คำต่อคำ:"พรอนงค์"เลขาธิการ ก.ล.ต.กับภารกิจ"ฟื้นเชื่อมั่น-ขจัดหุ้นโกง"

     หลังจากรอมานานกับการเผยโฉมผู้คุมกฎ "เลขาธิการ ก.ล.ต. คนที่ 8" ผู้มีบทบาทสำคัญที่จะนำพาตลาดทุนฟันฝ่าวิกฤติหุ้นเชื้อร้าย พร้อมกอบกู้ความเชื่อมั่น แรงศรัทธาของนักลงทุนกลับมาอีกครั้ง  

     วันนี้(10 ต.ค.2566) นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวแสดงวิสัยทัศน์​ถึงบทบาทหน้าที่ครั้งนี้ว่า นับตั้งแต่วันแรกของการทำงาน ในวันที่ 18 กันยายน 2566 เพียง 3 สัปดาห์เท่านั้นในการลุยงาน ก.ล.ต.มุ่งมั่นตั้งใจอย่างมาก ซึ่งส่วนตัวอยากให้มั่นใจต่อกระบวนการทำงาน หรือสิ่งที่เราจะดำเนินการที่จะเรียกความเชื่อมั่น หรือให้ความไว้วางใจกับบทบาทของการเป็นเรกูเลเตอร์ของ ก.ล.ต. ที่จะส่งเสริม ทั้งในเรื่องการพัฒนาและการกำกับตลาดทุน รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ 

     สิ่งที่ ก.ล.ต. อยากเห็นก็คือในเรื่องของการใช้ตลาดทุนเป็นเครื่องมือ ทั้ง การเสริมสร้างการแข่งขันของประเทศผ่านการระดมทุน การเป็นเครื่องมือในการออมของภาคประชาชน ก.ล.ต.อยากเห็นตลาดทุนเป็นกลไกหลักกลไกหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย นอกเหนือจากนั้นเชื่อว่าการสร้างความเชื่อมั่นมาจากการทำให้เห็นว่าเราทำอะไรที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือตอบข้อกังขาของสิ่งที่สาธารณชนให้ความสนใจหรือไม่

คีย์เวิร์ดสำคัญ

     การสร้าง "TRUST AND CONFIDENCE" คือ การทำให้คนเชื่อถือ เชื่อมั่นและความไว้วางใจ ก.ล.ต.ได้อย่างไร สิ่งที่ ก.ล.ต.ต้องทำ ก็คือ สร้างความเป็นมืออาชีพ โดยบุคลากร ก.ล.ต. ต้องเป็นมืออาชีพและมีความสามารถ, รักษาองค์กรให้เป็นอิสระและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สร้างสมดุล ทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ อาทิ ระบบเศรษฐกิจและเสถียรภาพของตลาดทุน เป็นต้น 

      นอกจากนี้ การสื่อสาร ความร่วมมือ การรับฟัง ส่วนตัวมองว่าการฟังถือเป็นทักษะที่สำคัญมาก รวมถึงมองว่าเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับคณะกรรมการสร้างเสถียรภาพตลาดทุน

     "อันไหนเป็นจุดแข็งก็อยากให้แข็งแรงยิ่งขึ้น อันไหนพัฒนาต่อได้ก็ทำต่อ ผลักดันจุดอ่อนให้ปิดลงเรื่อยๆ

     ตลาดค่อนข้างใหญ่เราทำคนเดียวไม่ได้ จึงต้องร่วมมือกันเพื่อสร้าง ESG อย่างยั่งยืน การผลักดัน TRUST AND CONFIDENCE เราก็อยากเห็น และเราก็อยากเป็นที่รักจากทุกคน เป็นที่พึ่งเป็นกลไกหลักที่จะแข็งขันได้ ทำให้ตลาดทุนเสริม Well Being เป็นต้น"  

ก.ล.ต.ในอีก 4 ปีข้างหน้า

     งานของ ก.ล.ต. และงานในฐานะ เลขา ก.ล.ต. เป็นการให้บริการต่อสาธารณะ การกำกับ การพัฒนาของเรา เป็น Public Goods คือ ทำให้ระบบเศรษฐกิจมันมีการเดินไปด้วยความมั่นใจในตลาดทุนที่เป็นกลไกหลัก

