EA เฮ! ศาลปกครอง สั่งทุเลาคำสั่ง กกพ. คดีประมูลซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ศาลปกครองเพชรบุรีได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของผู้ฟ้องคดีคือ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย EA ต่อคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ ศาลปกครองเพชรบุรีได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับประกาศสำนักงาน กกพ. เรื่อง รายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี พ.ศ.2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ลงวันที่ 10 มีนาคม 2566 ที่ออกตามมติของ กกพ.ในการประชุมครั้งที่ 13/2566 (ครั้งที่ 841) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 และไม่มีรายชื่อของบริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผ่านการพิจารณาและได้อุทธรณ์ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
สาเหตุที่ศาลมีคำสั่งให้ทุเลา เนื่องจากการดำเนินการตามประกาศ ของ กกพ. เรื่องประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed–in Tariff (FiT) ปี พ.ศ. 2565-2573 สำหรับพลังงานลม พ.ศ.2565 (“ประกาศเชิญชวน”) ในเบื้องต้นน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย
อีกทั้ง การคัดเลือกผู้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ดำเนินการตามประกาศดังกล่าว ซึ่งน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นผลให้ผู้ฟ้องคดีตกเป็นผู้ไม่ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) ตามประกาศ กกพ.
นอกจากนี้ การคัดเลือกดังกล่าวไม่ได้มีการประกาศเกณฑ์การให้คะแนน และเกณฑ์ให้คะแนนเทคนิคขั้นต่ำผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) หรือเกณฑ์คะแนนคุณภาพ การให้น้ำหนักคะแนนมาก-น้อย ที่ใช้ในการคัดเลือก จึงอาจทำให้กระบวนการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าไม่มีความโปร่งใส และยุติธรรม จะเป็นเหตุให้ประเทศชาติเสียประโยชน์จากการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวได้ และจะผูกพันไปตลอดอายุสัญญาขายไฟฟ้า โดยไม่อาจจะแก้ไขอย่างใดได้อีกตลอดระยะเวลา 25 ปี อันเป็นความเสียหายที่มิอาจเยียวยาแก้ไขได้ในภายหลัง
“จากคำสั่งศาลปกครองในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า กกพ. ควรกลับมาทบทวนหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เสนอขายไฟฟ้า ที่มีวิธีการ และเงื่อนไขการให้คะแนนที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นผู้ที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการลักษณะดังกล่าวในอนาคต”
นอกจากนี้ การลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ.2566 ยังไม่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น อีกทั้งปริมาณพลังงานไฟฟ้าสำรองของประเทศในปัจจุบันมีมากกว่าร้อยละ 30 จึงไม่เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงอันเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าสำรองซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
ทั้งนี้ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาโครงการดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กพช. กกพ. การไฟฟ้า (กฟผ. กฟน. กฟภ.) และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะดำเนินการต่ออย่างไร เนื่องจากเกิดความไม่ชัดเจนทางกฎหมายในส่วนของวิธีปฎิบัติ และหากปฏิบัติตามประกาศเชิญชวน ต่อไปแล้วอาจจะมีปัญหาทางด้านความถูกต้องทางกฎหมาย
สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565–2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง “รอบขยาย การรับซื้อส่วนที่ 1” ยังใช้กฎเกณฑ์เดิมในการคัดเลือก ที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย และมติ กพช. ยังกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยมีเงื่อนไขว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมต้องไม่เป็นผู้ร้องเรียน ผู้อุทธรณ์ ผู้ฟ้องร้อง ให้หน่วยงานภาครัฐ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดาเนินการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนรวมถึง กพช. กกพ. และกระทรวงพลังงาน ต้องรับผิดในทางวินัย ทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว” ซึ่งมติดังกล่าว ถือเป็นการจำกัดสิทธิของบริษัทเอกชนที่ใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.