CBAM เริ่ม 1 ตุลาคม 2566...ผู้ส่งออกไทยต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ?

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า กลไกการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เป็นมาตรการของสหภาพยุโรป ในระยะแรก เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568 จะเป็นระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นเพียงช่วงทดลองเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ปรับตัว รวมถึง EU ด้วยสำหรับใช้ช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปปรับปรุงมาตรการต่อไป โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือผู้นำเข้าสินค้าที่ต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่ม

 

ในระยะแรก มีจำนวน 6 กลุ่ม ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า ปุ๋ย อลูมิเนียม และเคมีภัณฑ์ (ไฮโดรเจน) โดยที่ยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอน หรือ หรือ CBAM Certificates

 

ดังนั้น ภายใต้มาตรการ CBAM ผู้ประกอบการและผู้นำเข้าสินค้าจากนอกอาณาเขต EU จะต้องปฏิบัติตามระเบียบของการนำเข้าสินค้า ซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) โดยมีขั้นตอนดังนี้

 

1. ก่อนการนำเข้าสินค้าข้ามพรมแดน EU ผู้ประกอบการโรงงานที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศนอกอาณาเขต EU จะต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมาธิการ EU เพื่อขอลงทะเบียนในระบบ CBAM (CBAM Registry) จากนั้นคณะกรรมาธิการจะนำข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบการและโรงงานไปใส่ในระบบลงทะเบียนและแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบ โดยบัญชีของผู้ประกอบการจะมีอายุการใช้งาน 5 ปี นับจากวันที่ได้รับแจ้ง โดยข้อมูลที่ใช้ประกอบการลงทะเบียน ได้แก่

1.1 ชื่อ ที่อยู่และช่องทางการติดต่อ ของผู้ประกอบการ

1.2 ที่ตั้งของโรงงาน (ในรูปแบบละติจูดและลองจิจูด เลขทศนิยม 6 หลัก)

1.3 กิจกรรมทางเศรษฐกิจในโรงงาน

 

2. เมื่อได้รับบัญชีในระบบลงทะเบียน CBAM แล้ว ผู้ประกอบการจะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตนำเข้าสินค้า หรือแต่งตั้งบุคคลที่จะเป็นผู้นำเข้าสินค้าในเขตศุลกากรของ EU ต่อผู้มีอำนาจตรวจสอบในประเทศที่ประสงค์จะนำเข้าสินค้านั้น ๆ ผ่านทางระบบลงทะเบียน ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ในกรณีที่ไม่สามารถหาคนมาทำหน้าที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าได้ ผู้ประกอบการอาจแต่งตั้งตัวแทนออกของที่ได้ลงทะเบียนกับกรมศุลกากรเพื่อทำหน้าที่แทนผู้นำเข้าสินค้า หรือที่เรียกว่า Indirect Customs Representative

 

3. เมื่อข้อมูลข้างต้นได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมาธิการ EU และผู้มีอำนาจตรวจสอบของประเทศที่นำเข้าสินค้าและประเทศอื่น ๆ แล้ว ผู้นำเข้าสินค้าจะได้รับสถานะเป็นผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาต หรือที่เรียกว่า Authorized CBAM Declarant (สำหรับในระยะเปลี่ยนผ่าน เรียกว่า Reporting Declarant) และได้รับเลขที่บัญชี CBAM ซึ่งทำให้สามารถเข้าถึงระบบลงทะเบียนได้

 

 

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะที่มีการส่งออกใน 6 กลุ่มสินค้าเป้าหมายไปยังสหภาพยุโรป ต้องทำความเข้าใจ เตรียมความพร้อม และดำเนินการ ดังนี้


• ผู้ประกอบการไทยซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าให้จากประเทศอื่น ๆ นอกอาณาเขตสหภาพยุโรป (Third Country Operator) ต้องประสานกับผู้นำเข้าสินค้าซึ่งขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องเป็น CBAM Declarant ในระบบ CBAM Registry เพื่อรายงานข้อมูลต่าง ๆ ตามที่มาตรการ CBAM กำหนด


