KTB-KBANK-SCB บวกเด่น! ลุ้นมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน 1.3 ล้านล้าน

     เรื่องของ "หนี้ครัวเรือน" ที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง หากไม่รีบแก้ไขหรือตัดทิ้งอาจก่อให้เกิดเนื้อร้ายจนลุกลามบานปลายในที่สุด นี่คือสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามเร่งแก้ เพื่อให้ "ลูกหนี้อยู่ได้ เจ้าหนี้อยู่รอด"

     กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสถาบันการเงิน ร่วมตกผลึกความคิดเร่งออก "มาตรการแก้หนี้" ในส่วนของหนี้บ้าน, รถ และเอสเอ็มอี ในหลายรูปแบบ ทั้ง มาตรการหนี้เสียสินเชื่อบ้าน ช่วง 3 ปีที่เข้าโครงการสามารถชำระค่างวดแบบเต็มจำนวนเดิม หรือ ผ่อนครึ่งหนึ่ง โดยเงินที่ชำระจะตัดเงินต้น 100%

     ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่พักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี ทางกลุ่มสถาบันการเงินจะได้รับชดเชยด้วยการลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) จากธนาคารพาณิชย์ ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อปีจาก 0.46% ต่อปี เพื่อนำเงินนี้มาช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนทำให้ผู้ที่ชำระหนี้สามารถจ่ายชำระเงินต้น 

    กลุ่มลูกหนี้ที่เข้าข่าย จำนวน 2.3 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 1.31 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้

กลุ่มหนี้บ้าน ลูกหนี้ที่เข้าข่าย 4.6 แสนบัญชี มูลหนี้รวม 4.8 แสนล้านบาท
     กลุ่มหนี้รถยนต์ ลูกหนี้เข้าข่าย 1.4 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 3.7 แสนล้านบาท 
     กลุ่มหนี้เอสเอ็มอี ลูกหนี้เข้าข่าย 4.3 แสนบัญชี มูลหนี้รวม 4.54 แสนล้านบาท

     ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส คาดการแถลงออกมาตรการแก้หนี้ 11 ธ.ค.นี้หนุนแรงซื้อเก็งกำไรกลุ่มธนาคาร ซึ่งมาตรการนี้จะครอบคลุมหนี้บ้าน, รถยนต์, และเอสเอ็มอีจะช่วยลดภาระหนี้และเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้รวมถึงการพักชำระดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี และการลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) ลงครึ่งหนึ่งการลดอัตราเงินนำส่งนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคารพาณิชย์และส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อใหม่ส่งผลเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร KTB , KBANK , TTB , TISCO , KKP 

     โดย KTB จุดเด่นในงวดนี้อยู่ที่งบดุลทำได้ดีกว่ากลุ่มฯจากระดับ NPL ลดลง และ COVERAGE RATIO ขยับมาที่ 179% เทียบกับ 176% ณ สิ้นงวดก่อน ด้านทิศทางกำไรสุทธิในไตรมาส 4/67 อ่อนตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าเพราะ OPEX ตามฤดูกาล แต่โตเด่นหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากฐานกำไร 6.1 พันล้านบาทงวดไตรมาส 4/66 ประเมินราคาเหมาะสม อยู่ที่ 23.40 บาท

     ขณะที่ KKP สัญญาณทาเทคนิคเน้นตั้งรับบริเวณ 50.75 - 51 บาท เป้าทำกำไร 53.50 บาท Cut Loss 50.25 บาท

     ฝ่ายวิเคราะห์ บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) มีมุมมองเป็นบวกเล็กน้อยต่อประเด็นดังกล่าว โดยมาตรการแก้หนี้รอบใหญ่ที่คาดว่าจะมีข้อสรุปวันที่ 11 ธ.ค.2567นี้เป็นการแก้หนี้โดยที่ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบให้กับผลดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร ในมุมของลูกหนี้จะได้รับแรงจูงใจให้กับมาชำระหนี้มากขึ้น โดยการลดค่าเงินต้นลง 50% และจะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยหากมีการชำระเงินตามกำหนด 

