หุ้นไทยผันผวนส่วนเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 9 เดือน
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 9 เดือนที่ 35.84 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามค่าเงินเยนที่มีแรงหนุนจากคำกล่าวของผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ระบุว่า BOJ อาจสามารถยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบหากบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดีเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต่อมาตามสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย นำโดย เงินหยวนท่ามกลางความกังวลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจีนในภาพรวม แม้ว่าทางการจีนจะพยายามส่งสัญญาณว่า ไม่ต้องการให้เงินหยวนอ่อนค่าเร็วผ่านการทยอยกำหนดอัตราอ้างอิงเงินหยวนรายวันในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม
นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนบางส่วนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ตลาดประเมินว่า แม้เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 5.25-5.50% ในการประชุม FOMC วันที่ 19-20 ก.ย. นี้ แต่ก็ยังไม่ตัดโอกาสที่อาจจะเห็นเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมรอบถัดๆ ไปในปีนี้
ในวันศุกร์ที่ 15 ก.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.78 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับ 35.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 ก.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 11-15 ก.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,572 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 6,919 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 2,079 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 4,840 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (18-22 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.30-36.10 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมและ Dot Plot ของเฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติและค่าเงินหยวน
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนก.ย. ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางอังกฤษ การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ และยูโรโซน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนตลอดสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาลงช่วงต้น-กลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงานจากความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงสั้นๆ ในระหว่างสัปดาห์ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ และความหวังว่าเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ แต่แรงหนุนหุ้นไทยก็ยังคงจำกัด ซึ่งทำให้ดัชนีฯ ย่อตัวลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ในระหว่างที่รอปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน
ในวันศุกร์ที่ 15 ก.ย. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,542.03 จุด ลดลง 0.33% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 43,912.05 ล้านบาท ลดลง 0.76% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.12% มาปิดที่ระดับ 475.30 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (18-22 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,530 และ 1,510 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,555 และ 1,565 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (19-20 ก.ย.) และทิศทางเงินทุนต่างชาติ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสองเดือนส.ค. ดัชนี PMI เดือนก.ย. (เบื้องต้น) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOE และ BOJ อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. และดัชนี PMI เดือนก.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนก.ย. ของจีน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.