• ผู้นำเข้าสินค้าที่ได้รับอนุญาตจะต้องส่งมอบรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่นำเข้าระหว่างไตรมาสนั้น ๆ หรือ CBAM report แก่ผู้มีอำนาจตรวจสอบผ่านระบบลงทะเบียน CBAM ภายในเวลาไม่เกินหนึ่งเดือนหลังสิ้นสุดไตรมาสที่มีการนำเข้าสินค้า ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมจัดทำข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า หรือที่เรียกว่า Embedded Emissions (โดยในระยะเปลี่ยนผ่านยังไม่จำเป็นต้องมีผู้ทวนสอบมาทำการทวนสอบ Embedded Emissions) และปริมาณของสินค้านำเข้าแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม โดยระบุแยกตามโรงงานที่ผลิตสินค้านั้น ๆ ในประเทศต้นกำเนิดของสินค้านำเข้า เพื่อนำส่งให้ผู้นำเข้าสินค้านำไปส่งมอบรายงานข้อมูลดังกล่าว หรือเรียกว่า CBAM Report แก่ผู้มีอำนาจตรวจสอบผ่านระบบ CBAM Registry ต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยและผู้นำเข้าสินค้าต้องมีการสื่อสารและประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดแนวทางและแผนการทำงานร่วมกันในการรายงานข้อมูลเพื่อการติดตามตรวจสอบในระยะเปลี่ยนผ่านของมาตรการดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง หากคณะกรรมาธิการ EU ตรวจพบว่า CBAM Report ในแต่ละไตรมาสไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้อง คณะกรรมาธิการอาจแจ้งผ่านทางผู้มีอำนาจตรวจสอบ เพื่อให้ผู้นำเข้าสินค้าที่ได้รับอนุญาตดำเนินการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง หากผู้นำเข้าสินค้าไม่ดำเนินการแก้ไขหรือยื่นหลักฐาน CBAM Report ตามหลักการที่ระบุไว้ ผู้มีอำนาจตรวจสอบมีอำนาจเรียกเก็บค่าปรับกับผู้นำเข้าสินค้าได้ตามความเหมาะสม

 

จากการประเมินเบื้องต้น พบว่า สินค้าส่งออกของไทยจากฐานข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องมีการคำนวณ Embedded Emission (มีหน่วยเป็น tonCO2eq/ton ผลิตภัณฑ์) และรายงานข้อมูลตามที่กำหนดในภาคผนวกของมาตรการ CBAM ตามพิกัด CN Code (ใน Annex I) มีประมาณ 30 รายการจากสินค้าทั้งหมด 42 รายการ หรือประมาณ 145 รายการ ตามพิกัด HS Code ที่พิกัด 8 หลัก ใน 6 กลุ่มสินค้า โดย Embedded Emission สำหรับ Simple Goods จะมาจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า ทั้งทางตรงกับทางอ้อมจากกระบวนการผลิตของสินค้า หากเป็น Complex Goods จะมาจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า ทั้งทางตรงกับทางอ้อมจากกระบวนการผลิตของสินค้า และสารตั้งต้นที่เกี่ยวข้อง (Relevant precursors) ด้วย โดยพิจารณาก๊าซเรือนกระจก 3 ชนิด ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), ไนตรัสออกไซด์ (N2O) และ เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ทั้งนี้ แต่ละผลิตภัณฑ์จะมีชนิดของก๊าซเรือนกระจกที่ต้องพิจารณาไม่เหมือนกัน เช่น

  • กลุ่มซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า เหล็กละเหล็กกล้า และไฮโดรเจน คิดเฉพาะก๊าซ CO2
  • กลุ่มปุ๋ย คิดเฉพาะก๊าซ CO2 และ N2O
  • กลุ่มอลูมิเนียม คิดเฉพาะก๊าซ CO2 และ PFCs

 

สุดท้ายนี้ ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ โดยสามารถเริ่มจากการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสินค้าของตน การวางแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า สร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถปรับตัวให้ทันกับกฎระเบียบต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

 

สหภาพยุโรป (EU) เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ซึ่งในปี 2562 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ออกแผนการปฏิรูปสีเขียว โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ลง 50-55% ภายในปี 2573 และในปี 2593 ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพื่อทำให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 5-2.0 องศาเซลเซียส ตามที่ตกลงกันไว้ในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมาตรการ CBAM เป็น 1 ใน มาตรการสำคัญของ European Green Deal ที่สหภาพยุโรปจะนำมาปรับใช้

 

  • CBAM คือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU ในสินค้า 5 กลุ่มแรก ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอลูมิเนียม

 

  • การปรับใช้มาตรการ CBAM กับสินค้าเข้าเกณฑ์การพิจารณาค่าคาร์บอนในระยะแรก อาจกระทบสินค้าส่งออกของไทยไป EU มูลค่าสูงถึง 28,573 ล้านบาท และในอนาคตอาจมีการปรับเพิ่มสินค้าที่จะถูกนำมาพิจารณาตามเกณฑ์ CBAM อีก ได้แก่ refinery products/ organic chemicals/ hydrogen/ ammonia และ plastic polymers

 

  • มาตรการ CBAM เสมือนเป็นแรงกดดันทางอ้อมให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศกำลังพัฒนาหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและลดการปล่อยคาร์บอนลง หรือหันมาลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถแข่งขันและเข้าสู่ตลาด EU ได้

 

 

ที่มาข้อมูล :

TGO | องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน)


1. Ref. Ares(2023)4079551 - 13/06/202 COMMISSION IMPLEMENTING REGULATION (EU)
2. Ref. Ares(2023)4079551 - 13/06/2023 ANNEXES, Commission Implementing Regulation (EU)

https://www.set.or.th/th/about/setsource/insights/article/55-cbam

 

 

 

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.