สุริยะ เปิดแผนคมนาคม สู่ฮับภูมิภาค ลั่นปิดตำนานพระราม 2 ถนน 7 ชั่วโคตรปีหน้า

          นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในงาน Sustainability Forum 2025 : Synergizing for Driving Business หัวข้อ Mobility Infrastructure for Sustainability’s Journey จัดโดยกรุงเทพธุรกิจว่า จากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ที่ต้องการเปลี่ยน “ความท้าทาย” ให้กลายเป็น “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม” ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม นั้น

          รัฐบาลจะเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Projects) ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ โดยจะส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยทางถนนและลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ ,การสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงควบคู่กับการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ

          การยกระดับท่าเรือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการการขนส่งสินค้าทางทะเล เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งของภูมิภาค (Logistics Hub) และการพัฒนาสนามบิน และเปิดเส้นทางการบินใหม่ ๆ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค

          อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งตนเองได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมใช้เป็นกรอบในการทำงาน เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2567 ภายใต้นโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” เพื่อสนองต่อนโยบายของรัฐบาล และสร้างโอกาสให้กับประชาชน ทั้งในด้านการเดินทางของคน และการขนส่งสินค้า

          นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเพิ่มประสิทธิภาพและเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งในประเทศในทุกมิติ ครอบคลุมทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ พร้อมทั้งเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันให้ “ประเทศไทย” ก้าวสู่การเป็น “ศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาคอย่างยั่งยืน” 

          สำหรับนโยบายที่ตนมอบให้กับข้าราชการกระทรวงคมนาคมประกอบด้วย 9 แนวทาง ดังนี้

1.    สานต่อโครงการคมนาคมตามแผนแม่บทของกระทรวง 

2.    ส่งเสริมโครงข่ายคมนาคมให้เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ 

3.    สร้างโอกาสในการลงทุน 

4.    ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งได้อย่างเท่าเทียม 

5.    เปิดโอกาสด้านโลจิสติกส์ไทย 

6.    สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Logistics) เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5

7.    เพิ่มความปลอดภัยภาคคมนาคมขนส่ง ทั้งในช่วงก่อสร้าง และช่วงการให้บริการ โดยมุ่งเน้นการกำกับดูแลให้ได้มาตรฐาน 

8.    ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ระเบียบ กฎหมาย และหลักธรรมาภิบาลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

9.    ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกมิติ เพื่อให้การดำเนินงานต่าง ๆ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯและรมว.คมนาคม

          นายสุริยะ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเร่งด่วน เร่งรัดการก่อสร้างโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการในปัจจุบัน ให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนดเวลา นอกจากนี้ มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการให้บริการ และมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่สามารถทำได้ทันที และใช้งบประมาณไม่สูง รวมถึงทำการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน สถานี และยานพาหนะ ให้มีความสะอาด สวยงาม และเป็นระเบียบเรียบร้อย

          2.ระยะกลาง ขับเคลื่อนการลงทุน และดำเนินการก่อสร้างโครงการที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ให้เริ่มก่อสร้าง และเปิดให้บริการตามแผน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ

          3.ระยะยาว ขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนแม่บท ซึ่งมีขั้นตอนในช่วงเตรียมการตามระเบียบหลายขั้นตอน ให้สามารถเริ่มก่อสร้างได้ เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศอย่างยั่งยืน

          สำหรับแนวทางการพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศนั้น กระทรวงคมนาคมมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากการขนส่งทางถนนเป็นการขนส่งทางรางและทางน้ำที่มีต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายต่ำกว่า 

          ความมุ่งหวังจากการดำเนินการตามเป้าหมายของกระทรวงคมนาคม คือประเทศไทยมีระบบคมนาคมขนส่งทั้งคนและสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ช่วยแก้ไขปัญหา และสร้างโอกาสของประเทศชาติ อาทิเช่น แก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด และแก้ไขปัญหามลพิษ ฝุ่น PM2.5 จากท่อไอเสียรถยนต์ในพื้นที่ใจกลางเมืองใหญ่ อย่างเช่นกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของประชาชน และยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

