เงินบาทสัปดาห์นี้36-36.75 บาท/ดอลลาร์ส่วนวันนี้36.10-36.40บาท/ดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองเงินบาทสัปดาห์นี้อยู่ที่ 36-36.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยแนะนำให้ควรรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ผลการประชุม ECB และรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน พร้อมระวังความผันผวนจากภาวะสงคราม ส่วนสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะสงครามยังคงช่วยหนุนให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้น แม้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯจะพุ่งขึ้นแรงกว่า +30bps

ส่วนวันนี้แตะ 36.10-36.40 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.52 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันจันทร์ที่เป็นวันหยุดของตลาดการเงินไทย เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 36.28-36.54 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากระดับ 5.00% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในวันนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้ เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนได้ 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท Krungthai GLOBAL MARKETS มองว่า มีแนวโน้มผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์ ราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบ ทั้งนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจลดลงบ้าง หากบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งจะขึ้นกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบริษัทเทคฯ ใหญ่ของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางเงินหยวนจีน หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลต่อปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯ แม้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนล่าสุดจะออกมาดีกว่าคาดก็ตาม แต่ตลาดกลับยังไม่ได้ตอบรับในเชิงบวก

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น มองว่า แม้ความเสี่ยงสงครามยังไม่ได้ลดลงชัดเจน ทว่าเงินดอลลาร์อาจผันผวนไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินเฟด โดยเงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อ หากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใสและแข็งแกร่งกว่าคาด

โดยแนะนำว่า ในช่วงนี้ตลาดการเงินยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน สถานการณ์สงครามที่ยังคงร้อนแรงอยู่ รวมถึงปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯ ของจีน ทำให้คงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

นอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

สำหรับมุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก ในฝั่งสหรัฐฯ แม้ว่าสถานการณ์สงครามยังมีความไม่แน่นอนและเสี่ยงที่จะบานปลายมากขึ้น ทว่าในสัปดาห์นี้ เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะให้ความสำคัญต่อทิศทางนโยบายการเงินของเฟดมากขึ้น ผ่านการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ที่ล่าสุด นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวกว่า +4.1%q/q, เทียบรายปี (GDPNow โดย Atlanta Fed ประเมิน +5.4%)

อย่างไรก็ดี แม้ว่า ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 อาจขยายตัวได้แข็งแกร่ง ทว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจมีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นในไตรมาส 4 สะท้อนจาก รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (S&P Manufacturing and Services PMIs) เดือนตุลาคม ที่อาจปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่ระดับต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนถึงภาวะหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตและภาคการบริการ

อนึ่ง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดและสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง ก็อาจยิ่งทำให้ ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและแนวโน้มเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงมากขึ้น โดยล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยราว 35% ในต้นปีหน้า ก่อนที่จะเริ่มลดดอกเบี้ยลงในช่วงเดือนมิถุนายนปีหน้า (ลดดอกเบี้ยทั้งหมดราว -75bps)

นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ยังมองว่า ควรจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยในสัปดาห์นี้จะมีการรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ อาทิ Amazon, Alphabet, Meta และ Microsoft ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ 

ฝั่งยุโรป ที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของยูโรโซน อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่า เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ เดือนตุลาคมที่จะต่ำกว่าระดับ 50 จุด อย่างต่อเนื่อง และจากภาพรวมเศรษฐกิจยูโรโซนที่ไม่สดใสนัก

อีกทั้งด้วยแนวโน้มการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อยูโรโซน ทำให้ประเมินว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วที่ระดับ 4.00% (Deposit Facility Rate) ทั้งนี้ ควรจับตาถ้อยแถลงของประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ในอนาคต

ด้านฝั่งเอเชีย ที่ตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนี PMI ของญี่ปุ่น ในเดือนตุลาคม โดยนักวิเคราะห์มองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงได้แรงหนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องในภาคการบริการที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการผลิตอาจยังคงหดตัวอยู่ ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังคงสดใส เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด (Core-Core CPI) ล่าสุด ซึ่งยังคงสูงกว่า 4% อาจเพิ่มโอกาสให้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ ซึ่งต้องจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOJ โดยเฉพาะผู้ว่าฯ BOJ 

ฝั่งไทย ด้วยตลาดมองว่า ยอดการส่งออก (Exports) เดือนกันยายน อาจหดตัวราว -2%y/y ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อน รวมถึงภาพเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัวอยู่ อย่างไรก็ดี ยอดการนำเข้า (Imports) ก็อาจหดตัวราว -5.6%y/y ทำให้โดยรวมดุลการค้าอาจเกินดุลได้ราว 900 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ แม้การส่งออกจะยังคงหดตัวอยู่ ทว่า จากผลสำรวจบรรดานักวิเคราะห์ในการประชุม Monetary Policy Forum โดยธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุด นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การส่งออกอาจเริ่มทรงตัวในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ก่อนจะกลับมาขยายตัวได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.