     ดังนั้นใน 4 ปีข้างหน้า ส่วนตัวเชื่อว่าผลลัพท์ยังเหมือนเดิมในสิ่งที่เราคาดหวัง ก็คือ ตลาดทุนเป็นกลไกหลักในการที่จะทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันในทุกภาคส่วน แต่การจะไปทำแบบนั้นได้ใน 4 ปีนี้ ตนเองอยากจะทำให้บทบาทชัดขึ้นก็จะเป็นเรื่องของการที่จะทำอย่างไรให้ตลาดทุนไทยเป็นช่องทางในการระดมทุน โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการแหล่งเงินทุนซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ต้องอาศัยนวัตกรรม การพัฒนา หาช่องทางที่เหมาะสม 

     ขณะเดียวกันในฝั่งนักลงทุน เราก็ไม่อยากเห็นตลาดทุนที่คนอาจจะมองว่าเป็นตลาดของคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ แต่จริงๆตลาดทุนสามารถเป็นแหล่งออมเงิน ในการลงทุนระยะยาว สามารถตอบโจทย์ของพวกสังคมสูงวัย (Aging Society) ได้ เราจะทำเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจนมากขึ้น ทำบทบาทเหล่านี้ให้เป็นที่รับรู้และเป็นรูปธรรมมากขึ้น 

     "นี่คือความคาดหวังที่กดดันตนเอง แต่ไม่เคลียดเพราะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการที่เราทำดี ถ้าเราตั้งใจดี เราทำและภายใต้การสอบทาน การแนะนำของทุกภาคส่วน ก็จะนำพาเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น อยากให้ติดตาม อาจจะยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ในระยะสั้น แต่อยากให้ดูที่ผลการดำเนินงานของ ก.ล.ต. ความมุ่งมั่นของตัวเบอร์หนึ่ง ก็คือ เลขาฯ และทีมงานที่สอดคล้องกันในการมองภาระกิจร่วมกัน"

อัพเดทกรณี STARK - MORE ?

      กรณีของหุ้น "บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK)" และ "บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE)" ในบริบทของ ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์ฯถือว่าได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ และส่งต่อไปยังหน่วยงานที่อยู่ในกิจกรรมที่ต้องดำเนินการ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งสิ่งที่จะต่อเนื่องหลังจากนี้คงเป็นการสื่อสารไปยังสาธารณะถึงความคืบหน้าต่างๆ หลังจากนี้ได้ประสานกับตลาดหลักทรัพย์และ DSI ในการชี้แจงความคืบหน้าร่วมกัน

     ซึ่งในส่วนของเคส STARK นั้น ทาง ก.ล.ต. มีการกล่าวโทษต่อ DSI ใน 3 เรื่อง คือ 1.การยื่นไฟลิ่งและหนังสือชี้ชวนขายหุ้นกู้เป็นเท็จ 2.การตกแต่งบัญชี และ 3.การทุจริต ขณะที่ความผิดฐานสร้างราคาและการใช้ข้อมูลภายในยังเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและยังไม่มีการกล่าวโทษผู้กระทำความผิด ขณะที่ ผู้ตรวจสอบบัญชีอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งเราให้ส่งข้อมูลชี้แจงตามที่ตั้งข้อสงสัย และ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างตรวจสอบเชิงลึก หากมีหลักฐานเพียงพออาจขยายฐานความผิดอื่นเพิ่ม หรือ ผู้กระทำความผิดเพิ่ม

แก้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ 

     อย่างไรก็ดี ก.ล.ต.อยู่ระหว่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯฉบับที่ 7 ซึ่งจะมีการให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวนได้ จากเดิมที่ต้องส่งข้อมูลให้พนักงานสอบสวน(ตำรวจ)เป็นผู้ดำเนินการ และเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต.ในการกำกับดูแลสำนักงานผู้สอบบัญชี อาทิ การให้ใบอนุญาต หรือ บทลงโทษสำหรับบริษัทที่กระทำความผิด เป็นต้น 

     "วันนี้เป็นการมาแลกเปลี่ยนสิ่งที่เราได้ดำเนินการมา และในบทบาทของตัวเองในสิ่งที่เข้าไปเร่งรัดและสิ่งที่มองว่าจะทำเพิ่มเติมในอนาคต อย่างกรณี หุ้น STARK และ หุ้น MORE ข้อสรุปที่เหมือนกันคือเราไม่ได้นิ่งนอนใจ กิจกรรมต่างๆที่ทำ เราไม่ได้รอว่าสิ่งที่เราทำแล้วเราหยุดและคนอื่นมารับลูกต่อเราไป เช่น DSI แต่เรายังทำงานร่วมกัน และเมื่อมีหลักฐาน มีเบาะแส หรือมีสิ่งใหม่ๆเข้ามา พอเรารับทราบประเด็น เราก็นำไปสู่การพิจารณาเพิ่มเติมว่าเราจะสามารถดำเนินการได้ด้วยมาตรการหรือสิ่งใดได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการขยายฐานความผิด ขยายผู้กระทำผิด การกล่าวโทษเพิ่มเติม สิ่งเหล่านี้ก็อยากให้มั่นใจว่า เราเดินอยู่ อาจจะใช้คำว่า เราทำอยู่ ทำต่อ ให้ความมั่นใจ 