          ช่วยสร้างโอกาสในการค้าขาย ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน หากผู้ประกอบการเปลี่ยนมาขนส่งสินค้าทางรถไฟและทางน้ำ แทนที่จะขนส่งด้วยรถบรรทุก จะทำให้ต้นทุนในการขนส่งสินค้าของไทยลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าไทยสามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ได้ ทำให้ประเทศไทยขายของได้มากขึ้น กำลังการผลิตมากขึ้น การจ้างงานมากขึ้น ส่งผลทำให้เศรษฐกิจชองไทยดีขึ้น 

          นอกจากนี้การไม่ใช้รถบรรทุกจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรคับคั่ง และแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนทางหลวงได้อีกด้วย เพื่อให้เห็นภาพอนาคตของระบบคมนาคมไทย ผมขออธิบายเพิ่มเติมแยกเป็นการขนส่งในเมือง และการขนส่งระหว่างเมืองดังนี้

การขนส่งในเมือง 

          ปัญหาในอดีตและปัจจุบันสำหรับการขนส่งในเมือง โดยเฉพาะอย่างกรุงเทพมหานคร ได้แก่ การจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศ คุณภาพการให้บริการ และการใช้พลังงานในภาคคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพ เดินทางโดยใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้มีรถจำนวนมากอยู่บนท้องถนน เกิดปัญหาจราจรติดขัด และฝุ่นควันจากท่อไอเสีย

          แนวทางในการแก้ปัญหา กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบรถไฟฟ้าให้มีโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพ ให้เกิดการเชื่อมต่อกับสนามบิน สถานีขนส่ง และสถานที่สำคัญต่าง ๆ 

          นอกจากโครงข่ายรถไฟฟ้า กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการพัฒนาระบบ Feeder ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งทางเดินเท้า ทางจักรยาน รถโดยสารขนาดเล็ก รถแท็กซี่ และอื่น ๆ เพื่อนำคนออกจากบ้านมาสู่สถานีรถไฟฟ้า หรือจากสถานีรถไฟฟ้าไปยังจุดหมายปลายทาง อย่างเช่น ที่ทำงาน สถานที่ท่องเที่ยว และอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก และมีประสิทธิภาพ

          เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องหาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดฝุ่น PM2.5 โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้งานในระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงคมนาคมส่งเสริมให้ภาคเอกชนมาให้บริการรถเมล์ไฟฟ้า ในปัจจุบันมีรถเมล์ไฟฟ้าของเอกชนให้บริการอยู่ 2,350 คัน และจะเพิ่มเป็น 3,100 คันในปีหน้า

การส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้า

          สำหรับรถเมล์ที่ให้บริการโดยภาครัฐ ขสมก. มีแผนจะเปลี่ยนรถเมล์ที่ใช้น้ำมันดีเซล เป็นรถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 1,520 คันในปี 2568 ในส่วน บขส. ก็มีแผนจะเปลี่ยนรถโดยสารทางไกลจำนวน 381 คัน เป็นรถโดยสารทางไกลขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

การขนส่งระหว่างเมือง

          หากพูดถึงการขนส่งระหว่างเมืองโดยส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการขนส่งสินค้า สำหรับแนวคิดการพัฒนาการขนส่งสินค้าระหว่างเมืองก็คล้ายกัน กระทรวงคมนาคมต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเปลี่ยนมาทำการขนส่งทางรถไฟ และทางน้ำ ถ้าเป็นการขนส่งสินค้าในประเทศ เน้นการขนส่งทางรถไฟ เพื่อลดจำนวนรถบรรทุกบนทางหลวง และประหยัดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการขนส่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการหันมาขนส่งสินค้าทางราง กระทรวงคมนาคมกำลังเร่งการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้เป็นทางคู่ทั่วประเทศ เพื่อให้การขนส่งสินค้าทางรถไฟตรงเวลา 

