หมัดต่อหมัดนักวิชาการVSฝั่งรัฐบาลโต้เสียงค้านเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท
ตามที่ก่อนหน้านี้ นายวิรไท สันติประภพ และนางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงชื่อร่วมกับอดีตคณบดี และคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวม 99 คน ส่งแถลงการณ์คัดค้านและเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก “นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท” เพราะได้ไม่คุ้มเสีย โดยได้ยกเหตุผลสำคัญได้แก่
เนื่องด้วยเศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว ซึ่งสำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.8% ในปีนี้ และ 3.5% ในปี 67 จึงไม่จำเป็นที่รัฐต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ
อีกทั้ง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ผ่านมา มีการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญ จึงไม่จำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรเน้นการใช้จ่ายภาครัฐในการสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออกมากกว่า อีกทั้งการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศยังอาจเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นอีก และอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด
ขณะที่ด้านงบประมาณของรัฐที่มีจำกัดย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ โดยเงินมากถึง 560,000 ล้านบาท ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บริหารจัดการน้ำ เป็นต้น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาวแทนการใช้เงินกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นที่ไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป ค่าเสียโอกาสสำคัญคือ การใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน
นอกจากนี้ กลุ่มนักวิชาการยังให้เหตุผลอีกว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ขยายตัว โดยรัฐแจกเงิน 560,000 ล้านบาทเข้าไปในระบบเป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะ ปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (Fiscal multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอน หรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลังสำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของรัฐ
ดังนั้นการที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่า นโยบายนี้จะกระตุ้น เศรษฐกิจ จึงเลื่อนลอย ไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินที่งอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้า สุดท้ายประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น เพราะเงินเฟ้อจากการเพิ่มปริมาณเงิน
จากประเด็นดังกล่าว ได้มีฟากฝั่งรัฐบาล ทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงบรรดาส.ส.พรรคเพื่อไทยออกโรงมาตอบโต้และชี้แจงกันถ้วนหน้า
อาทิกรณีการโพสต์ผ่าน Facebook กิตติรัตน์ ณ ระนอง - Kittiratt Na-Ranong โดยนายกิตติรัตน์ได้ตอบ 2 คำถามเกี่ยวกับนโยบาย แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของรัฐบาล ดังนี้
1. “เงินดิจิทัล” จะสร้างเงินเฟ้อไหม ?
ไม่มีใครสั่งให้ธนาคารกลาง พิมพ์เงินใหม่มาใส่ระบบ แต่ “เงินดิจิทัล” ทุกบาท จะมาจากรายได้ของรัฐบาลเอง
“อุปสงค์ (Demand)” ที่เพิ่มจากโครงการ ย่อมเพิ่มปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่จะไม่เป็นเหตุให้ “ราคาเฟ้อ” เพราะอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่เพียงประมาณ 60% … อุปทาน (Supply) ย่อมเพิ่มได้โดยราคาไม่ขยับ และเมื่อผลิตเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าที่ผลิตถูกลงอีก ถ้าไม่ลดราคา รัฐบาลขอเก็บภาษีจากกำไรที่สูงขึ้น
2. ทำไมไม่ให้เป็น “เงินสด” มีอะไรแอบแฝงรึเปล่า ?
“เงินสด” ใช้ซื้อ “สิ่งดี” ได้ และ ใช้ซื้อ “สิ่งไม่ดี/สิ่งผิด” ก็ได้
เงิน “ดิจิทัล” ที่มีค่าเท่ากัน บาทต่อบาท ใช้ซื้อ “สิ่งไม่ดี/สิ่งผิด” ไม่ได้ ; ใช้ไม่หมดตามกำหนด แสดงว่าไม่จำเป็นนัก ก็ยกเลิกการให้ได้
ทั้งนี้สามารถสรุปประเด็นสำคัญของการคัดค้านและการโต้ตอบ เกี่ยวกับโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นล้านได้ตามนี้
สุดท้ายแล้ว จะมีฝั่งนักวิชาการหรือกูรูเศรษฐศาสตร์ออกมาคัดง้างในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทอีกหรือไม่ เช่นเดียวกับท่าทีของรัฐบาลจากนี้ว่าจะเร่งเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายที่หาเสียงไว้ในเร็ววันแค่ไหนและเป็นอย่างไร ก็ต้องจับตามองกันต่อไป
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.