สำนักงานกสทช.แจงขั้นตอนของบประมาณปี 67 ถูกต้อง

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกเอกสารชี้แจงขั้นตอนการจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ว่า ตามที่ปรากฏข่าวว่า มีผู้ยื่นหนังสือคัดค้านการนำเสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช. ต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) สำนักงาน กสทช. ขอเรียนชี้แจง ดังนี้ 

สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ตามขั้นตอนและกระบวนการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งบัญญัติว่า “ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีตาม (2) ก่อนที่สำนักงาน กสทช. จะเสนอ กสทช. อนุมัติ  ให้สำนักงาน กสทช. เสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็น และให้สำนักงาน กสทข. พิจารณาดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีดังกล่าว 

เว้นแต่งบประมาณรายจ่ายประจำปีในส่วนของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ให้สำนักงาน กสทช. เสนอไปยังคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุง  ในกรณีที่สำนักงาน กสทช. หรือคณะกรรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน แล้วแต่กรณี  ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ให้สำนักงาน กสทช. เสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีดังกล่าวพร้อมความเห็นของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อ กสทช. เพื่อพิจารณาต่อไป 

นอกจากนั้น สำนักงาน กสทช. ยังต้องดำเนินการตามมาตรา 52 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งบัญญัติว่า “ในการดำเนินการตามวรรคสอง ให้สำนักงาน กสทช. เสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อนวันเริ่มปีงบประมาณไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันและให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นให้แล้วเสร็จก่อนวันเริ่มปีงบประมาณไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
 และเมื่อได้รับความเห็นหรือเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้สำนักงาน กสทช. เสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อ กสทช. เพื่อดำเนินการต่อไป”

จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การที่สำนักงาน กสทช. ได้นำเสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ประกอบด้วยรายจ่ายใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. กตป. และสำนักงาน กสทช. ต่อคณะกรรมการดีอี  ก่อนที่จะเสนอ กสทช. อนุมัติ  เป็นการดำเนินกระบวนการนำเสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแล้ว มิใช่ต้องนำเสนอ กสทช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งให้คณะกรรมการดีอีพิจารณาให้ความเห็นดังที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด

ทั้งนี้  สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินกระบวนการและขั้นตอนตามปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง  โดยในขั้นตอนการพิจารณาจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 สำนักงาน กสทช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณางบประมาณของ สำนักงาน กสทช. ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีประสบการณ์ด้านงบประมาณ และส่วนใหญ่เคยเป็นบุคลากรในสังกัดสำนักงบประมาณ เพื่อร่วมกันพิจารณากลั่นกรองและจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีดังกล่าว ก่อนนำเสนอคณะกรรมการดีอีพิจารณาให้ความเห็น

และเมื่อคณะกรรมการดีอีพิจารณาให้ความเห็นเรียบร้อยแล้ว สำนักงาน กสทช. จะได้นำเสนอ กสทช. พิจารณาดำเนินการตามนัยมาตรา 57 วรรคสอง และวรรคห้า ต่อไป  โดยในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติของ กสทช.  หากเห็นเป็นการสมควรอาจมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณ เพื่อช่วยกลั่นกรองก่อน กสทช. พิจารณาอนุมัติก็ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2566 ที่ประชุมวุฒิสภา มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง และศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย สลับกันทำหน้าที่ประธานในการประชุม ในวาระที่ 6.3 การรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ประจำปี 2565 และรายงานการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ประจำปี 2565

โดยหนึ่งในข้อกังวลที่ สว.หลายรายกล่าวอภิปราย คือ การที่คณะกรรมการ กสทช. มีข้อขัดแย้ง มีการฟ้องร้องกันไปมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานและกระทบประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะ สว.วันชัย สอนศิริ ที่ต้องการให้ กรรมการ กสทช. เสียงข้างมากชี้แจงด้วย นอกเหนือจากที่ ประธาน กสทช. ได้ชี้แจงไปแล้ว

พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า รับทราบและเข้าใจถึงความห่วงใยของ สว. ต่อปัญหาของ กสทช. ส่วนตัวตนเองไม่มีปัญหาใด ๆ กับท่านประธาน และกรรมการท่านอื่น ๆ แต่อย่างใด แต่อาจจะมีปัญหาในเรื่องแนวทางการปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่แตกต่างกันในฐานะที่ผมได้มีส่วนร่วมเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของกรรมาธิการแก้ไข พ.ร.บ.กสทช.ครั้งที่ 2 และ 3 ในปี 60 และ 62 และปฏิบัติงานที่นี้มาตั้งแต่ตั้ง กสทช. เช่น เรื่องการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. และการจัดสรรงบประมาณ ที่ต้องเป็นการพิจารณาร่วมกันของ กสทช. มิใช่ประธาน กสทช.คนเดียว หรือการที่ กรรมการ กสทช.ทุกคนต้องยอมรับในมติ กสทช. มิเช่นนั้นจะเป็นการทำลายหลักการในการทำงานองค์กรในลักษณะกลุ่ม เช่น กสทช. 

"ด้วยความเคารพต่อทุกท่าน แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะให้ผมไปยอมรับในสิ่งที่ผมมองว่าอาจจะไม่ถูกต้อง ที่เป็นการตีความในลักษณะนั้น เรามีความพยายามที่จะปรองดองพูดคุยกัน สรุปสุดท้าย คือ ในแง่การตีความกฎหมาย ผมอาจจะผิดก็ได้ แต่มองแล้วว่าประเทศไทยก็มีองค์กรกลางที่จะเป็นทางออกที่จะตัดสินปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นที่มาของการพึ่งศาลปกครองในการตัดสิน อันนี้เป็นที่มาจริง ๆ แต่ส่วนตัวก็ไม่มีปัญหาหรือข้อขัดแย้งใด และผมก็น้อมรับว่าแม้จะมีปัญหาบ้าง แต่ในภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบก็ยังทำงานตามหน้าที่เต็มความสามารถเท่าที่จะทำได้"  พลอากาศโท ธนพันธุ์ฯ กล่าว

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.