          นอกจากนั้นกระทรวงคมนาคมกำลังเร่งพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าจากรถบรรทุกสู่รถไฟเพื่อให้การเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างรถไฟและรถบรรทุกมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้งาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั้งการขนส่งในเมือง และระหว่างเมือง 

          ตามเป้าหมายที่อธิบายมาทั้งหมด กระทรวงคมนาคมจึงได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบคมนาคมทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ ประกอบด้วย

          ด้านการคมนาคมทางราง การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กระทรวงคมนาคมมีแผนในการพัฒนารถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งหมด 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กิโลเมตร ปัจจุบันรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วมีระยะทางประมาณ 280 กิโลเมตร ซึ่งล่าสุดรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพูเพิ่งเปิดให้บริการไปเมื่อปี 2566 

การพัฒนารถไฟฟ้า

          รถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 โครงการ / อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ 3 โครงการ / และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมอีก 12 โครงการ

          นอกจากการพัฒนารถไฟฟ้าในเส้นทางต่าง ๆ แล้ว เพื่อให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง กระทรวงคมนาคมจะเร่งการใช้ระบบตั๋วร่วม และนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย โดยจะเริ่มในเดือนก.ย.2568 ซึ่งปัจจุบันนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ได้เริ่มใช้ในรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วง

          สำหรับการขนส่งระหว่างเมือง กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 เส้นทาง ซึ่งในปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 5 เส้นทาง และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ และช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ  ส่วนการพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง / ประกวดราคาแล้ว 1 เส้นทาง / และอีก 6 เส้นทางอยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการ

การพัฒนารถไฟทางคู่

          นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้ทำการพัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 เส้นทาง ได้แก่  โครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ และ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่ - มุกดาหาร – นครพนม ซึ่งนอกจากการพัฒนารถไฟทางคู่ กระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) เพื่อเชื่อมโยงภาคต่าง ๆ ในประเทศไทยปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 เส้นทาง ได้แก่  1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) และ2.    รถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา

          ทั้งนี้ อยู่ระหว่างนำเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี 1 โครงการ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงช่วงนครราชสีมา - หนองคาย พร้อมก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว เพิ่มอีก 1 สะพานที่จังหวัดหนองคายสำหรับเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงของไทยกับรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว – จีน และในอนาคต กระทรวงคมนาคมมีแผนจะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไปทางภาคเหนือจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ และรถไฟความเร็วสูงไปทางภาคใต้จากกรุงเทพไปปาดังเบซาร์

การพัฒนารถไฟความเร็วสูง

          ด้านการคมนาคมทางน้ำ สำหรับการขนส่งทางน้ำในพื้นที่กรุงเทพ กระทรวงคมนาคม มีแผนพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็น Smart Pier จำนวน 29 ท่า ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 11 ท่า และจะเร่งผลักดันให้เปิดบริการภายในปี 2568 จำนวน 5 ท่า  ได้แก่ ท่าปากเกร็ด / ท่าพระราม 7 / ท่าเกียกกาย / ท่าโอเรียนเต็ล/ และท่าเทเวศร์) และจะเปิดให้บริการครบ 29 ท่า ภายในปี 2570

การพัฒนาท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว

          นอกจากการพัฒนาท่าเรือในพื้นที่กรุงเทพแล้ว กระทรวงคมนาคมมีแผนมีการพัฒนาท่าเรือสำราญ (Cruise Terminal) เพื่อรองรับการท่องเที่ยว โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนจะก่อสร้างท่าเรือสำราญจำนวน 3 แห่ง ที่ชลบุรี เกาะสมุย และภูเก็ต โดยจะเริ่มก่อสร้างท่าเรือสำราญแห่งแรกที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี 2568

การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

          แผนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลที่เพิ่มขึ้น ในอนาคต ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมกำลังดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โดยเป็นการก่อสร้างเพื่อเพิ่มจำนวนท่าเทียบเรือ และติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบครัน รวมถึงทำการแก้ไขปัญหาจราจรภายในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง และภายนอกท่าเรือให้เกิดความสะดวก

          ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้ารวมกันที่ 11.10 ล้าน ที.อี.ยู. หากดำเนินการก่อสร้างตามแผนพัฒนาระยะที่ 3 แล้วเสร็จ ท่าเรือแหลมฉบังจะสามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้น 7 ล้าน ที.อี.ยู ต่อปี จะส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 18.10 ล้าน ที.อี.ยู. ต่อปี

โครงการก่อสร้างถนนพระราม 2

          ด้านการคมนาคมทางบก กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมและบริการขนส่งทางบกให้มีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้มีการเชื่อมต่อการขนส่งรูปแบบต่าง ๆ อย่างไร้รอยต่อ มีการนำเทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาและให้บริการ และปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัย     

เราจะเร่ง “ปิดตำนานถนน 7 ชั่วโคตร” บนถนนสายพระราม 2 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย. 2568 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอก ด้านตะวันตก 2.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ช่วงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย และ 3.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว 

          รวมทั้งเปิดให้บริการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน - นครราชสีมา (M6) ตลอดเส้นทาง ในช่วงปีใหม่ 2569 และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่ - กาญจนบุรี (M81) ตลอดเส้นทาง ภายในปี 2568

          ด้านคมนาคมทางอากาศ กระทรวงคมนาคมมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค (Aviation Hub)ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านการบินของภาคเอกชนในประเทศ และสนับสนุนการเชื่อมโยงการให้บริการด้านการบินกับการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น

แผนการพัฒนาด้านคมนาคมทางอากาศ

          สำหรับแผนการพัฒนาด้านคมนาคมทางอากาศ 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะเร่งด่วน มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวก สร้างรอยยิ้มประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้มาใช้บริการสนามบิน เช่น การนำระบบการออกบัตรโดยสารด้วยตัวเอง (CUPPS) หรือการนำระบบโหลดกระเป๋าด้วยตัวเอง (CUBD) มาใช้ รวมถึงการเชื่อมต่อการเดินทางจากสนามบินกับการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

          ระยะกลาง มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและรองรับเที่ยวบินของท่าอากาศยานหลักของประเทศ เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ตให้สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสาร และเที่ยวบินได้มากขึ้น

          ระยะยาว การก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานล้านนา และท่าอากาศยานอันดามัน รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งระบบ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต

สนามบินสุวรรณภูมิ

          จากการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้มีการศึกษาสนามบินต่าง ๆ ทั้งโลก และในผลการศึกษา มีการคาดการณ์ว่าสำหรับประเทศไทย ในปี พ.ศ.2574 ประเทศไทยจะมีคนที่เดินทางผ่านสนามบิน ประมาณ 200 ล้านคนต่อปี ส่งผลให้กระทรวงคมนาคมต้องรีบเร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาสนามบินหลัก และสนามบินรองให้รองรับปริมาณผู้โดยสารจำนวนดังกล่าว

          ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีอาคารผู้โดยสารหลัก 1 อาคาร (Main Terminal) และอาคารเทียบเครื่องบินรอง 1 อาคาร (SAT-1) มีทางวิ่ง 3 เส้นทาง ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาในระยะที่ 3 โดยจะทำการขยายอาคารผู้โดยสารหลักฝั่งทิศตะวันออก ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ฝั่งทิศใต้ของสนามบิน และก่อสร้างทางวิ่งที่ 4 ซึ่งตามแผนการดำเนินการทั้งหมดจะเสร็จปี 2575 ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารจากเดิม 65 ล้านคนต่อปี เป็น 150 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินจากเดิม 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 120 เที่ยวบิน ต่อชั่วโมง

