมีความสนใจเข้าระดมทุนในรูปแบบโครงการ (Project Finance) ในสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ผ่านการซื้อขายของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและมีความพร้อม สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ระดมเงินทุน เข้าถึงบริการทางการเงิน และทำธุรกรรมการเงินที่สะดวก และมีต้นทุนที่เหมาะสม ตลอดจนกิจกรรมด้านการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง สามารถตอบสนองความต้องการของนักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่อีอีซี ให้มีช่องทางในการระดมทุนที่หลากหลาย และตอบโจทย์ทางธุรกิจมากขึ้น

อย่างน้อยคนที่จะลงทุนใน EEC จะสามารถหาแหล่งเงินหรือแหล่งทุนในประเทศไทยได้ด้วย หรือพูดง่าย ๆ คือไม่จำเป็นต้องกำเงินมาอย่างเดียว แต่มาหาเงินเอาข้างหน้านี้ได้ด้วยหากโปรเจ็คต์ของเขาดีพอ 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.