     แต่สิ่งที่เราอาจจะเพิ่มเติมมากขึ้น ก็คือ ในเรื่องของการ Proactive ในการที่จะออกมาชี้แจง ซึ่งในอนาคตจะเห็นว่าการดำเนินการในเรื่องใหญ่ๆแบบนี้ บางทีมันไม่ได้ดำเนินการด้วย ก.ล.ต. อย่างเดียว ที่ตกลงกันจะเห็นการร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็น ตลาดหลักทรัพย์ฯ , ก.ล.ต. , หน่วยงาน DSI ที่จะมาแถลงร่วมกัน เพื่อที่จะเผยแพร่เพื่อให้เกิดความมั่นใจ อาจไม่ถึงต้องวางใจเรา แต่ให้มั่นใจว่าเราดำเนินการอยู่ ถ้ายังมีข้อสงสัยอะไรก็เป็นสิ่งที่เราต้องดำเนินการชี้แจงต่อไป" 

 

กองทุนเยียวยาฯคืบหน้า ?

     ปัจจุบัน ก.ล.ต.อยู่ในขั้นตอนการศึกษา "กองทุนเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับจากบริษัทจดทะเบียน(บจ.)" ทั้ง แนวทาง, ข้อจำกัด, รูปแบบการดำเนินการ ฯลฯ เมื่อได้ข้อสรุปของการศึกษา ก็จะนำมาสู่การที่มาพิจารณาว่าเราจะดำเนินการอย่างไร 

     ทั้งนี้จากการติดตามและเร่งรัดอยู่ในการขมวดผลสรุปของการศึกษา ซึ่งเวลาที่เราจะทำอะไรที่เราไม่เคยดำเนินการก็ต้องมาศึกษาว่ามีแนวทางหรือทางเลือกอะไร และในแต่ละทางเลือกนั้นมีข้อจำกัด หรือความสุ่มเสี่ยงอะไร ต้องไปปรับแก้อะไรบ้าง เราจะเห็นความชัดเจนของข้อสรุป ซึ่ง ก.ล.ต.ต้องได้ข้อสรุปก่อน โดยส่วนตัวก็อยากให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เพราะคนที่เสียหายก็จะเป็นความหวังหนึ่ง ซึ่งจะได้หรือไม่ได้ มองว่าความชัดเจนที่ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ได้ ก็จะช่วยได้ มันต้องรอผลการสรุปตัวนั้นก่อน 

     ถามว่าสิ้นปีนี้จะเห็นความชัดเจนหรือไม่นั้น ในแง่ของ ก.ล.ต. เชื่อว่าข้อสรุปคงเห็น แต่ส่วนตัวอยากเห็นบทสรุปปลายปีนี้ แต่ในแง่ความชัดเจนต่อสาธารณะ ยอมรับว่ามีหลายปัจจัยมากเพราะว่าบางเรื่องเราต้องดูภายใต้กฎหมายที่เรามี ภายใต้แหล่งเงินที่เราทำได้ แต่ให้มั่นใจว่า ก.ล.ต.กำลังดำเนินการ อยู่ในขั้นตอนการศึกษา และรอข้อสรุป 

ที่มาเงินเยียวยา ?

     นี่คือสิ่งที่กำลังรอข้อสรุป และคาดว่าแหล่งเงินน่าจะมาจากหลายทางเลือก หากถามว่าความเป็นไปได้ที่เงินจะมาจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) หรือ บริษัทหลักทรัพย์ หรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่ามีหลายทางเลือก เพราะการศึกษาของเราเชื่อว่าต้องมีข้อสรุปมากกว่า 1 ทาง และในแต่ละทางต้องมีข้อดี-ข้อเสีย 

     ซึ่งตอนนี้ยังตอบรายละเอียดเงินเยียวยาไม่ได้ อาจต้องรอความชัดเจนก่อน

ความคืบหน้า พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล

     ปัจจุบันตัวสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ภายใต้ "พ.ร.ก." ซึ่งภาพที่เรากำลังปรับ เรามองว่าอะไรที่เป็นสาระเดียวกันกับในเรื่องการลงทุนของฝั่งหลักทรัพย์ หุ้น และตราสารหนี้ เราก็จะปรับ พรบ.หลักทรัพย์ให้รวมพวกอินเวสเม้นท์ โทเคน หรือ พวก ยูทีลีตี้โทเคนไม่พร้อมใช้ เพราะเรามองเป็นเรื่องระดมทุนมันก็จะย้ายไปอยู่ในตัว พรบ.หลักทรัพย์ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา ถ้าผ่านกฤษฎีกาก็จะไปในตัวสภาฯในการออกมาเป็นกฎหมายต่อไป 

     แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้มองว่า มันต้องผ่านตัวกฎหมายแล้วถึงจะเป็นสาระอย่างที่เรามุ่งหวัง เพราะเรามองว่าระหว่างทางเราต้องทำอีโคซิสเต็มภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ให้มีความชัดเจนและก็เพิ่มประเด็นที่เรายังมองว่ายังมีความเสี่ยง เป็นการทำภายใต้ความร่วมมือกับภาคเอกชน ทั้ง สมาคม อันไหนลิสต์ได้หรือไม่ได้ , ผู้ประกอบธุรกิจ ทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง จะเป็นการที่ดูระนาบของตัวสากลและระนาบของตัวผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งเราได้ทำงานร่วมกัน 

     ความชัดเจนภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ก็น่าจะเห็นภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เอกชนจะเซอร์ไพรส์ เพราะเราทำงานร่วมกันอยู่แล้ว แต่ในบางเรื่องต้องไปขออนุมัติกับคณะกรรมการในการแก้ไขเป็นต้น 

     ดังนั้นตนเองมอง 2 เรื่องคือ ระยะสั้นปรับอีโคซิสเต็มที่อยู่ใน พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ปลายปีเห็นความขัดเจน ส่วนในระยะยาว เป็นเรื่องการแก้กฎหมายอยู่ภายใต้การชี้แจงต่อกฤษฎีกา  

มองนโยบายเงินดิจิทัล อย่างไร?

     ส่วนตัวได้ติดตามความชัดเจนในนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ล่าสุดทราบในเรื่องของการแต่งตั้งคณะทำงานดิจิทัล และบอกว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้ ทั้งนี้หากเราเห็นความชัดเจนในรูปแบบการดำเนินการ หรืออะไรต่างๆ เราจึงจะสามารถตอบได้ว่ามันมีบริบทของเราเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ ณ ตอนนี้ตอบอะไรไม่ได้เลย 

     ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่ามาตรการทั้งหลายของภาครัฐที่เกี่ยวกับตลาดทุน ทั้งในเรื่องของการขยายเวลาเทรด , การโปรโมทโรดโชว์ เป็นนโยบายที่ได้รับการเผยแพร่ออกมา ทั้งหมดนี้ถ้ามองในแง่ตลาดทุนมันคือการกระตุ้น Growth ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรดโชว์ก็จะมีนักลงทุนที่ต่างชาติเข้ามาได้มากขึ้น เอาของที่เรามีอยู่ไปขายได้รับความสนใจได้มากขึ้น นี่คือการกระตุ้น Growth ขยายฐานนักลงทุน ถ้ามองในแง่การศึกษาการขยายระยะเวลาเทรด ถ้าเรามองเรื่องการซื้อขาย ถ้ามีตลาดที่เปิดได้ครอบคลุมเวลาได้มากขึ้น ก็อาจจะทำให้การซื้อขายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งพวกนี้ก็ทำให้เกิดการ Growth กับพวกโบรกเกอร์ 

     สิ่งที่อยากบอกก็คือในแง่ของตัวตลาดทุน เราอยากตอบรับในเชิงนโยบายที่ไปกระตุ้นในเรื่องของการที่จะเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นี่คือสิ่งที่เราติดตาม แต่จะเป็นรูปแบบไหนยังไม่ทราบ

มั่นใจว่าจะสามารถกำจัด "หุ้นปั่น-โกง" ?

     ณ ตอนนี้มั่นใจ แม้อาจจะยังไม่สามารถแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต.ได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนของการนำเสนอกับทางคณะกรรมการ (บอร์ด)ก.ล.ต. แต่เชื่อว่าสิ่งที่เปิดเผยได้ก็คือเราเน้นในจุดเดียวกัน นั่นก็คือ "TRUST กับ CONFIDENCE" กิจกรรมก็จะตามมา 

     ดังนั้นพวก Action Planต่างๆก็ต้องไปในรูปแบบที่จะทำให้เกิด "TRUST กับ CONFIDENCE" ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นถ้ามองว่าเป้าหมายเราถูกต้อง กิจกรรมเราสอดคล้อง ผลก็ต้องได้อย่างที่เราคาดหวัง นั่นจึงเป็นคำตอบที่ว่า "มั่นใจ"

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.