สนามบินดอนเมือง

          ปัจจุบันสนามบินดอนเมืองมีอาคารผู้โดยสาร 2 อาคาร และทางวิ่ง 2 เส้นทาง ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาระยะที่ 3 เพื่อก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ พร้อมทำการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม ตามแผนจะแล้วเสร็จปี 2575 จะสามารถเพิ่มความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 40 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี

สนามบินอู่ตะเภา

          ปัจจุบันกำลังพัฒนาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และทางวิ่งเพิ่มอีก 1 เส้นทาง จะทำให้รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านคนต่อปี เป็น 12 ล้านคนต่อปี ในปี 2571

          นอกจากการพัฒนาอาคารผู้โดยสารแล้ว ที่สนามบินอู่ตะเภา จะทำการพัฒนาศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนความเป็นศูนย์กลางการบินของไทย

สนามบินภูเก็ต

          สนามบินสำคัญทางภาคใต้ เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนมากกว่า 10 ล้านคน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 3 แสนล้านบาทในปี 2566 ที่ผ่านมา 

          แม้สนามบินภูเก็ตจะมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถขยายสนามบินได้ แต่กระทรวงคมนาคมมีแผนจะขยายตัวอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ทำให้สามารถรองรับผู้โดยสาร โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว ได้เพิ่มขึ้นจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ตามแผนจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2572

สนามบินเชียงใหม่

          ปัจจุบันสนามบินเชียงใหม่มีอาคารผู้โดยสาร 1 อาคาร ให้บริการรวมทั้งผู้โดยสารระหว่างประเทศ และผู้โดยสารภายในประเทศ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวภาคเหนือเพิ่มขึ้น กระทรวงคมนาคม จึงมีแผนจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ เพิ่ม 1 อาคาร และปรับปรุงอาคารเดิม ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศอย่างเดียว ซึ่งจะแยกผู้โดยสารระหว่างประเทศ และภายในประเทศ ออกจากกัน จะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มจาก 8 ล้านคนต่อปี เป็น 20 ล้านคนต่อปี ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างปี 2569 และเปิดให้บริการปี 2576

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสนามบินในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคใต้ ยังมีข้อจำกัดในการขยายสนามบิน จึงจำเป็นต้องพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ รองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นมากในอนาคต และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ 

          สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือ จะมีการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ คือ สนามบินล้านนาซึ่งจะประกอบด้วย อาคารผู้โดยสารหลัก 1 อาคาร และทางวิ่ง 2 เส้นทาง สามารถรองรับผู้โดยสาร 24 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบิน 41 เที่ยวบินต่อชั่วโมง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2573

          ส่วนพื้นที่ภาคใต้ จะมีการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ คือ สนามบินอันดามัน ประกอบด้วย อาคารผู้โดยสารหลัก 1 อาคาร และทางวิ่ง 2 เส้นทาง สามารถรองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบิน 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2573

เมกะโปรเจ็คดัน GDP ประเทศ

          นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้วางแผนเพื่อสร้างรากฐานการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยมีแผนการพัฒนาโครงการ Landbridge เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การการขนส่งสินค้า ทางทะเลในภูมิภาคอาเซียน โครงการ Landbridge ประกอบไปด้วย ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ที่อำเภอแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร และที่อำเภออ่าวอ่าง จังหวัดระนอง โดยทำการเชื่อมท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ด้วยรถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ 

โครงการ Landbridge

          โครงการ Landbridge จะเป็นประตูการนำเข้า และส่งออกแห่งใหม่ ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย และเป็นเส้นทางขนส่งตู้สินค้าทางทะเลทางเลือกใหม่ของภูมิภาค นอกเหนือจากการที่ต้องไปขนถ่ายตู้สินค้าผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งจากการศึกษาพบว่าจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งได้ 15-20 % และช่วยประหยัดเวลาในการขนส่งได้ 3 - 5 วัน

โครงการ Land bridge จะช่วยเพิ่มการจ้างงานภายในประเทศได้มากกว่า2 แสนอัตรา และทำให้ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 %

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.