"เงินเฟ้อ" ไทยเดือนพ.ย.67 ขยับขึ้น 0.95% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเดือนพฤศจิกายน 2567 เท่ากับ 108.47 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.45 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.95% เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล เป็นผลจากฐานราคาต่ำในปีก่อน และราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก


เมื่อเทียบ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนตุลาคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้น 0.83% ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 23 จาก 132 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม สปป.ลาว

ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.80% เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนตุลาคม 2567 ที่สูงขึ้น 0.77% อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.2 – 0.8% โดยมีค่ากลาง 0.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน 

สำหรับเงินเฟ้อ เดือนธ.ค.คาดว่าจะสูงขึ้น 1.2-1.3% สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นส่วนหนึ่งจากผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้น และมีผลต่อราคาน้ำมันในภาคใต้มากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น และราคาผักสด แต่ภาคใต้ราคาปรับลดลงมากกว่าภาคอื่น

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2568 คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 0.3 – 1.3 ค่ากลาง 0.8% โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ทั้งการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น (2) ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2567 และ  การใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นจาก โครงการเติมเงิน 10,000 บาท

ขณะที่ปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง คือ ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการ ลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาก๊าซ LPG ฐานราคาผักและผลไม้สด ในปี 2567 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เอลนีโญและลานีญา ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อราคาไม่มากนัก การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ จะส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด และ สินค้าสำคัญมีแนวโน้มปรับขึ้นราคาอย่างจำกัด จากปัจจัยด้านต้นทุนสำคัญที่มีแนวโน้มปรับลดลง เช่น อัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมันในตลาดโลก

 

ส่วนกรณที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้ไม่น่าปรับตัวสูงขึ้นถึง 0.6-0.7% นั้น เป็นความเห็นที่สอดคล้องกันกับการประมาณการเดือนธ.ค.2567 ของกระทรวงพาณิชย์ที่ 1.2-1.3%  ส่วนแนวคิดขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ของรมว.คลังที่ออกมานั้น ต้องขอเวลาไปรวบรวมข้อมูลก่อน

สำหรับแนวคิดขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) เรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ต้องขอไปรวบรวมข้อมูลเพื่อความชัดเจนอีกสักระยะ ยังไม่ได้ดูเรื่องนี้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.