     ส่วนในมุมของธนาคารมาตรการดังกล่าวจะจำกัดที่หนี้เสียที่อายุไม่เกิน 1 ปี ทำให้กรอบการช่วยเหลือค่อนข้างจำกัด อีกทั้งลูกหนี้ดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นลูกหนี้ Stage 2 หรือ Stage 3 ทำให้เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่มีการตั้งสำรองไว้แล้ว หากลูกหนี้กลับมาชำระเงินจะช่วยให้ปริมาณหนี้เสียและการตั้งสำรองของกลุ่มลดลง อย่างไรก็ดีคาดรายได้ดอกเบี้ยรับจะปรับลงจากการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการดังกล่าว แต่จะถูกชดเชยด้วยการขอลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF

     ฝ่ายวิเคราะห์คงน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคาร “เท่ากับตลาด” แม้จะมีผลกระทบจากรายได้ดอกเบี้ยที่ต่ำลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย และการให้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ แต่คาดกำไรรวมของกลุ่มยังมีปัจจัยหนุนจากการตั้งสำรองที่จะทยอยลดลง ส่วนหุ้น Top Pick แนะนำ SCB ราคาเป้าหมาย 130 บาท และ KBANK ราคาเป้าหมาย 175 บาท

 

     KBANK ฟื้นจากฐานต่ำ

     ฝ่ายวิเคราะห์ บล.กรุงศรี ระบุว่า สัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดหวังความต่อเนื่องจากการออกทยอยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐฯเพิ่มเติมช่วงสัปดาห์นี้ โดยมีมาตรการสำคัญสุดที่คาดบวกโดยตรงต่อกลุ่มธนาคารการแก้หนี้ครัวเรือน 1.3 ล้านล้านบาท ครอบคลุมสินเชื่อบ้าน รถยนต์ และ SMEs ซึ่ง KBANK มียอดสินเชื่อดังกล่าว 50% ของสินเชื่อรวม 

     โดยฝ่ายวิเคราะห์มองกำไรสุทธิงวดไตรมาส 4/2567 หุ้น KBANK มีโอกาสอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าตามผลกระทบฤดูกาล ซึ่งช่วงปลายปีกลุ่มธนาคารมักมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม KBANK ยังน่าจะเห็นการฟื้นตัวจากปีก่อนสูงจากฐานต่ำ แต่โดยรวมปี 2567 มองกำไรเติบโต 16.7% และเพิ่มขึ้นอีก 10% ในปี 2568 ซื้อขาย PBV25F ที่ 0.6-0.7 เท่า ให้ราคาเป้าหมาย 180 บาท มองแนวรับ 154 / 152.5 บาท แนวต้าน 156.5 / 159 บาท Stop Loss หากต่ำกว่า 151 บาท

 

     ราคาหุ้น KTB ซื้อขายวันนี้(9 ธันวาคม 2567) ล่าสุด เวลา 14.41 น. อยู่ที่ 21.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.70 บาท คิดเป็น +3.38% มูลค่าการซื้อขาย 1,349.98 ล้านบาท

     หุ้น KBANK อยู่ที่ 157 บาท เพิ่มขึ้น 1 บาท คิดเป็น +0.64% มูลค่าการซื้อขาย 1,623.56 ล้านบาท

     หุ้น SCB อยู่ที่ 118.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท คิดเป็น +0.42% มูลค่าการซื้อขาย 618.12 ล้านบาท

     หุ้น TISCO อยู่ที่ 97 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท คิดเป็น +0.26% มูลค่าการซื้อขาย 180.24 ล้านบาท

     หุ้น TTB อยู่ที่ 1.83 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง

     หุ้น BBL อยู่ที่ 152 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง

     หุ้น KKP อยู่ที่ 51.50 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.