ภาคเกษตรอ่วม น้ำท่วมเสียหาย 1.28 ล้านไร่ กระทบจีดีพีปี67โตแค่ 2.7%

          จากการแถลงของนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คลังยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวที่ 2.7% โดยสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมามีผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างสำรวจขนาดความเสียหายเบื้องต้น คาดว่ามูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ภาคที่ได้รับผลกระทบจะเป็นการเกษตร และการท่องเที่ยว ซึ่งหากไม่มีปัจจัยน้ำท่วม คาดว่าปีนี้จีดีพีจะสูงเกิน 2.7% เพราะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ นั้น 

          ต้องยอมรับว่า สถานการณ์น้ำท่วม เกิดจากการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อนและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายภูมิภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะพายุจากแถบทะเลจีนใต้ที่มีอิทธิพลส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ต่ำและพื้นที่ที่เป็นทางน้ำไหล ซึ่งปัญหานี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือโลกร้อน (Climate Change) ที่ส่งผลให้ฤดูฝนยาวนานขึ้น และเกิดพายุในช่วงที่ไม่คาดคิดมากขึ้น 

          ส่งผลต่อภาคเกษตรกรรมที่ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญของประเทศไทย โดย 30% ของการจ้างงานภาคการเกษตรไม่อาจเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้อีกแล้ว รวมทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศด้วย ยิ่งส่งผลเสียต่อภาคการเกษตร การผลิตและความมั่นคงของรายได้เกษตรกรด้วย 

คาดความเสียหาย 1.28 ล้านไร่

          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประเมินผลกระทบน้ำท่วมภาคเกษตร ในช่วง ก.ค – ก.ย. 2567 พบว่า พื้นที่ที่เกิดความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมและดินถล่มของไทย คาดว่าจะมีสูงถึง 1.28 ล้านไร่  แบ่งเป็นข้าว 1 ล้านไร่และพืชสวน 6-7 แสนไร่และจำเป็นต้องเร่งใช้งบ 1.83 แสนล้านบาทในการบรรเทาความเสียหายและทำโครงการลงทุนเพื่อให้เม็ดเงินหมุนในเศรษฐกิจมากขึ้น 

          นอกจากนี้ ทางหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังประเมินด้วยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปี 2567 มีมูลค่าความเสียหายประมาณ ประมาณ 29,845 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 0.17% ของ จีดีพี ซึ่งภาพรวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 1,166,992 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ 1,826,812 ไร่  

          อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 2.45 หมื่นล้านบาท หรือ 82.3% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคบริการ 5.12 พันล้านบาท ตามมาด้วยภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ 171 ล้านบาท เช่นเดียวกับทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ยังระบุด้วยว่า จะมีอย่างน้อย 36 จังหวัดของไทยที่ได้รับผลกระทบนี้  

ถึงเวลาก้าวสู่  Agriculture Hub ใช้เทคโนโลยีลดความเสี่ยง

          อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพสูงในการพัฒนาไปสู่การเป็น Agriculture Hub แต่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อภัยพิบัติและเพิ่มผลผลิต ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เช่น การใช้เครื่องมืออัจฉริยะเพิ่มผลผลิต และการร่วมมือกับสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาแนวคิดใหม่

          นอกจากนี้ เกษตรกรจำเป็นต้องเข้าถึงแหล่งเงินทุน นโยบายสนับสนุน และการฝึกอบรมเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ 

          ดังนั้นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป ยังช่วยส่งเสริมการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดโลก

          อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในระดับโลกย่อมมีความท้าทายสูง องค์กรอย่างธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (EIB) ได้ให้เงินสนับสนุนจำนวนมากเพื่อส่งเสริมเกษตรที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องพัฒนากลยุทธ์เพื่อคงความเป็นผู้นำในภาคส่วนนี้ 

          เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Agriculture Hub รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศแผนสนับสนุนให้เกษตรกรไทยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิต พร้อมจัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตร ในหลายพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรสามารถเรียนรู้และนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้จริงในพื้นที่เพาะปลูกของตน นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ และนักวิจัย เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง 

          ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็น Agriculture Hub เนื่องจากมีพื้นที่เกษตรที่กว้างขวางและหลากหลาย นอกจากนี้ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การใช้เทคโนโลยี และการสนับสนุนจากรัฐบาลจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในภาคการเกษตรและทำให้ประเทศไทย สามารถแข่งขันในตลาดเกษตรโลกได้ 

อนาคตภาคเกษตรไทยไปทางไหน

          แผนปฏิบัติการด้านการเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566-2570 เป็นก้าวสำคัญในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงคุณภาพอาหารของไทย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเกษตรที่ยั่งยืนต้องอาศัยแนวทางที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อสร้างระบบการเกษตรที่รองรับต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคต 

          ทางด้านของประเทศไทยเองก็มีความคืบหน้าในเรื่องของความร่วมมือในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ใหม่หรือ New Breeding Technology – NBT โดยเฉพาะการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing) โดยร่วมกับทางกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ทั้งด้านการวิจัยและการกำกับดูแล เมื่อ 24-29 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา แกนหลักของความร่วมมือนี้ก็เพื่อช่วยให้ภาคการเกษตรได้นำเทคโนโลยีนี้นำไปใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันและรองรับวิกฤตความมั่นคงทางอาหารและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต 

          เนื่องจากเส้นทางสู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรระดับโลกอาจไม่ง่าย แต่ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในภาคเกษตรจะไม่เพียงส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ยังยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและชุมชน เพื่ออนาคตที่มั่นคงยั่งยืนต่อไป 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.